โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. - 1 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25 – 5.50% ตามคาด ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดระบุว่า เฟดยังไม่ปิดโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ดี เฟดประเมินว่าตลาดการเงินและสินเชื่อมีความตึงตัวมากขึ้น และเห็นสัญญาณการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และภาวะเศรษฐกิจ โดยเฟดจะใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2% 

ทั้งนี้ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า dot plot ของเฟด ที่บ่งชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่คาดว่าอาจมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ อาจไม่เป็นไปตามที่คาด กล่าวคือ เฟดอาจไม่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ พร้อมทั้งระบุว่า dot plot เป็นเพียงการคาดการณ์ และไม่ใช่แผนในการขึ้นดอกเบี้ยที่จะต้องปฏิบัติตาม

 

การที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง กอปรกับความเห็นของเฟดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมดูเหมือนมีน้อยลง ส่งผลให้นักลงทุนมองว่า เฟดน่าจะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นแรง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง ตอบรับความคาดหวังของนักลงทุนว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจอยู่ที่จุดสูงสุดแล้ว ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนเริ่มคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี จากการที่เฟดยังไม่ได้ระบุชัดเจนถึงการยุติการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต

การที่ตลาดยังไม่แน่ใจว่าเฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยจริงหรือไม่ ส่งผลให้ตลาดการลงทุนกลับมาผันผวนอีกครั้ง ดังนั้นการประเมินถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่ จึงมีส่วนสำคัญในการพิจารณาประกอบการลงทุนในช่วงนี้

ในด้านเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) ซึ่งเป็นดัชนีที่เฟดใช้วัดเงินเฟ้อ ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 5.6% เมื่อเดือนก.พ. 2565 สู่ 3.7% เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงมามาก 

นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากการปรับขึ้นของค่าแรง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูง เริ่มมีสัญญาณชะลอลงต่อเนื่อง โดยในช่วงก่อนหน้านี้ ค่าจ้างแรงงานโดยเฉพาะในภาคบริการ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากภาคบริการฟื้นตัวหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานมากขึ้น  ในขณะที่ จำนวนแรงงานในภาคบริการฟื้นตัวช้า เนื่องจากแรงงานบางส่วนเปลี่ยนอาชีพหลังจากที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ และแรงงานบางส่วนเปลี่ยนไปหางานที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ 

ทั้งนี้ รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐในเดือนต.ค.บ่งชี้ว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด และค่าจ้างแรงงานต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 4.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับเมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 6% และชะลอลงจากเพิ่มขึ้น 4.3 – 4.7% ในช่วง 9 เดือนแรก โดยที่การจ้างงานในภาคสันทนาการลดลง และค่าจ้างแรงงานในภาคบริการชะลอลง บ่งชี้ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้างแรงงานทั้งภาคการผลิตและภาคบริการลดลง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามดูการจ้างงานและการใช้จ่ายในช่วงก่อนเทศกาลวันหยุดช่วงปลายปี เช่น Thanksgiving (23 พ.ย.) Black Friday (24 พ.ย.), และคริสต์มาส (25 ธ.ค.) ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะจะเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันออกมาใช้จ่ายมากกว่าปกติ จึงอาจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และค่าจ้างแรงงานในช่วงดังกล่าวอาจปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราว

นอกจากปัจจัยเกี่ยวกับเงินเฟ้อ สิ่งที่ต้องติดตามคือ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งหากมีสัญญาณชะลอลง ก็จะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจยุติการขึ้นดอกเบี้ยถึงแม้เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง และส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงระยะถัดไป

ทั้งนี้ ดัชนีชี้นำภาคการผลิตและภาคบริการบ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลง และตัวเลข GDPNow ที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐ สาขาแอตแลนต้า ที่ประเมินเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4 ปี 2566 อาจขยายตัว 2.1% ชะลอลงจากรายงานเบื้องต้นที่ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.9% ในไตรมาส 3ปี 2566

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โอกาสที่เฟดจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้จึงมีไม่มาก อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา จึงยังไม่อาจสร้างความมั่นใจให้กับคณะกรรมการเฟดว่าเงินเฟ้อกำลังปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย คณะกรรมการเฟดจึงรอดูข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่า เฟดได้บรรลุเป้าหมายในการจัดการกับเงินเฟ้อแล้ว ดังนั้น การลงทุนในระยะสั้นๆ นี้ จึงยังคงมีแนวโน้มผันผวนจนกว่าเฟดจะประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม