Inflation Reduction Act : สหรัฐ ปฏิวัติภาษี หนีโลกร้อน | สุมาพร มานะสันต์
เมื่อ 12 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ได้ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act หรือกฎหมายที่หากแปลตามชื่อ คือ “ร่างกฎหมายเพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อ”
อย่างไรก็ดี หากพิเคราะห์ในเนื้อหาของร่างแล้วอาจกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้าน สร้างอำนาจต่อรองในการปรับลดราคายา
อีกทั้งได้มีการเสนอการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคำนวณภาษีในบางรายการเพื่อเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ
ที่มาและหลักการ
ร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act เป็นกฎหมายที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายในการใช้นโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
เมื่อมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก การคำนวนภาษีในบางรายการของนิติบุคคลก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายของกฎหมายไม่ได้เป็นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะยาวด้วย
ปัจจุบันร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภา จะถูกส่งไปยังประธานาธิบดีเพื่อลงนามเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับต่อไป
เป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การที่สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และนับจากการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ประธานาธิบดีไบเดนก็กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสทันทีเมื่อได้รับตำแหน่งในต้นปี 2564
ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงใช้นโยบายการคลัง ทั้งในด้านการใช้มาตรการเงินอุดหนุน (Subsidies) และการใช้มาตรการทางจูงใจทางภาษีผ่านมาตรการเครดิตภาษีหลากหลายรูปแบบ (Tax Credits) โดยอาจสรุปได้ ดังนี้
สิทธิประโยชน์สำหรับครัวเรือน
เมื่อมีการใช้จ่ายตามรายการที่รัฐกำหนด ครัวเรือนอาจได้เครดิตคืนราว 28,500 ดอลลาร์สหรัฐ เช่น ซื้อรถไฟฟ้าจะได้เครดิตเงินคืน $7,500 (หรือหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามือสองก็ยังได้คืน $4000) หรือหากมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 30 ของราคาแผงโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ หากมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน จะได้รับเครดิตเงินคืน $14,000 โดยหากมีการปรับปรุงที่พักอาศัยทั้งหลังก็สามารถได้รับเงินคืนกว่าร้อยละ 50 ของเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่มีรายได้ต่ำอาจได้รับเงินคืนกว่าร้อยละ 80
สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรม
เดิมที มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบมาตรการบังคับและควบคุม (command and control) ประกอบกับการใช้กลไกการลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ ครั้งนี้ สหรัฐฯ จึงเปลี่ยนรูปแบบผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีแทน โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเน้นใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่สะอาด หรือ “Clean Energy Technologies” แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแบบเดิม
อย่างไรก็ดี การจะได้สิทธิประโยชน์ ผู้ผลิตก็ยังคงต้องผลิตตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น การจะสามารถเข้าร่วมโปรแกรม EV Tax Credit (เครดิตภาษีจากรถไฟฟ้า) ได้ รถคันดังกล่าวต้องใช้การประกอบจากอุปกรณ์และแร่ธาตุ (เช่น ผงลิเทียม และโคบอลต์) ตามแหล่งที่กำหนด
กล่าวคือ ต้องเป็นแร่ธาตุหรือโลหะที่มีแหล่งที่มาจากในสหรัฐฯ หรือประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างน้อยร้อยละ 40 นอกจากนี้ แบตเตอรี่รถยนต์ ขั่วแบตเตอรี่ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานเคมีไฟฟ้าต่าง ๆ ต้องถูกประกอบในภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือประเทศที่เป็นภาคีในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ เท่านั้น ถึงจะสามารถยื่นเพื่อขอคืนภาษีได้เต็มตามที่รัฐกำหนด
สำหรับผู้เขียน เห็นว่า การตรากฎหมายครั้งนี้ เป็นการแสดงท่าทีในการลดพลังงานครั้งสำคัญของสหรัฐฯ นับจากมีการตรากฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สนับสนุนการลงทุน และส่งเสริมพลังงานสะอาด
ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา (American Reinvestment and Recovery Act 2009)
และที่สำคัญยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนการลงทุนด้วยเทคโนโลยีสะอาดให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาจากจีนอย่างมีนัยสำคัญ
ภาษี : เก็บเพิ่มและข้อจำกัดสำหรับธุรกิจ
นอกจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่าง Inflation Reduction Act ได้ส่งผลต่อการคำนวณภาษีสำหรับธุรกิจ ซึ่งหากพิจารณาเนื้อหาของร่างแล้ว ในส่วนนี้จะไม่ได้ช่วยบรรเทาภาษีเท่าไรนัก เพราะเมื่อรัฐได้อุดหนุนกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมไปมากแล้ว ในอีกด้านยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มยอดการจัดเก็บด้วย เช่น
1.Pass-Through Entities (ธุรกิจที่ภาระภาษีส่งผ่านมาที่ผู้ถือหุ้น/เจ้าของกิจการ เช่น ห้างหุ้นส่วน) ได้มีการกำหนดข้อจำกัดของเจ้าของกิจการในการนำขาดทุนของธุรกิจมาหักลดยอดภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรการ Limitation on Pass-through นั้น
ตามกำหนดการเดิมจะต้องถูกยกเลิกให้เจ้าของกิจการสามารถนำขาดทุนมาหักลดยอดภาษีได้ในปี 2570 แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงให้ดำเนินมาตราการดังกล่าวต่อไปอีกสองปี
2.สหรัฐฯ ได้สร้างหลักการ Book Minimum tax หรือ BMT เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่มีกำไรตามที่ปรากฏในบัญชีเกินหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตราร้อยละ 15
ทั้งนี้ การจัดเก็บดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อบริษัทมีการคำนวณยอด BMT แล้วเกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายขั้นต่ำตามกฎหมายป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการเลี่ยงภาษี (Base Erosion and Anti-Abuse Tax : BEAT) ที่คิดในอัตราร้อยละ 10
โดยจะคิดจากบริษัทสหรัฐที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีการจัดโครงสร้างเพื่อชำระภาษีในประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ BMT จะเริ่มจัดเก็บในปีภาษีหน้า (หลังจากธันวาคม 2565 เป็นต้นไป)
ประโยชน์ของร่างกฎหมาย?
สหรัฐคาดการณ์ว่า ผลจากกฎหมายจะเกิดขึ้นชัดเจนในปี 2573 เช่น ครัวเรือนสหรัฐฯ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ถึง $1,800 ซึ่งจะช่วยให้แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงกว่า $1,025
ในขณะเดียวกันร่างกฎหมายดังกล่าวจะก่อให้เกิดการลงทุนในพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างงานและอาชีพในแบบใหม่ ๆ ทั้งในด้านการผลิต การบริการ การศึกษา ที่จะเกิดขึ้นมากกว่า 1.5 ล้านอาชีพ
และที่สำคัญจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลงกว่าร้อยละ 40 ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของสิ่งมีชีวิตที่เสียชีวิตจากเหตุของสภาวะแวดล้อมเป็นพิษกว่า 3,900 ชนิดทั่วโลก
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า นี่คือตัวอย่างของกฎหมายและแนวนโยบายที่ทุกประเทศต้องเริ่มอย่างจริงจัง.
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง