Checklist 7 เรื่องการเงินที่ควรทำก่อนสิ้นปี

Checklist 7 เรื่องการเงินที่ควรทำก่อนสิ้นปี

7 เรื่องการเงินที่ควรทำก่อนสิ้นปี ที่ผมเชื่อว่าหากแต่ละท่านนำไปใช้ ก็จะช่วยให้ผ่านสิ้นปีนี้ไปได้อย่างไม่วุ่นวาย และเริ่มต้นปีใหม่ได้ อย่างราบรื่น

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราก็มาถึงเดือน 11 ของปีแล้วนะครับ ปีหน้าก็เป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้แล้ว เป้าหมายที่เคยวางไว้กันในต้นปี ตอนนี้เราได้ทำกันไปได้กี่อย่างแล้วครับ หากยังไม่ถึงเป้าหมาย ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้นำแผนมารีวิว แล้วทำให้ถึงเป้าหมายไปด้วยกันนะครับ และปลายปีแบบนี้ ก็มีเรื่องการเงินหลายอย่างที่เราจะต้องทำกัน วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่า 7 เรื่องที่เราควรทำก่อนสิ้นปีให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันนะครับ

“วันนี้ผมขอนำบทความเรื่อง 7 เรื่องการเงินที่ควรทำก่อนสิ้นปี มาฝากเพื่อหวังว่าจะช่วยให้เรื่องการเงินของแต่ละท่าน ผ่านปี 2567 ไปได้อย่างราบรื่น และ เริ่มปี 2568 ได้อย่างมีประสิทธิภาพกันครับ

1. วางแผนภาษีเงินได้ และลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี

ก่อนจะจบปี 2567 ไป ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี จะต้องไม่ลืมที่จะ วางแผนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของตัวเอง เพราะ หากมียอดภาษีที่ต้องชำระในจำนวนที่สูง ก็ยังสามารถที่จะจัดหา วิธีในการลดหย่อนภาษีได้ทันเช่น การลงทุนใน SSF, RMF, ThaiESG หรือ ซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นต้น โดยขั้นตอนในการทบทวนวางแผนภาษีสามารถเริ่มได้จากการ รวบรวมรายได้ในปีที่ผ่านมา รวมกับรายได้ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อคำนวนว่าจะต้องเสียภาษีเท่าได้ ถ้าหากมียอดภาษีที่ต้องเสียเป็นจำนวนมาก ก็จึงวางแผนลดหย่อนด้วยการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่กล่าวมาข้างต้นหรือ วิธีอื่นๆที่เข้าเงื่อนไขของทางกรมสรรพากร

2. วางแผนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะเก็บจากผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นทุกวันที่ 1 มกราคม ดังนั้น หากท่านต้องการจะขาย ก็ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินประจำปี 2568 และเช่นเดียวกัน สำหรับการประเมินภาษีจากลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดิน ก็จะประเมินแล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ดังนั้น หากท่านต้องการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อให้ภาษีที่ดินถูกลง (เช่นจากที่รกร้างเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร) ก็ควรจะดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 1 มกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากท่านเป็นเจ้าของที่ดินรกร้าง ก็ควรจะรีบเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินนั้น เพราะ หากที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าติดต่อกันเกิน 3 ปี ทุกๆปีถัดไปจะถูกขึ้นภาษีอีกปีละ 0.3% เลยทีเดียว

3. วางแผนภาษีเงินได้จากกิจการส่วนตัว

สำหรับกำไรสะสมในธุรกิจ หากมีการปันผลออกมา ผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผลจะต้องนำไปรวมเพื่อคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ดังนั้นการค่อยๆ ทยอยนำกำไรสะสมปันผลออกมา หลายๆปี ย่อมดีกว่าที่จะนำออกมาทีเดียวทั้งหมด เพราะ จะทำให้ประหยัดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลลง โดยที่ช่วงสิ้นปีนี้อย่าลืมคำนวนดูกันด้วยว่า ท่านสามารถรับเงินปันผลจากกิจการส่วนตัวของท่านได้อีกเท่าไร ที่จะไม่กระทบกับแผนภาษีส่วนตัวของท่าน เพื่อที่จะได้วางแผนจ่ายปันผลของกิจการภายในปีนี้ และทำเรื่องจ่ายภาษีทันในปีภาษีนี้นะครับ

4. ติดตามเอกสารทางภาษี

การติดตามเอกสารทางภาษี เช่นใบหัก ณ ที่จ่าย หรือ อื่นๆ ในช่วงใกล้ยื่นภาษีในปี 2568 นอกจากจะเป็นอะไรที่วุ่นวายแล้ว ยังอาจทำให้ตกหล่นได้อีกด้วย วันนี้หากมีเวลา ให้เร่งตามเอกสารให้ครบถ้วนจะดีกว่าครับ

5. แจ้งใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเช่น RMF , SSF, ThaiESG ท่านสามารถติดต่อแจ้งกับทาง บลจ.ที่ท่านลงทุนได้เลยว่าให้ส่งข้อมูลให้กับทางกรมสรรพากรเพื่อลดหย่อนภาษีได้เลยครับ เช่นเดียวกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ที่สามารถแจ้งทางบริษัทประกันได้เลย

6. ปรับพอร์ตการลงทุน

ในช่วงสิ้นปีก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ สรุป พอร์ตการลงทุนในปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและการคาดการณ์ข้างหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงดอกเบี้ยขาลงอย่างตอนนี้ การลงทุนใน ตราสารหนี้ระยะยาวจะสร้างผลตอบแทนได้ ดีกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น และ ทิศทางของค่าเงินบาทตอนนี้ที่ผันผวน การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ

7. ทบทวนความคุ้มครองจากประกัน

สินทรัพย์ต่างๆ มูลค่าย่อมเปลี่ยนไปตามเวลา หนึ่งปีที่ผ่านไป สินทรัพย์ของท่านอาจจะมีการปรับเพิ่มมูลค่าขึ้น หรือลดลง การปรับเปลี่ยนความคุ้มครอง ทุนประกันนอกจากจะช่วยปิดความเสี่ยงได้แล้ว ยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เช่น หาก รถยนต์ที่ท่านใช้มีมูลค่าลดลง การลดวงเงินประกันรถยนต์ลงก็จะช่วยให้ท่านประหยัดได้ หรือ หากบ้านท่านมีมูลค่ามากขึ้น การเพิ่มทุนประกันให้เหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาทุนประกันไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ครับ

ทั้งหมดนี้ คือ 7 เรื่องการเงินที่ควรทำก่อนสิ้นปี ที่ผมเชื่อว่าหากแต่ละท่านนำไปใช้ ก็จะช่วยให้ผ่านสิ้นปีนี้ไปได้อย่างไม่วุ่นวาย และเริ่มต้นปีใหม่ได้ อย่างราบรื่นครับ