Virtual Bank : เมื่อธนาคารจะไร้สาขา | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ถึงวิวัฒนาการของธนาคารตามการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการให้บริการ ซึ่งเริ่มต้นจากยุคแรกที่การให้บริการของธนาคารยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีใด ๆ จนเข้าสู่ยุคที่ความต้องการในการใช้บริการธนาคารมีเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เริ่มจากการใช้ระบบ Mainframe เพื่อการรองรับการให้บริการ จนกระทั้งมีการให้บริการผ่านตู้ ATM โดยธนาคาร Barclays และมีการออกบัตรเครดิตโดยสถาบันการเงินในสหรัฐอมริกา (Bank of American และ American Express)
ต่อมา ในช่วงปี 1990 เริ่มมีการใช้ Internet Banking และ Mobile Banking ตามลำดับ จนในปี 1999 หลังจากการเริ่มมีการให้บริการ e-Commerce platform เช่น Alibaba หรือ Tencent
ผู้ประกอบการเริ่มเห็นภาพว่าการเก็บข้อมูลจากการขายสินค้า/บริการออนไลน์ทำให้แพลตฟอร์มสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้บริการจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่วิ่งอยู่บท platform ได้ อันเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการชำระเงินอย่าง Alipay และธุรกิจไฟแนนซ์ (Money Market Fund) อย่าง Yue Bao
ดังนั้น การเกิดขึ้นของให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนมากมาย
และไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานสาขาในแบบกายภาพ เนื่องจากเป็นการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่ออยู่ในโลกออนไลน์ อันส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมากเลือกที่จะทำธุรกิจทางการเงินที่มีลักษณะเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
จนเป็นที่มาของการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในแบบ Automated หรือที่เรียกว่า Virtual Bank ในต่างประเทศ (หรือในบางประเทศอาจเรียกว่า Digital Bank หรือ Internet Based Bank)
อะไรคือ Virtual Bank
ดังนั้น ตามที่ผู้เขียนได้เล่ามาในข้างต้น Virtual Bank ที่มีการประกอบกิจการในต่างประเทศจะมีลักษณะ การให้บริการและการดำเนินการทุกอย่างในรูปแบบออนไลน์ ไม่มีสำนักงานสาขา โดยให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เช่น ให้บริการผ่าน แอปพลิเคชัน เว็ปไซต์ หรืออีเมล เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น WeBank ธนาคารดิจิทัลในเครือ Tencent ก่อตั้งในปี 2557 โดยให้บริการธนาคารผ่านแอปพลิเคชัน (แทนการมีสำนักงานสาขา)
ดังนั้น เมื่อลูกค้าประสงค์จะเปิดบัญชี สามารถถ่ายภาพใบหน้าด้วยเทคโนโลยี Face recognition และธนาคารใช้ eKYC ในการพิสูจน์ยืนยันตัวตัวผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Artificial Intelligence (AI) ในการประมวลผล ผสมผสานกับฐานข้อมูลโอเพนซอร์ส เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ และให้บริการลูกค้าผ่าน Chatbot โดยหากลูกค้าประสงค์จะขอสินเชื่อ WeBank จะใช้การวิเคราะห์ฐานข้อมูลของบริษัทแม่ Tencent
ซึ่งมีข้อมูลผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มมากมาย เช่น WeChat และ QQ ซึ่งเป็นข้อมูลทางเลือก(Alternative data) ที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภค
และสามารถนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าได้ ด้วยหลักการเช่นว่า จึงเป็นที่มาของการสร้างผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น Weilidai หรือบริการสินเชื่อบุคคลแบบไม่มีหลักประกันที่ให้บริการผ่าน e-Wallet ของ WeChat และ QQ ซึ่งเป็นบริการทางการเงินออนไลน์ที่มีผู้ใช้จำนวนมากในจีน
รูปแบบของ Virtual Bank
จากการศึกษาตัวอย่าง Virtual Bank ในต่างประเทศ พบว่า โครงสร้างของ Virtual Bank ในหลายประเทศมักอยู่ในรูปแบบการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจแบบร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เติบโตมากจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน หรือ App-Based enable Service
(เช่น line, Ctrip, Tencent และ Ant Financial) กลุ่มธุรกิจธนาคารเดิม (Standard Chartered Bank และ CTBC Bank) กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม (เช่น Chunghwa Telecom) และกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี (เช่น Jingdong Digital Technology) เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ในไต้หวัน FSC ได้ให้ใบอนุญาต Virtual Bank กับกลุ่มธุรกิจ Line Financial Taiwan ซึ่งเป็นการร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง Line Group, Taipei Fubon Commercial Bank, CTBC bank, Standard Chartered, Union Bank of Taiwan และบริษัทโทรคมนาคม FarEastTone
เช่นเดียวกัน ในสิงคโปร์ MAS ได้ให้ใบอนุญาต Digital Bank กับกลุ่มธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง Grab Singtel (บริษัทด้านโทรคมนาคม) และ Sea และยังให้ใบอนุญาต Digital Bank แบบ Wholesale กับบริษัท Ant group ด้วย
และในฮ่องกง HKMA ได้ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank กับ Airstar Bank ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Xiaomi และ AMTD Group (บริษัทด้านการเงิน) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มลูกค้า High Net-Worth เป็นต้น
อนาคต Virtual Bank ในไทย
ธปท. อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ในไทย ซึ่งจะเปิดรับฟังถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ในเบื้องต้น ธปท. คาดว่าจะนำเสนอผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อ รมว. คลังไม่เกิน 3 ราย ในการนี้
- ผู้เขียนขอสรุปหลักเกณฑ์บางประการที่สำคัญของ Virtual Bank ตามที่ปรากฎในเอกสาร Consultation paper ของ ธปท. ดังนี้
1. ให้ Virtual Bank จัดตั้งในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย และต้องมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
ตามหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งและขอรับใบอนุญาตของ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน นอกจากนี้ Virtual Bank ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ
เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน เช่น ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) เพื่อให้ผู้ฝากเงินกับ Virtual Bank ได้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันกับการฝากเงินที่สถาบันการเงินประเภทอื่น
2. Virtual Bank ต้องสามารถให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสาขา หรือมีสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (ATM และ CDM) ของตัวเอง แต่สามารถให้บริการฝาก/ถอน ผ่านตัวแทนทางการเงิน (Banking Agent) หรือเครือข่ายของผู้ให้บริการอื่นได้ (ATM pool)
3. Virtual Bank ต้องมีคุณสมบัติตามที่ ธปท. กำหนด เช่น มี Business model ที่เหมาะสม มีธรรมาภิบาลที่ดี มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจทางการเงิน และมีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เป็นต้น
4. การดำเนินการภายใต้การกำกับของ ธปท. แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงแรก (Phasing) หรือ 3-5 ปีแรก ในช่วงนี้ ธปท. จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และมีการประเมินการดำเนินการของ Virtual Bank ซึ่งหากผ่านการประเมินดังกล่าว จะเข้าสู่ช่วงที่สอง คือ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ (Full functioning)
5. สามารถขอผ่อนผันการถือหุ้นใน Virtual Bank เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดได้ ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า การเกิดขึ้นของ Virtual Bank ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion)ในประเทศไทย ซึ่งตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีในการให้บริการทางการเงินอย่างแท้จริง
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง