พลังหญิง พลังโลกที่ยั่งยืน
ประเทศไทย เคยสำรวจโครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทยเมื่อไม่นานมานี้ จากทั้งหมดกว่า 700 บริษัท ซึ่งมีสัดส่วนตัวเลขของคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22 สะท้อนให้เห็นว่ายังคงต้องการพื้นที่สำหรับผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอยู่ไม่น้อย
เพิ่งผ่านพ้นวันสตรีสากล (International Women’s Day) ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม เราทราบกันดีว่าความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) ถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สุดบนเส้นทางความยั่งยืนเลยก็ว่าได้ ถ้าจะให้เห็นเป็นรูปธรรมหน่อย หากบริษัทห้างร้านไหน มีสัดส่วนผู้หญิงนั่งอยู่ในคณะกรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากหน่อย คะแนนทางด้านความยั่งยืน (ESG) จะขึ้นสูงเลยทีเดียว คำว่า “มากหน่อย” นั้นมากเท่าไหร่ ในปัจจุบันนี้ยึดถือกันที่เฉลี่ยร้อยละ 30-40 เดิมทีมาตรฐานที่พึงปรารถนาคือที่ร้อยละ 30 ในปัจจุบันมาตรฐานระดับแนวหน้าของโลกได้ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 40 แล้ว แต่โดยภาพรวมมีเพียงบางบริษัทในบางประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่สูงถึงร้อยละ 40
ในเรื่องนี้ Fair Finance International (FFI) เครือข่ายพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของภาคธนาคาร และผลักดันให้ภาคเอกชนยึดมั่นต่อมาตรฐานด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ได้กำหนดคำถามในแบบประเมินตนเองขององค์กรต่างๆ โดยใช้เงื่อนไขนี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้คะแนนด้านความยั่งยืนด้วย อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของกรรมการที่เป็นหญิงทั่วโลกยังไม่สูงมากนัก แม้ว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาทุกปีก็ตาม
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งเป็นบริษัททำดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก ได้ออกรายงาน MSCI ESG Research Report ประจำปี 2566 โดยให้ข้อมูลว่าบริษัททั่วโลก มีสัดส่วนกรรมการที่เป็นหญิงเฉลี่ยเพียงแค่ร้อยละ 25.8 ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ หรือประมาณเพียงแค่หนึ่งในสี่ และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 1.3 จากปี 2565 เท่านั้น โดย MSCI ESG Research Report คาดการณ์ว่าสัดส่วนกรรมการที่เป็นหญิงในบริษัททั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในอีกประมาณเกือบ 10 ปีข้างหน้า (หรือปี 2576) และจะมีสัดส่วนชาย-หญิงที่เท่ากันในปี 2583
สำหรับประเทศไทย เราเคยสำรวจโครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทยเมื่อไม่นานมานี้ จากทั้งหมดกว่า 700 บริษัท ซึ่งมีสัดส่วนตัวเลขของคณะกรรมการที่เป็นผู้หญิงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22 สะท้อนให้เห็นว่ายังคงต้องการพื้นที่สำหรับผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอยู่ไม่น้อยเลยครับ
ที่จริงแล้ว ความเท่าเทียมและความยั่งยืนเชื่อมโยงกันจนแทบจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เนื่องจากการที่เราให้ความสำคัญกับทั้งสองประเด็นนี้ต่างมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในโลก เมื่อเราพิจารณาบริบทโดยรอบ เป็นเรื่องยากจะปฏิเสธว่า ผู้หญิงมักได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน การขาดโอกาสในการศึกษา รวมถึงการดูแลสุขภาพเมื่อเทียบกับผู้ชาย
ขณะเดียวกัน การบูรณาการประเด็นด้านความเท่าเทียมเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้านธุรกิจ ก็เป็นอีกกลไกที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะช่วยให้บริษัทหรือองค์กรทำธุรกิจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถด้านการสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดีอีกด้วย
ทั้งนี้ เราจะเห็นว่าผู้หญิงต้องเผชิญกับอุปสรรคมากกว่าผู้ชายในเกือบทุกสาขากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในบางประเทศผู้หญิงยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการเข้าถึงสินเชื่อ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) ได้ประเมินไว้ว่า ยังคงมีช่องว่างทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการหญิงในประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 1.48 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า พอร์ตสินเชื่อของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นของผู้หญิง (W-SME) มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่ำกว่าพอร์ตสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยรวมทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอ โดย IFC ได้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งมี NPL เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ร้อยละ 4.7 และตลอดระยะเวลา 5 ปีที่มีการเก็บข้อมูล แนวโน้มตัวเลขดังกล่าวของกลุ่ม W-SME นั้นอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความเท่าเทียมและการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินมาโดยตลอด โดยได้ออก “พันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ” ในปี 2562 ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นสตรี และยังมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศ สร้างรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว
การเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงให้เข้าไปมีอำนาจในระดับการตัดสินใจขององค์กรให้มากขึ้นและการเสริมสร้างพลังให้แก่ผู้หญิงผ่านการสนับสนุนเงินทุนของสถาบันการเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมที่ยั่งยืน และเราควรสร้างหลักประกันให้กับทุกคนด้วยการส่งมอบโอกาสที่เท่าเทียม โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้หญิง ควบคู่ไปกับการชูประเด็นด้านความยั่งยืนในยุคแห่งความท้าทาย พร้อมตอบโจทย์ตามแนวคิด Triple Bottom Line อันได้แก่ “People - Profit - Planet” อย่างรอบด้านนั่นเองครับ