เกิดอะไรขึ้นกับภาคธนาคารของสหรัฐฯ ?
อะไรคือสาเหตุที่ SVB ประสบปัญหา? โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา SVB ต้องเผชิญปัญหาการถูกถอนเงินฝากจำนวนสูงมาก โดยเม็ดเงินฝากที่ถูกถอนคิดเป็นประมาณ 25% ของฐานเงินฝากทั้งหมด
Key Points :
- ปัจจัยหลักของปัญหา SVB มาจากโครงสร้างฐานลูกค้าที่กระจุกตัว และการบริหารสินทรัพย์-หนี้สินที่ผิดพลาด
- สหรัฐ ได้ประกาศให้ SVB ปิดกิจการ นับเป็นธนาคารที่มีฐานเงินฝากใหญ่อันดับสอง รองจาก Washington Mutual ที่ถูกสั่งปิดช่วงวิกฤตปี 2008
- บริษัทที่มีเงินฝากกับ SVB มากกว่าที่ FDIC คุ้มครอง หากทางการไม่รีบจัดการอาจประสบปัญหาสภาพคล่องได้
- ยังเชื่อว่าโอกาสลุกลามเป็นวิกฤตทั้งระบบมีน้อย เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตเร็วแต่กระจุกตัว และไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่แต่ราคาลดลงในภาวะดอกเบี้ยขึ้น
- ต้องจับตาดู Fed จะจัดการอย่างไร เพราะนอกจากเรื่องเงินเฟ้อและการจ้างงานแล้ว เสถียรภาพระบบการเงินก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
หลังจากธนาคาร Silvergate ซึ่งเป็นธนาคารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Crypto ได้ประกาศปิดตัวไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดวันศุกร์ที่ 10 Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารในแคลิฟอร์เนีย ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทเกี่ยวข้องกับ Venture Capital และ Startup ด้านเทคโนโลยี (Tech) และ บริการด้านสุขภาพ (Healthcare) โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา SVB ต้องเผชิญปัญหาการถูกถอนเงินฝากจำนวนสูงมาก โดยเม็ดเงินฝากที่ถูกถอนคิดเป็นประมาณ 25% ของฐานเงินฝากทั้งหมด โดยธนาคารเองพยายามที่จะเพิ่มทุนแต่ไม่ประสบความสำเร็จและล่าสุดถูกทางการสั่งปิดกิจการไปแล้ว
📉อะไรคือสาเหตุที่ SVB ประสบปัญหา?
ปัจจัยหลักมาจาก โครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว (client base concentration) การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด (asset/liability mismatching)
ฐานลูกค้าของ SVB กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Venture Capital และ Startup ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ มีการระดมทุนได้ง่าย ขยายกิจการได้สะดวก จึงมีการนำเงินไปฝากในธนาคารค่อนข้างมาก (ในช่วงปี 2020-21 SBV มีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง USD130bn) แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาที่ดอกเบี้ยขยับสูงขึ้น ทำให้การระดมทุนทำได้ยากขึ้น รวมถึงรายได้ที่ชะลอลง จึงทำให้บริษัทที่เคยนำเงินมาฝากต้องมีการถอนเงินฝากออกมาต่อเนื่อง
การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินของ SVB มีปัญหา mismatching ในส่วนของหนี้สิน หรือเงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น และเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ เมื่อเจอกับดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนของธนาคาร SVB ขยับขึ้นค่อนข้างเร็ว
แต่สำหรับฝั่งสินทรัพย์ ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ SVB ได้นำเงินฝาก ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่แทบไม่มี credit risk แต่ยังมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk) เพราะถ้าเจอดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาพันธบัตรเหล่านี้ลดลง ถ้าไม่ขายก็จะเป็นแค่ขาดทุนทางบัญชี แต่เมื่อขายออกมาก็จะต้องรับรู้ผลขาดทุนและกระทบต่อฐานทุนของธนาคาร
ในส่วนของ SVB มีใช้เงินฝากกว่า USD 91 bn (เกือบครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ USD 209bn) ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เมื่อเจอภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเหล่านี้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง ทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผลขาดทุนที่ตองรับรู้ค่อนข้างมาก และกระทบฐานทุน ยิ่งมีการแห่ถอนเงินฝาก SVB ก็ต้องขายพันธบัตรเหล่านี้ออกมา ทำให้ธนาคารเองมีการขาดทุนในส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ อัตราส่วนทุนของธนาคารไม่เพียงพอตามเกณฑ์ขอทางการสหรัฐฯ
📌ทางการสหรัฐฯ ได้เข้าไปจัดการกับ SVB อย่างไร?
ในคืนวันศุกร์ที่10 ทางการสหรัฐ ได้ประกาศให้ SVB ปิดกิจการซึ่งนับเป็นธนาคารที่มีฐานเงินฝากใหญ่อันดับสอง รองจาก Washington Mutual ที่ถูกสั่งปิดกิจการช่วงวิกฤตปี 2008 โดยเงินฝากทั้งหมดของธนาคารในจำนวนเงินไม่เกิน USD 250,000 ต่อผู้ฝาก 1 ราย (ไม่ว่าจะฝากในนามบุคคลหรือบริษัทก็ตาม) ถูกคุ้มครองโดย Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC สถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ)
แต่ปัญหาอยู่ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของ SVB เป็นลูกค้าบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้กว่า 90% ของเงินฝากไม่ได้ถูกคุ้มครองโดย FDIC โดยเงินฝากที่ถูกคุ้มครองโดย FDIC น่าจะได้คืนภายใน 1 สัปดาห์ แต่ส่วนที่เหลือต้องขึ้นอยู่กับการจัดการเกี่ยวกับสินทรัพย์ของทางธนาคาร SVB ซึ่งหากการจัดการสินทรัพย์เหล่านี้ล่าช้าจะส่งผลกระทบกับสภาพคล่องของลูกค้าเจ้าของเงินฝากตามไปด้วย
✍️ผลกระทบจากประเด็นนี้เป็นอย่างไร?
ผลกระทบด้านธุรกิจ: บริษัทที่มีเงินฝากกับ SVB มากกว่าที่ FDIC คุ้มครอง หากทางการไม่รีบจัดการอาจประสบปัญหาสภาพคล่องได้ โดยจากที่บริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Venture Capital และ Startup อาจทำให้เกิดความกังวลในตลาดการเงินในหุ้น/หุ้นกู้/หลักทรัพย์อื่นๆ ที่ออกโดยบริษัทเหล่านี้ได้
ผลกระทบต่อตลาดการเงิน: ความกังวลต่อธนาคารอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเงินฝากแบบประจุกตัวคล้ายกับ SVB และ/หรือมีการลงทุนในพันธบัตรและมี unrealized loss อยู่ในระดับสูง
โดยธนาคารที่มีความเสี่ยงสูงคือธนาคารที่มีลักษณะดังนี้
-ฐานเงินฝากโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการกระจุกตัวของฐานลูกค้าเงินฝากในกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งสูง
-อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งที่เป็นของเจ้าของ (Common equity tier 1 ratio) หลังหัก Unrealized losses ไปแล้วในระดับต่ำ
การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่มีการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในพันธบัตรที่ถูกกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นอีกประเด็นที่ตลาดกังวลมากขึ้น โดยในวันเดียวกับที่ถูกสั่งปิดกิจการ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้ออกมาปรับลด ratings ของ SVB Financial Group (บริษัทแม่ของ SVB) ลงเป็น Caa2: extremely speculative (จาก A1) และ SVB ลงเป็น C: In default (จาก Baa1)
😲โอกาสที่ประเด็นนี้จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินการธนาคารคล้ายที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯปี 2008 มีมากน้อยแค่ไหน?
จากการประเมินข้อมูลล่าสุด เชื่อว่าโอกาสที่จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตทั้งระบบยังมีค่อนข้างน้อย
ในรอบนี้ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตรวดเร็วแต่ฐานกระจุกตัว และมีการนำเงินฝากนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่แต่ราคาลดลงเมื่อในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น (แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัว อย่างน้อยรายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น) พอเจอการแห่ถอนเงิน และรับรู้การขาดทุนจากการลงทุนทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ฐานทุนไม่เพียงพอ และท้ายที่สุดคือการล้มละลาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นเฉพาะตัวไม่ใช่ทุกธนาคารมีโครงสร้างเงินฝากและรายได้แบบนี้
ในขณะที่วิกฤตภาคธนาคารสหรัฐฯ ในปี 2008 มาจากการปล่อยสินเชื่อในภาพอสังหาริมทรัพย์ที่หละหลวมขนาดใหญ่จนกลายเป็นปัญหาหนี้เสียรุนแรงของหลายธนาคารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครื่องมือการลงทุนที่ซับซ้อน (เช่น Collateralized Debt Obligation: CDO) ที่เกี่ยวเนื่องกับการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสถาบันการเงินหลายแห่งมีการถือเครื่องมือการลงทุนเหล่านี้อยู่ใน ซึ่งทำให้เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหา ขนาดของปัญหาจึงมีการทวีความรุนแรงลุกลามมาที่ภาคการเงินการธนาคารตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะปัจจุบันที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้นจะยังค้างอยู่ในระดับสูงแบบนี้ รวมถึงข่าวการแห่ถอนเงินที่เกิดขึ้น น่าจะส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐอยู่พอสมควร
อีกประเด็นที่คงต้องจับตาดูก็คือ Fed จะจัดการอย่างไรกับประเด็นนี้เพราะนอกจากเรื่องของเงินเฟ้อและการจ้างงานแล้ว เสถียรภาพทางระบบการเงินก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ Fed ให้ความสำคัญ
การขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วร้ายแรงจะสามารถทำได้ต่อไปอีกนานแค่ไหนเพราะตอนนี้เริ่มเห็นรอยร้าวเกิดขึ้นในระบบการเงินแล้วหรือ Fed จะต้องยอมถอยเหมือนกับ ในกรณีที่เกิดขึ้นในอังกฤษเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ที่ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษกลายเป็นธนาคารกลางหลักแห่งแรกที่ต้องกลับมาทำ QE ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งเริ่มทำ QT ไปเมื่อเดือนสิงหาคม