ว่าด้วยข้อพิพาท FTX และความผิดที่ตามมา
ฉบับนี้ ผู้เขียนขออธิบายในมุมกฎหมาย ถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในกรณีล่มสลายจนล้มละลายของ FTX หรือ แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีขนาดใหญ่อันดับสองรองจาก Binance ที่มีมูลค่าบริษัทสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท ในประเด็นดังต่อไปนี้
ที่มาของ FTX
โดยย่อ FTX มีจุดเริ่มต้นมาจากการก่อตั้ง Alameda Research (จัดตั้ง Delaware สหรัฐฯ) ของ Sam Bankman-Fried (SBF) ในปี 2017 โดย Alameda Research เป็นบริษัทที่ทำการเทรดแบบวิเคราะห์ในเชิงปริมาณหรือข้อมูลตัวเลขเพื่อการลงทุน (Quanlitative trading) ซึ่งมีการทำกิจการที่หลายหลาย จนต่อมาในปี SBF ได้เริ่มก่อตั้ง FTX เพื่อทำเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ธุรกรรมบน FTX
SBF ได้ออกแบบให้มีผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลายและซับซ้อน ทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านอนุพันธ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ออปชัน (Options) ผลิตภัณฑ์ฟิวเจอร์ (futures) และ Leverage token ซึ่งคือการออกเหรียญโดยให้ราคาของเหรียญอ้างอิงกับราคาคริปโทในตลาด
คล้ายกับการทำสัญญาในอนาคตโดยมีข้อตกลงด้านราคาระหว่างกัน ซึ่งเป็นการลงทุนในลักษณะการคาดเดาราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตว่าจะขึ้นหรือลงเพื่อเก็งกำไรหรือเพื่อทำกำไรในส่วนต่าง
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างผลิตภัณฑ์แบบ Spot Margin ที่สามารถซื้อขายคริปโทแบบจับคู่ซื้อขายกับ USD USDT และ BTC (เช่น ETH/USDT หรือ BTC/USD)
ต่อมา FTX ได้มีการออกเหรียญที่ชื่อว่า FTT ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือ Utility Token ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ใน FTX ecosystem เช่น ใช้เพื่อลดค่าธรรมเนียม เป็นหลักประกัน และการทำ stake เหรียญ FTT หากมีการแนะนำผู้อื่นเข้ามาใช้งานบนแพลตฟอร์ม FTX เป็นต้น
นอกจากนี้ บน FTX ยังมีการออก Tokenized Stocked หรือการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการซื้อขายหุ้นที่จำลองในรูปแบบ Synthetic Asset เพื่อนำไปอ้างอิงกับสินทรัพย์ทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น การจำลองหุ้นของบริษัทที่มีชื่อเสียง (เช่น Tesla, Twitter และ Alibaba) ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลิตภัณฑ์แบบ Prediction
หรือการลงทุนโดยการทำนายผลของเหตุการณ์ในอนาคต (คล้ายกับผลิตภัณฑ์ฟิวเจอร์) เช่น FTX เคยเปิดให้มีการทำนายว่าจะมีการจัดโอลิมปิคในปี 2021 หรือไม่ และทายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ โดยการกำหนดราคาสัญญาสำหรับเหตุการณ์ล่วงหน้าดังกล่าวผ่านการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล
ที่ผู้เขียนเล่ามาในข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์บน FTX ซึ่งสังเกตได้ว่า เกือบทุกผลิตภัณฑ์เป็นการจำลองรูปแบบการเงินในแบบเดิม หรืออ้างอิงกับราคาและข้อมูลทางการเงินของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาดให้เข้ามาอยู่ในโลกของดิจิทัลแพลตฟอร์ม
โดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบ Prediction หรือการทำนายเหตุการณ์ในอนาคต มีลักษณะคล้าย “พนันออนไลน์” ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
การจัดตั้งโครงทางธุรกิจที่ซับซ้อน
ข้อมูลจาก Financial times ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างทางธุรกิจที่ซับซ้อนที่ SBF ได้สร้างขึ้นกว่า 100 องค์กรธุรกิจ และได้มีการสร้างบริษัทย่อยหรือบริษัทในเครือกระจัดกระจายอยู่ในหลายภูมิภาคทั่งโลก ซึ่งมีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนใน แอนทีกา บาร์บิวดา และสหรัฐฯ โดยสำนักงานใหญ่ของ FTX ตั้งอยู่ในประเทศบาฮามาส
