Private Market in the current market environment
ช่วงปลายปีแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนจะกลับมามองและทบทวนพอร์ตการลงทุนและวิธีคิดการลงทุนของนักลงทุนว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้นได้และทนทานต่อภาวะต่างๆ ได้อย่างดี
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2023 แม้ตลาดหุ้นจะมีการฟื้นตัวขึ้นกลับมาได้และเกิดภาพที่เป็น Year-end rally ตามที่นักกลยุทธ์ของจูเลียส์แบร์ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวบวกในปีนี้ 18.52% ขึ้นมาใกล้จุดสูงสุดในปีนี้อีกครั้ง (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 29 พ.ย. 2023) แต่เชื่อว่าสิ่งที่ยังคงอยู่ในใจของนักลงทุนคือ จะลงทุนอย่างไรในภาวะที่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูงไม่ว่าจะเรื่องภาวะสงครามหรือปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินเฟ้อที่แม้ลดลงแต่ก็ยังอยู่สูงกว่าที่เคยเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ในระดับที่สูงและความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่
ทำให้นักลงทุนยังคงที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นมากนักซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนี้ของนักลงทุนอาจจะน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ ทำให้นักลงทุนยังมองหาการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอคุ้มความเสี่ยง ได้ประโยชน์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีความผันผวนที่ต่ำ การลงทุนใน Private Asset Market หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์จึงยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลผลสำรวจของ Blackrock Institution1 ได้ทำการสำรวจนักลงทุนสถาบันมากกว่า 200 แห่ง มากกว่าครึ่งนึงยังมีความต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดทั้ง Private Credit และมีจำนวนถึง 70% ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนใน Private Equity แม้อัตราดอกเบี้ยในตลาดนั้นอยู่ระดับสูงก็ตาม ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องยอมรับอย่างนึงว่าการมองหาอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่สูงในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในอดีตมีส่วนช่วยให้ตลาดนี้เติบโตอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังพบว่าปัจจัยสำคัญที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Private asset market เนื่องจากความต้องการสร้างกระแสรายได้จากการลงทุนหรือ Income generation อย่างสม่ำเสมอประเด็นนี้ทำให้ความต้องการลงทุนใน Private Credit ที่เป็นลักษณะ direct lending หรือการปล่อยกู้โดยตรงซึ่งมักจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวทำให้มีการได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงและไม่มีความเสี่ยงด้านราคาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยซึ่งผลตอบแทนของกองทุน private credit ในช่วงที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นสวนทางจากกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการ mark to market ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
ปัจจัยรองลงมาคือต้องการให้เงินลงทุนมีการเติบโตซึ่งจากการศึกษากองทุน Private equity หรือ PE ประเภท European Buyout ในอดีต 2 จะพบว่า PE vintage หรือกองทุนที่มีการจัดตั้งหรือระดมทุนและลงทุนเริ่มต้นในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวหรือเกิดวิกฤติเช่นในปี 2007-2008 จะมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่สูงกว่าช่วงภาวะปกติ
โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากภาวะที่เกิดวิกฤตมักจะส่งผลให้มูลค่าบริษัทหรือ Enterprise values ของบริษัทมักจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกลงทุนในดีลที่มีราคาถูกหรือสมเหตุสมผล สามารถเลือกลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพแต่อาจจะประสบปัญหาในด้านการเงินจึงทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาปกติ
นอกจากนี้เมื่อดีลที่เข้าลงทุนมีมูลค่าที่ถูกลงก็ทำให้ความจำเป็นที่ทางกองทุน PE ต้องกู้เงินหรือใช้ leverage ก็ลดลงก็ช่วยเพิ่มผลตอบแทนเช่นกัน นอกจากนี้เนื่องจากการลงทุนใน PE มักจะมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวประมาณ 8-10ปี และไม่มีสภาพคล่องซึ่งก็เหมือนบังคับให้นักลงทุนมีการลงทุนระยะยาวอย่างแท้จริงซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบเหมือน public market ที่เมื่อเกิดภาวะที่นักลงทุนตื่นตระหนกก็จะเกิดการเทขายออกมา
อีกทั้งระยะเวลาที่ยาวก็ช่วยให้ผู้จัดการกองทุนสามารถที่จะรอจังหวะในการขายออก (exit) หรือเปลี่ยนมือ (ทั้งจากการ IPO หรือขายใน secondary market ให้กับกองทุน PE อื่น) ในช่วงที่ตลาดดีขึ้นได้ นอกจากนี้การลงทุนประเภทนี้ PE จะมีสถานะที่ใกล้ชิดกับบริษัทสามารถที่จะให้คำแนะนำและปรับปรุงให้บริษัทนั้นกลับมาเติบโตได้
ดังนั้น ช่วงปลายปีแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนจะกลับมามองและทบทวนพอร์ตการลงทุนและวิธีคิดการลงทุนของนักลงทุนว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้นได้และทนทานต่อภาวะต่างๆ ได้อย่างดี ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดนั้นพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยทำให้พอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นคงและสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเภทของ Private asset นั้นมีหลากหลายประเภทและแต่ละประเภทก็เหมาะกับภาวะตลาดที่แตกต่างกันออกไป ผลตอบแทนและความเสี่ยงในแต่ละประเภทก็แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น Private Equity จะมีการแบ่งตามช่วงอายุของธุรกิจเช่น Early stage, Growth stage, Mature และ Declining ก็จะมีกองทุน PE ที่จะมุ่งเน้นในแต่ละช่วงอายุ
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่าน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง 1 https://www.blackrock.com/institutions/en-us/insights/global-private-markets-survey