นโยบายดอกเบี้ยเฟดกดตลาดต่อเนื่องคงน้ำหนักพอร์ตหุ้นเอเชีย

นโยบายดอกเบี้ยเฟดกดตลาดต่อเนื่องคงน้ำหนักพอร์ตหุ้นเอเชีย

เดือนส.ค.นี้ ภาวการณ์ลงทุนช่วงต้นเดือนกับปลายเดือน ดูค่อนข้างแตกต่างกันเลยครับ โดย SET Index ได้ปรับตัวสูง โดดเด่นตลอดช่วง 4 สัปดาห์แรก จากการคลายความกังวลต่อการเข้มงวดนโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯ จากรายงานเงินเฟ้อที่ชะลอลงและดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายบรรยากาศการลงทุนก็เริ่มเปลี่ยนไป ดัชนีการลงทุนในหลายประเทศ ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แสดงความเห็นที่การประชุมเมือง Jackson Hole ว่า FED ยังคงจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดนโยบายการเงินต่อไป เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ทั้งหมดนี้ถือเป็น ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความกังวลที่มีนัยสำคัญต่อภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ ในช่วงแรกของเดือน ดูเหมือนตลาดจะมองข้ามเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างเช่น PMI หรือ ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ส่วนใหญ่ออกมาหดตัวต่อเนื่อง โดยโฟกัสไปยังตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่และดีอยู่อย่างมาก อย่างเช่นตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตร การเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมง รวมถึงอัตราการว่างงาน

ขณะเดียวกัน ปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและประเทศจีนที่ปะทุขึ้น หลังจากนาง Nancy Pelosi ตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวันก็ดูเหมือนจะกดดันตลาดหุ้นได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้มีการใช้อาวุธทางเศรษฐกิจในการโจมตี นั่นก็คือนโยบายการกีดกันการค้าต่อกันในระดับสูง เหมือนกับยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี ภาพการลงทุนหลังจากตลาดเกิดความกังวลหลังประธาน FED กล่าวบนเวที Jackson Hole นั้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นในประเทศแถบตะวันตกทรุดตัวลงอย่างรุนแรง และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรุ่น 10 ปี ปรับตัวขึ้นสูงถึงร้อยละ 3.4 ในช่วงปลายเดือนส.ค.

ด้านปัจจัยในประเทศของไทย ช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน(กนง.)ของประเทศไทยปรากฏผลออกมาไม่ผิดไปจากตลาดคาด กล่าวคือที่ประชุมมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ส่งผลให้บรรยากาศทางการเงินของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเป็นอย่างมาก ตลาดตราสารหนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ แต่นักลงทุนต่างชาติ ก็เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของประเด็นการเมืองในประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องฝ่ายค้านวาระนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 8 ปี และสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันทีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยระหว่างนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะขึ้นเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีทำให้ประเด็นนี้เป็นที่น่าติดตามในช่วงถัดไปเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจมี พัฒนาการที่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในช่วงถัดไปได้

จากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กล่าวไว้ข้างต้น ภาพการลงทุนที่ดูว่าน่าจะสงบลงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น กรอบการลงทุนทั้งในส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ยังมีโอกาสที่จะแกว่งตัวแบบกว้างๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในเดือนกันยายนนี้ มีหลายสถานการณ์ ที่จะมีผลต่อภาพการลงทุน เยอะมากๆ ครับ เดือนนี้มีปัจจัยสำคัญหลายประการที่อาจสร้างความผันผวนรออยู่ อาทิ

1) การยกระดับการลดขนาดงบดุลของ FED จากเดิม 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

2) การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานในวันที่ 2 ก.ย. และตัวเลขเงินเฟ้อในวันที่ 13 ก.ย.

3) การประชุม FOMC ในวันที่ 20-21 ก.ย.

4) การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 8 ก.ย.

5) รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในวันที่ 5 ก.ย.

6) การประชุมกนง.ในวันที่ 28 ก.ย.

7) ความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุน สำหรับเดือนก.ย.อาจจะต้องเข้าสู่โหมดปลอดภัยมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามการมีน้ำหนักหุ้นไทยและหุ้นเอเชียมากกว่ายุโรปและอเมริกายังคงเป็นกลยุทธที่ถูกต้องครับ โดยในรอบนี้ร้อยละ 50 ยังเป็นหุ้นอยู่ โดยเป็นหุ้นไทยร้อยละ 20 ญี่ปุ่น จีน และ อเมริกา ประเทศละร้อยละ10 ตราสารหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 20 น้ำมัน ทอง และ REITs อย่างละร้อยละ 10

สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นได้ มองว่าช่วงเดือนนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่จะเข้าลงทุนใหม่ได้ที่บริเวณดัชนี 1,600 จุดหรือต่ำกว่า โดยมองกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในเดือนนี้ คือกลุ่มที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น กลุ่ม ธนาคาร กลุ่มสื่อสาร และ โรงพยาบาลขนาดเล็ก