ในทางปฏิบัติ การทำธุรกิจของ FTX ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในหลายประเทศ เช่น ในออสเตรเลียมีตั้งบริษัท FTX Express Pty Ltd เพื่อให้บริการทางการเงิน และให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือในยุโรปได้มีการให้บริการผ่านบริษัท K-DNA ซึ่งมีการจัดตั้งในไซปรัสเพื่อให้บริหารเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับลูกค้าในยุโรป
นอกจากนี้ในบาฮามาส ยังมีการจัดตั้งบริษัท FTX Digital Markets Ltd ที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กฎหมาย Digital Asset and Registered Exchange Act ของบาฮามาส
และสำหรับลูกค้าในสหรัฐฯ สามารถลงทุนได้ผ่านแพลตฟอร์ม FTX US ซึ่งได้มีการใช้ผู้บริหารงานในชุดเดียวกันกับ Bahamas-Based FTX
เมื่อประสบปัญหาล้มละลาย
จากจุดเริ่มต้นที่ SBF ได้ก่อตั้ง Alameda Research ในปี 2017 ซึ่งบริษัทดังกล่าวถูกจัดวางให้มีโครงสร้างทางสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับ FTX โดย FTX ได้ใช้เหรียญ FTT ที่ตนเองสร้างขึ้น (แบบไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง) ค้ำประกันเงินกู้เพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ จนพบวิกฤติสภาพคล่องตามมา และเป็นที่มาของการยื่นฟ้องล้มละลายในที่สุด
ถูกยื่นฟ้อง Class Action จากลูกค้าสหรัฐฯ
ในสหรัฐ FTX ได้ถูกฟ้องเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) จากลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย โดยลูกค้าในสหรัฐฯ อ้างว่าการเสนอขายเหรียญไม่ว่าจะเป็น FTT และโทเคนดิจิทัลประเภทอื่น ๆ เป็นการเสนอขายเหรียญหรือหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. สหรัฐ (Unregistered Securities)
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวของ FTX และพวก ยังมีลักษณะของการสมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโก้ง (Conspiracy) โดยในฐานนี้ได้กล่าวโทษไปถึงดารา นักแสดง ผู้มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งที่เคยมีส่วนร่วมในการโปรโมทการให้บริการของ FTX
ทั้งนี้ การยื่นฟ้องคดีดังกล่าวยังมีความท้าทายในหลายประเด็น เนื่องจากอาจยังมีข้อต่อสู้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับการออกเหรียญ XRP ของ Ripple ว่า เหรียญบางประเภทไม่ได้มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้น โดยอาจออกมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
เช่น เพื่อการชำระราคาหรือทำธุรกรรมอื่น ๆ บนแพลตฟอร์ม โดยไม่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐ นอกจากนี้ บางธุรกรรมหรือบางผลิตภัณฑ์ของ FTX ได้มีการดำเนินการภายใต้บริษัทในกลุ่มที่ตั้งอยู่นอกสหรัฐ
โดย FTX US เป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมต่อการทำธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดปัญหาสภาพบังคับของกฎหมายสหรัฐที่จะเอื้อมมือไปถึงกิจกรรมที่อยู่นอกสหรัฐหรือไม่
FTX กับการละเมิดข้อสัญญาการให้บริการ
อย่างไรก็ดี ในเรื่องการละเมิดข้อสัญญาการให้บริการและนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้โดยมิชอบนั้น เป็นการกระทำความผิดที่ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากใน Term of Service ของ FTX ได้มีการระบุชัดเจนว่า “ทรัพย์สินของ FTX trading จะไม่สามารถนำมาให้กู้ยืมได้” และ “ FTX Trading จะไม่นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ามาใช้เพื่อประโยชน์อื่นใด”
ดังนั้น ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว FTX จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดยไม่นำไปใช้เพื่อใช้ประโยชน์ของ FTX เอง
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดยังไม่จบ และอาจมีข้อเท็จจริงอื่น ๆ ตามมา ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นอีกบทเรียนที่สำคัญของวงการสินทรัพย์ดิจิทัล
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง