สรุปมุมมองการลงทุนประจำ เดือนสิงหาคม 2567

สรุปมุมมองการลงทุนประจำ เดือนสิงหาคม 2567

กลยุทธ์การลงทุนในเดือนส.ค. 67 ยังคงลดการลงทุนในตลาดหุ้นโลกลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่เพิ่มสูงขึ้น

ดัชนี MSCI All-Country World Equity ปรับตัวขึ้น 3.3% ในช่วงครึ่งแรกของเดือนก.ค. 67 ก่อนที่จะกลับมาปรับลงกลับมาเกือบเท่าจุดเดิมในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยแรงกดดันเกิดขึ้นทั้งในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DMs) และตลาดเกิดใหม่ (EMs) ซึ่งพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) แบบความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) และแบบเชิงรุก (Aggressive) ของเราให้ผลตอบแทนในเดือนก.ค. (ในสกุลเงินบาท) อยู่ที่ -0.01% 0.01% และ -0.03% ตามลำดับ

สรุปมุมมองการลงทุนประจำ เดือนสิงหาคม 2567

นับจากต้นปีผลตอบแทนพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) แบบความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) และแบบเชิงรุก (Aggressive) อยู่ที่ระดับ 3.5% 8.5% และ 9.6% ตามลำดับ สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของเราในเดือนส.ค. 67 ยังคงลดการลงทุนในตลาดหุ้นโลกลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมุมมองสำหรับแต่ละสินทรัพย์ของเราสรุปได้ดังต่อไปนี้

ตลาดหุ้นไทย : แม้ว่าในเดือนก.ค. 67 ดัชนีจะปรับขึ้นในช่วงแรก หนุนจากหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ICT และค้าปลีก แต่ก็ปรับลงในเวลาต่อมาฉุดจากความกังวลในกลุ่มธนาคารการเงิน พลังงาน และปิโตรเคมี ความไม่แน่นอนทางการเมืองและระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อตลาด นอกจากนั้นเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกที่อาจหนุนดัชนี SET ได้ในระยะอันใกล้ ได้แก่ ผลกำไรไตรมาส 2 ปี 67 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 22% YoY และมาตรการหนุนอื่น ๆ เช่น กองทุน Thai ESG และเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นต้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : ตัวเลข High Frequency Economic Indicator บ่งชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง และจะนำไปสู่ภาวะ Recession ในช่วง 6- 12 เดือนข้างหน้า ไม่ได้เป็น soft landing อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง ข้อมูลในอดีตชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของ Nonfarm Payroll แบบ YoY จะชะลอตัวลงก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในเดือนมิ.ย. 67 Nonfarm Payroll เพิ่มขึ้น 1.7% YoY ซึ่งชะลอจาก 2.4% ในเดือน มิ.ย. 66 มาก ดัชนีเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ISM PMI การผลิตเหมืองแร่ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน และอัตราการใช้กำลังการผลิต บ่งชี้ถึงความเสี่ยงขาลง ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดคาดการณ์กำไรของ S&P 500 และระดับ PER ของตลาดลง

ตลาดหุ้นจีน : ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลง 2% จากการขาดปัจจัยหนุนในระยะสั้น แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะลดดอกเบี้ยลง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดได้ การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Third Plenum) ทำให้นักลงทุนผิดหวังเนื่องจากไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เรามองว่าจีนจะเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากการเติบโตของ GDP ที่ชะลอตัว ความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอ และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว 

ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2 ปี 67 ขยายตัวเพียง 4.7% YoY ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ยอดค้าปลีกหดตัวและการเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว แม้ว่าการส่งออกจะทำสถิติสูงสุดในรอบ 21 เดือนในเดือนมิ.ย. แต่ไม่น่าจะรักษาโมเมนตัมต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากอียูและสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความเสี่ยงทางภูมิรฐัศาสตร์และความขัดแย้งทางการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็เป็นอีกประเด็นที่เพิ่มความไม่แน่นอน จากปัจจัยเหล่านี้เราจึงแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน ในดัชนี Shanghai Composite

ตลาดหุ้นเวียดนาม : ในเดือนก.ค. ไม่สามารถทะลุแนวต้านที่ 1300 จุด ได้ ปัจจัยกดดันมาจากการเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อยและความกังวลต่อปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศหลังการอสัญกรรมของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เหงยี น ฟู้จ่อง อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศยังคงมั่นคง โดยประธานาธิบดี โต เลิม ได้เข้ามาทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการพรรคชั่วคราว โดยความมุ่งมั่นในการกวาดล้างทุจริตคอรัปชั่นของเขาในช่วงก่อนหน้าที่ทำให้เขาสามารถกระชับอำนาจภายในพรรคฯ ได้มากขึ้น ดังนั้นเราจึงมองว่าความวุ่นวายทางการเมืองเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนการประชุมพรรค ปี 2569  

สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามยังสามารถรักษาโมเมนตัมของการเติบโตได้ดี โดยมี GDP เติบโต 6.4% YoY ในช่วงครึ่งแรกของปีหนุนจากภาคการส่งออกค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังเพิ่มขึ้น 13.1%YoY ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยเวียดนามน่าจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ระดับ 6-6.5% ได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐจะทำให้เวียดนามได้ประโยชน์จากข้อพิพาทดังกล่าว อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับการยกระดับเป็นประเทศที่มีสถานะ “เศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy)” จากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก อย่างไรก็ดีลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวง สามารถอ่านรายงานการจัดพอร์ตสินทรัพย์และแนวโน้มการลงทุนฉบับเต็มได้ทาง www.bualuang.co.th