มองเพื่อนบ้าน กับการออมเพื่อการเกษียณ

มองเพื่อนบ้าน กับการออมเพื่อการเกษียณ

ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีนโยบายภาครัฐด้านการออมเพื่อการเกษียณที่มีความครอบคลุมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund – CPF) ที่เป็นระบบประกันสังคมที่บริหารจัดการโดย Central Provident Fund Board ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์

เพื่อให้ผู้มีสัญชาติสิงคโปร์และผู้มีถิ่นพำนักถาวร มีความมั่นคงในการดำรงชีพภายหลังเกษียณ โดยจะมีลักษณะของการหักเงินสะสมและเงินสมทบคล้ายกับระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย พูดง่าย ๆก็คือ ระบบของสิงคโปร์นั้น ไม่ได้ใช้หลัก “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” แต่เป็น “ใครออม คนนั้นได้ไป”

โดยในบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบุคคลนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 บัญชี 1) สำหรับที่พักอาศัย การลงทุน และการศึกษา  1) สำหรับการเกษียณอายุ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุ 3) เพื่อการรักษาพยาบาล และเพื่อประกันสุขภาพ และเมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปี สองบัญชีแรกจะยุบรวมเป็นบัญชีเดียว คือ “บัญชีเพื่อการเกษียณอายุ”

สิงคโปร์ถือว่าเป็นประเทศที่กำหนดให้อัตราเงินสมทบ และสะสมเข้ากองทุนอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยกรณีอายุต่ำกว่า 55 ปี อัตราเงินที่นายจ้างต้องสมทบเข้ากองทุนให้กับลูกจ้างแต่ละคน คือ 17% และลูกจ้างจะถูกหักเงินออกจากเงินเดือนเพื่อสะสมสูงถึง 20% ของเงินได้ รวมสองส่วน ลูกจ้างจะมีเงินออมเข้าบัญชีต่อปี สูงถึง 37% ของเงินได้ต่อปี

       นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกันขั้นต่ำอัตราสำหรับเงินออมเหล่านี้ที่อัตราดอกเบี้ยประมาณ 2.5-5.0% ตามประเภทบัญชี

 

     และเมื่ออายุครบ 65 ปี สมาชิกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด (คือ มีเงินออมในบัญชีที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าที่กำหนด) จะถูกจัดเข้าโครงการ The CPF Lifelong Income for the Elderly (CPF LIFE) โดยจะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิตตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยจำนวนเงินรายเดือนจะขึ้นอยู่กับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุของแต่ละบุคคล

ดู ๆ แล้วคนสิงคโปร์น่าจะต้องเกษียณสุขกันถ้วนทั่วทุกตัวคน แต่เหตุไฉนยังคงมีความกังวลในคนสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยว่าเงินออมที่ตนมีนั้นจะไม่พอกับการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ เพราะอะไร เรามาดูกัน

  1. อัตราเงินที่ถูกจัดสรรเข้าบัญชีการเกษียณอายุ (ก่อนอายุ 55 ปี) มีอัตราเพียง 6 – 11.5% ต่อปี ของเงินได้เท่านั้น (เทียบกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทย ที่มีอัตรารวมนายจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 4 – 30% ตามนโยบายของแต่ละบริษัท และความสมัครใจของลูกจ้างในสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่าที่นายจ้างสมทบ) โดยส่วนที่เหลือสมาชิกสามารถไปใช้ซื้อที่พักอาศัย การลงทุน การศึกษา และการประกันสุขภาพได้ (ซึ่งเมืองไทยเราก็ใช้วิธีออมผ่อนบ้านกันเองเมื่อพร้อม และใช้สิทธิสิทธิประกันสังคมในการรักษาพยาบาล)
  2. อัตราผลตอบแทนที่รัฐประกันขั้นต่ำให้นั้น ในระยะยาวมีโอกาสที่จะไม่เพียงพอที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้
  3. ค่าครองชีพของสิงคโปร์สูงเป็นลำดับที่ 8 ของโลก เทียบกับไทยที่ 77 จาก 137 ประเทศ (Numbeo 2022 Mid-Year)

       ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลก็ตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถแบ่งเงินออมในบัญชีแรกมาเลือกลงทุนในหุ้นได้ไม่เกิน 35% และทองไม่เกิน 10% ของเงินออมในส่วนที่เกินกว่า 20,000 สิงคโปร์ดอลลาร์ เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็ถือได้ว่ายังคงอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ และสมาชิกอาจต้องออมเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ต้องออมภาคบังคับไปในสัดส่วนที่สูงมากอยู่แล้ว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้ในประเทศที่มีนโยบายด้านการออมเพื่อการเกษียณที่ได้ชื่อว่าดีเลิศประเทศหนึ่งของโลก แต่สมาชิกในระบบก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพหลังเกษียณอยู่ดี

หากไม่ออมให้เร็วพอ มากพอ และพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงพอนั่นเอง