5 ประเด็นสำคัญ กำหนดทิศทางลงทุน ตลาดการเงินสหรัฐฯ

5 ประเด็นสำคัญ กำหนดทิศทางลงทุน ตลาดการเงินสหรัฐฯ

การลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางหลากหลายเหตุปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดฯ ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามและประเมินผลกระทบก่อนการลงทุน

สำหรับการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ค.นั้น SCB CIO มองว่า มี 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) , ปัญหาหนี้สาธารณะชนเพดาน (Debt Ceiling), ปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ, ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ โดยมีรายละเอียดและมุมมอง ดังนี้

1.ผลการประชุม FOMC ในวันที่ 2-3 พ.ค.ที่ผ่านมา Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed fund 0.25% เป็น 5.00-5.25% ตามที่เราคาด โดยเน้นว่า เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง และปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดือน มี.ค. แต่ภาวะการปล่อยสินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมถึงเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ Fed ยังคงยึดมั่นกับการนำเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% เป็นหลัก ซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนการปรับนโยบายหลังจากนี้ จะพิจารณาผลสะสมของนโยบายการเงินตึงตัวในช่วงที่ผ่านมา กับระยะเวลาที่ผลของนโยบายการเงินมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงิน ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธาน Fed ประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะมีลักษณะ Soft Landing

เรามองว่า Fed มีแนวโน้มหยุดขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตลอดทั้งปี 2566 โดยคาดว่า การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ใช้กับภาคธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและเล็ก ที่มีแนวโน้มเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า Fed จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจาก การชะลอตัวของเงินเฟ้อยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่เร็วมากพอที่จะทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้ แม้ว่าตลาดฯ จะยังคงคาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็ตาม

 

2.Debt Ceiling สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งพรรครีพับลีกันครองเสียงข้างมาก ได้ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเลื่อนเพดานหนี้ไปถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2567 พร้อมเสนอมาตรการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยเรามองว่า ในระยะสั้นมีโอกาสสูงที่ร่างฎหมายนี้ จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก และประธานาธิบดี ไบเดน ที่ต้องการเพิ่มเพดานหนี้แบบไม่มีเงื่อนไขผูกมัด

ส่วน X-Date หรือ วันที่กระแสเงินสดคงคลังและมาตรการพิเศษจะหมดลง อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด ซึ่งล่าสุดนางเจเน็ต เยเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า X-date จะเกิดในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ท้ายที่สุด สภาคองเกรสจะเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อนถึง X-Date หรือหากไม่ทัน X-Date ก็คงขยายเพดานหนี้ออกไปชั่วคราว ควบคู่กับการผ่านแผนงบประมาณใช้จ่ายปี 2567 ทำให้สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงภาวะผิดนัดชำระหนี้ได้

เรามองว่า เรื่อง Debt Ceiling จะทำให้ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ มีความผันผวนมากขึ้นก่อนถึง X-Date โดยระยะถัดไป คาดว่า ส่วนต่างผลตอบแทนของหุ้นกู้กับพันธบัตรรัฐบาล (Credit spread) ของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากค่าประกันความเสี่ยงเครดิต หรือ Credit Default Swap (CDS) ที่เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากหุ้นของบริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพารายได้รัฐบาลค่อนข้างสูง มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากประเด็นนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีหุ้นกลุ่มนี้ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนี S&P500

3.ปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ SCB CIO มองว่าปัญหานี้ จะไม่บานปลายกลายเป็นวิกฤตเชิงระบบ เพราะทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการดูแลทันท่วงที มีเพียงกลุ่มธนาคารภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง ขณะที่ผลประกอบการของธนาคารภูมิภาคโดยรวมอาจออกมาน้อยกว่าคาด รวมถึงถูกปรับลดประมาณการผลประกอบการลงอย่างต่อเนื่อง (เช่น First Republic Bank ที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องจากเงินฝากที่ปรับลดลงอย่างมีนัย จนกระทั่ง JP Morgan ได้เข้ามาซื้อกิจการ)

4.ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ประเด็นนี้เป็นผลพวงมาจากความกังวลเรื่องภาวะสินเชื่อตึงตัว เพราะได้รับสินเชื่อจากธนาคารภูมิภาคเป็นหลัก บวกกับต้นทุนการรีไฟแนนซ์สูงขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยระดับสูง ส่งผลต่อหนี้กลุ่มนี้ ซึ่งมีกำหนดชำระคืนในปี 2566-2567 ทั้งหมด 1.2 ล้านล้านดอลลาร์  และปี 2568 อีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์  นอกจากนี้ยังเผชิญแนวโน้มการใช้พื้นที่น้อยลง จากการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานเป็นไฮบริด และแนวโน้มการจับจ่ายผ่านอี-คอมเมิร์ซสูงขึ้น ทำให้การเช่าสำนักงานลดลง ส่วนอสังหาฯ กลุ่มที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มที่ราคาบ้านจะลดลงชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่ค่าเช่าที่ลดลง ดังนั้น หลังจากนี้ อาจเห็นเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้จำนองได้เป็นระยะ

เรามองว่า จากปัญหาภาคธนาคาร บวกความเสี่ยงภาคอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น ดังนั้น อาจส่งผลให้เกิดการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนตามมา 

5.ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ โดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ดัชนี S&P 500 ในไตรมาส 1/2566 (ข้อมูล ณ วันที่1 พ.ค. 2566) พบว่า 60% ของบจ.ที่รายงานแล้ว 79% มี EPS surprise เฉลี่ยที่ +7.0% และ 68% มี revenue surprise เฉลี่ยที่ +2.3% โดย Earnings Growth เฉลี่ยปรับลดลง อยู่ที่ -1.6% และ Revenue growth อยู่ที่ +3.7% ซึ่งบริษัทที่จะทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงที่เหลือ มี Market Cap น้อยกว่าช่วงก่อนหน้า และไม่ใช่กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม เรายังมองความกังวลของตลาดที่มากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีโอกาสสูงที่บจ.ส่วนใหญ่ อาจให้ guidance ระยะข้างหน้าแย่ลง และอาจทำให้ Consensus ปรับลดประมาณการ S&P500 EPS growth ในไตรมาส 2/2566 และปี 2566 ลดลงตาม จากปัจจุบัน Consensus โดย FactSet คาดว่าจะอยู่ที่ -5%YoY และ +1.2%YoY ตามลำดับ

เรามองว่า ประเด็นนี้ จะกดดันดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ปรับลดลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclicals) ที่เชื่อมโยงกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ส่วนประมาณการผลกำไรหุ้นเชิงรับ เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน และสินค้าบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิต จะทรงตัวอยู่ได้ ขณะที่ กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ ยังมีแนวโน้มที่ดี ช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

เมื่อ 5 ประเด็นนี้ ทำให้ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวมีมากขึ้น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำจึงยังมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ เงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงเร็วกว่าคาด และตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัวน้อยลง สนับสนุนให้ Bond Yield อยู่ในขาลง เราจึงมีมุมมอง Positive ต่อตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และมีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นกู้ Investment Grade ที่มีคุณภาพสูงของสหรัฐฯ ขณะที่ มีมุมมอง Negative ต่อหุ้นกู้ High Yield โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงลงทุน นอกจากนี้ เรายังมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และมีมุมมอง มอง Slightly Negative ต่อทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว