การสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล แบบเข้มข้นมากขึ้น

การสกัดกั้นบัญชีม้าที่เปิดใหม่ การตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติของลูกค้า การตรวจสอบและดำเนินการกับบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นบัญชีม้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้าจากภาคธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ช่วยเพิ่มความชัดเจนของกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมาประชาชนและผู้ลงทุนจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งภัยกลโกงเหล่านี้จะมาในหลากหลายรูปแบบ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อมิจฉาชีพได้เงินจากเหยื่อก็มักจะใช้ช่องทางบัญชีม้าเป็นทางผ่าน ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ปัญหามาโดยตลอดครับ
เมื่อตอนที่แล้วผมเล่าถึงการยกระดับการสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ ก.ล.ต. ดำเนินการร่วมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำมาตรการและออก “มาตรฐานการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ Industry Standard ซึ่งมีความเข้มข้นเทียงเคียงได้กับการจัดการบัญชีม้าของภาคการธนาคาร โดยขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกราย ได้นำ Industry Standard ไปบังคับใช้แล้ว และ ก.ล.ต. จะติดตามผลอย่างต่อเนื่องครับ
สัปดาห์นี้ผมจึงถือโอกาสมาเล่าต่อเนื่องถึงการสกัดกั้น “บัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่จะเข้มข้นมากขึ้นอีก จากการปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และ พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมานะครับ โดยการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นมิจฉาชีพที่ใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางการทุจริต ทั้งการใช้ช่องทางผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศ เช่น แพลตฟอร์ม Peer-to-peer (P2P)
สำหรับมาตรการจัดการ “ม้า” ที่ใช้ช่องทางผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ไทย จะมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น “ฟันเฟืองสำคัญ” มีหน้าที่ปฏิบัติตาม Industry Standard ในปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมถึงการสกัดกั้นบัญชีม้าที่เปิดใหม่ การตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติของลูกค้า การตรวจสอบและดำเนินการกับบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นบัญชีม้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้าจากภาคธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ช่วยเพิ่มความชัดเจนของกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มี “หน้าที่และการดำเนินการ” ที่สำคัญ 4 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้ครับ
1. แชร์ข้อมูลบัญชี ธุรกรรม และ wallet address ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน และแชร์กับธนาคารพาณิชย์ผ่านระบบ Central Fraud Registry (CFR) ซึ่งทำให้ การแชร์ข้อมูลกันได้โดยตรงและรวดเร็ว
2. ปฏิเสธการให้บริการกับบุคคล และ wallet ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งการปฏิเสธการเปิดบัญชีและไม่ทำธุรกรรมกับ blacklisted wallet เพื่อป้องกันบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดใหม่
3. ระงับธุรกรรม เมื่อพบธุรกรรมหรือบัญชีต้องสงสัยหรือได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย และแชร์ข้อมูลในระบบ CFR ซึ่งทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถระงับธุรกรรมและบัญชีม้าได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถนำเงินไปคืนแก่ผู้เสียหายได้มากขึ้น
4. รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ ปปง. ดำเนินการคืนเงินที่ระงับธุรกรรมไว้ให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งช่วยให้ผู้เสียหายได้รับเงินคืนรวดเร็ว
การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ ยังเป็นการยกระดับความเข้มข้นในการสกัดกั้นมิจฉาชีพที่ใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศเป็นช่องทางฟอกเงิน ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยครับ เนื่องจากกฎหมายได้เพิ่มความชัดเจนในการพิจารณาแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่มีพฤติกรรมการชักชวนหรือโฆษณาการให้บริการ (solicit) กับผู้ลงทุนในประเทศไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การมีทางเลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาทแก่ผู้ลงทุน การรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากในประเทศไทย หรือการใช้ภาษาไทยบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เป็นต้น รวมทั้งลดขั้นตอนการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่เข้าข่าย solicit โดยที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สามารถดำเนินการได้เอง จากเดิมที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล
สำหรับผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสบายใจได้ครับ สามารถเปิดบัญชีและลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านช่องทางผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามปกติ เพราะการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ไม่มีผลกระทบในทางลบต่อผู้ลงทุนที่ใช้บริการโดยปกติและสุจริตครับ อีกทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล ยังเป็นการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการฟอกเงินและลดผลกระทบของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงอีกด้วยครับ
อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรระมัดระวังไม่เปิดบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลให้บุคคลอื่น ไม่ให้บุคคลอื่นยืมใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลของตน รวมทั้งหมั่นตรวจสอบบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลของท่านเป็นประจำ ซึ่งหากพบความผิดปกติต้องรีบแจ้งผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้บริการทันทีนะครับ เพราะถ้าถูกพิจารณาว่าเป็น “เจ้าของบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะมีโทษด้วยนะครับ โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาถึงตรงนี้ต้องขอย้ำกันอีกครั้งนะครับว่า ผู้ลงทุนควรระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง (scam) รวมถึงความเสี่ยงในการเป็นเส้นทางผ่านเงินของผู้กระทำความผิดที่ต้องการฟอกเงิน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th หรือแอปพลิเคชัน “SEC Check First” และตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ investor alert บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ครับ
ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