เลือกตั้งฝรั่งเศสมีผลอย่างไรกับตลาดหุ้นยุโรป

เลือกตั้งฝรั่งเศสมีผลอย่างไรกับตลาดหุ้นยุโรป

เลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรก 30 มิ.ย. พบว่า ไม่มีพรรคไหนที่ได้คะแนนเสียงเกิน 50% และการเลือกตั้งรอบสอง 7 ก.ค. นี้ หุ้นฝรั่งเศส มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่สูงขึ้น และผลตอบแทนพันธบัตรของฝรั่งเศสอาจเพิ่มสูงขึ้นมาก ด้านตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น อาจพักฐานช่วงสั้น

ช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้ เรื่องราวการเมืองฝั่งยุโรปค่อนข้างเข้มข้น โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่กำลังจัดการเลือกตั้งรอบสอง ซึ่งจะชี้ชะตาเศรษฐกิจฝรั่งเศสเอง รวมถึงมีผลไปยังตลาดหุ้นฝรั่งเศส และยุโรปโดยรวมด้วย

สำหรับการเลือกตั้งฝรั่งเศสในรอบแรกวันที่ 30 มิ.ย. พบว่า ภาพรวมไม่มีพรรคไหนที่ได้คะแนนเสียงเกิน 50% จึงทำให้ผู้สมัครพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 2 อันดับแรก รวมถึงผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงกว่า 12.5% ต้องลงแข่งในการเลือกตั้งรอบสอง ในวันที่ 7 ก.ค. นี้ ซึ่งผู้สมัครจากพรรคที่ได้เสียงข้างมาก (มากกว่า 50%) จะถูกเลือกให้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการรอบแรก พรรคขวาจัด Rassemblement National (RN) ของนางเลอ แปน และนายจอร์แดน บาร์เดลลา มีคะแนนนำ พรรคฝ่ายซ้าย Nouveau Front Populaire (NFP) และพรรคสายกลาง Ensemble ของ ประธานาธิบดี มาครง อยู่
 

ทั้งนี้ SCB CIO คาดการณ์ ผลเลือกตั้งฝรั่งเศส และผลที่จะมีต่อตลาดการเงินฝรั่งเศสเอาไว้ 2 กรณี คือ 

กรณีแรก แต่ละพรรคได้คะแนนเสียงใกล้เคียงกัน โดยไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก : อาจทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขาดเสถียรภาพในการบริหาร และเกิดภาวะ gridlock ในสภา ผลที่ตามมาคือ การผ่านร่างนโยบายต่างๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเศรษฐกิจจะติดขัด รัฐบาลต้องหาเสียงจากภายนอกพรรคร่วมเพิ่มเติมในการผ่านร่างกฎหมาย ส่งผลลบต่อแผนทยอยลดการขาดดุลการคลังบางส่วน ขณะที่ ผลต่อตลาดการเงินฝรั่งเศส คาดว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสและเยอรมนี (OAT-Bund spread) มีแนวโน้มกว้างขึ้นแต่ไม่มาก จากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และ ส่วนชดเชยความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ที่มีแนวโน้มอยู่สูงกว่าช่วงก่อนประกาศยุบสภา สกุลเงินยูโร มีแนวโน้มผันผวนและมีทิศทางอ่อนค่า ส่วนภาพรวมเครดิตมีแนวโน้มแย่ลง จากการที่บริษัทจัดอันดับเครดิตระมัดระวังมากขึ้น และนักลงทุนต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วน หุ้นฝรั่งเศส มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่สูงขึ้น
 

กรณีที่สอง พรรคขวาจัด RN ครองเสียงข้างมากโดยสมบูรณ์ : จะทำให้การใช้จ่ายทางการคลังเพิ่มขึ้นมาก   และแผนทยอยลดการขาดดุลการคลังล่าช้าออกไป สำหรับผลที่ตาม คือ ยอดขาดดุลการคลังต่อ GDP และ หนี้สาธารณะต่อ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ การขาดมาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ อาจจำกัดศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ส่วนตลาดการเงินฝรั่งเศส คาดว่า OAT-Bund spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นมาก ตามความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังที่อาจย่ำแย่ลง สกุลเงินยูโร มีแนวโน้มอ่อนค่า ขณะที่ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) ของฝรั่งเศส มีแนวโน้มกว้างขึ้น จากประเด็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการถูกลดอันดับเครดิต ส่วน หุ้นฝรั่งเศส เสี่ยงปรับตัวลดลง มากกว่ากรณีแรก เนื่องจากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศส ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมาก

ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปนั้น มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และอาจพักฐานช่วงสั้นได้ จากความเสี่ยงทางการเมืองในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในกรณีพรรคขวาจัดได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง เพราะตลาดอาจกังวลกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายของยุโรปมากขึ้น เช่น แผนลดการขาดดุลการคลัง เงินทุนช่วยเหลือยูเครน และนโยบายด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) ของยุโรป อาจเพิ่มขึ้นชั่วคราว เพราะกังวลว่าแผนลดการขาดดุลทางการคลังของฝรั่งเศสจะล่าช้า ซึ่งจะทำให้ valuation ของตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มขึ้นได้จำกัด อย่างไรก็ดี

หากพรรคขวาจัดฝรั่งเศสชนะการเลือกตั้งรอบสอง แต่ไม่ได้ผลักดันนโยบายแบบสุดโต่ง อาจช่วยลดแรงกดดันในตลาดบนประเด็นความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจยุโรปไปได้ 

ทั้งนี้ ยังต้องจับตา ผลการเลือกตั้งอังกฤษ ในวันที่ 4 ก.ค. โดยผลโพลล่าสุดชี้ว่า จะเกิดการพลิกขั้วการเมืองครั้งใหญ่ของอังกฤษ ซึ่งพรรค Labour อาจชนะการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาล แทนพรรค Conservative ของนายกฯ ริชี ซูนัค ที่ได้ครองอำนาจยาวนาน ทั้งนี้ พรรค Labour มีแผนจัดเก็บภาษีมากขึ้น เช่น ภาษีลาภลอย ในขณะที่ เพิ่มการใช้จ่ายบนแผน Green Prosperity Plan เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าแบบปราศจากการปล่อยคาร์บอน ภายในปี 2030 นอกจากประเด็นการเลือกตั้ง ยังต้องติดตามประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างยุโรปกับจีนที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีนเพิ่มเติม ถ้าหากการหารือแนวทางแก้ไขบนประเด็นนี้ออกมาไม่น่าพอใจ นำไปสู่การเก็บภาษีเพิ่มกับจีน จะทำให้มีความเสี่ยงที่จีนจะตอบโต้ทางการค้ากลับ 


SCB CIO แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป จากโมเมนตัมเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมยังมีแนวโน้มดีกว่าสหรัฐฯ โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในยุโรปที่มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการนำเงินออมส่วนเกินที่ยังสูงมาใช้จ่าย ค่าจ้างแท้จริงที่ขยายตัว การจ้างงานที่ยังเติบโต และการฟื้นตัวของภาคอสังหาฯ แม้มีปัจจัยฉุดจากการผ่อนคลายทางการคลังของยุโรปโดยรวมที่ลดลง โดยคาดว่า กำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนีหุ้นยุโรป มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวช่วงที่เหลือของปีนี้ ด้วยแรงหนุนจาก

1) เงินยูโร ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ตามที่เราคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ยต่อ ในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ครั้งละ 25 bp สู่ระดับ 3.25% สิ้นปีนี้ ซึ่งเร็วและมากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

2) การลดดอกเบี้ยของ ECB ควรช่วยลดต้นทุนกู้ยืมในระบบ ช่วยหนุนยอดขายบริษัทยุโรป

3) แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังดี ช่วยหนุนผลประกอบการของดัชนีฯ

ส่วน Valuation ของดัชนีหุ้นยุโรป ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย 12M Forward P/E ของ  STOXX 600 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และถูกกว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบ ดัชนี S&P500 รวมทั้ง อัตราผลตอบแทนรวม (อัตราผลตอบแทนจากการซื้อคืนหุ้น บวกเงินปันผล) ของ ดัชนี STOXX 600 ยังสูงกว่าดัชนี S&P500