"เสริมสุข" เตรียมออกจากตลาดหุ้นไทย บ.ลูก "ไทยเบฟ" ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น 63 บาท

"เสริมสุข" เตรียมออกจากตลาดหุ้นไทย บ.ลูก "ไทยเบฟ" ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น 63 บาท

หุ้น SSC หรือ "เสริมสุข" เตรียมออกจากตลาดหุ้นไทยเพื่อไปปรับโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับ "ไทยเบฟเวอเรจ" โดย "โซ วอเตอร์" ผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟ เตรียมประกาศเสนอซื้อหุ้นที่ราคา 63 บาท ทั้งนี้ยังต้องรอมติผู้ถือหุ้นเห็นชอบก่อน กำหนดประชุม 27 ส.ค.67

นายกฤษณ์ จุลพาณิชยกรรม เลขานุการบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) (SSC) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2567 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในเรื่องสำคัญว่า จะมีการเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 เป็น 27 ส.ค.2567

บริษัทรับทราบหนังสือแจ้งความประสงค์ของบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด (ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับแรกจำนวน 171.95 ล้านหุ้น คิดเป็น 64.67%) ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทอันได้แก่ หุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดจำนวน 93,945,680 หุ้นหรือคิดเป็นสัดส่วน 35.33% เพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เบื้องต้นราคาเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัทอยู่ที่ 63.00 บาท/หุ้น ทั้งนี้ "โซ วอเตอร์" เป็น บริษัทย่อยของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 
 

การเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะช่วยให้การบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการลดขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารกิจการ และการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น 

นอกจากนี้ เนื่องด้วยกลุ่มไทยเบฟอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และ/หรือเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจมีการดำเนินการปรับโครงสร้างภายใน และการปรับโครงสร้างของธุรกิจในด้านต่างๆ โดยที่การปรับโครงสร้างดังกล่าวอาจประกอบด้วยการทำรายการหรือธุรกรรมระหว่างบริษัท และ/หรือบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ

ดังนั้น การเพิกถอนหลักทรัพย์เป็นการรองรับแผนการปรับโครงสร้างข้างต้นด้วยทั้งนี้ แผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน และอาจมีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมในอนาคต

อีกทั้งในปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวนไม่มากนัก การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะเป็นประโยชน์ต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัท โดยเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือก และโอกาสในการขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท

ภายหลังการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท จะไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกต่อไป การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดภาระใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วย

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทจะยังมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเงื่อนไขดังต่อไปนี้สำเร็จครบถ้วน

1.ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่ออก และจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท และต้องไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการเพิกถอนหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่ออก และจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท

2.การเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องได้รับอนุมัติ และ/หรือ ผ่อนผันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน และคู่สัญญาอื่นๆ ตามสัญญาที่เกี่ยวข้อง (ในกรณีที่จำเป็น)
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์