“ทรัมป์คัมแบ๊ก สองปีแรกอาจต่างจากสองปีหลัง”

“ทรัมป์คัมแบ๊ก สองปีแรกอาจต่างจากสองปีหลัง”

การต่อสู้ทางการเมืองโดยอุดมการณ์และด้วยพลังของสตรีและพันธมิตรต่างๆนำมาสู่การประกาศเตรียมตัวในการเลือกตั้งอีกสองปีข้างหน้าและชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสี่ปีซึ่งความกดดันเรื่องการเลือกตั้งกลางเทอม 2026 จะมีอิทธิพลต่อสองปีหลังของทรัมป์ 2.0 อย่างแน่นอน

เลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา 5 พฤศจิกายนผ่านไปแล้ว “ทรัมป์คัมแบ๊ก” กลับมาพร้อมนโยบายหลายอย่างที่หลายคนกำลังวิพากษ์วิจารณ์ เตรียมการรับมือกันใหญ่ เพราะครั้งนี้ประกาศว่าจะทำอะไรบ้าง ส่วนจะทำจริงแค่ไหน อีกไม่นานก็คงทราบ

ขณะนี้ทีมของรัฐบาลไบเดนกำลังประสานงานกับทีมใหม่เพื่อให้การส่งต่อความรับผิดชอบและอำนาจนั้นเป็นไปได้โดยรัดกุมและไม่มีช่องว่างประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะเข้าปฎิบัติหน้าที่ในทำเนียบขาวเริ่มวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025 ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศว่าเริ่มวันแรกจนถึง 100 วันจะทำอะไร นโยบายสุดโต่งต่างๆจะถูกนำมาใช้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ได้ นอกจากจะต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนวุฒิสภา (senate) ก็ค่อนข้างแน่ใจว่า “เสียงข้างมากจะเปลี่ยนจากเดโมแครตเป็นรีพับลิกัน” ซึ่งได้ตำแหน่งไปแล้วกว่า 52 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 100 ที่นั่ง

เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร (house) นั้น ขณะนี้ยังรอผลอีกหลายเก้าอี้ โดยเฉพาะในแคลิฟอร์เนียที่มีคะแนนสูสีกันมาก และกฎหมายระบุว่าต้องรอคะแนนทางไปรษณีย์อีกประมาณ 10 วัน แนวโน้มเป็นไปได้มากกว่าเสียงข้างมากจะเป็นของพรรครีพับลิกันเช่นกัน (ขณะนี้รีพับลิกันได้ 211 ที่นั่งและเดโมแครต 199 ที่นั่ง และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องได้ถึง 218 ขึ้นไปจึงจะได้ครองเสียงข้างมาก)

ผลการเลือกตั้งข้างต้นยังไม่เป็นทางการ และต้องรอถึงวันที่ 11 ธันวาคม ที่รัฐต่างๆ ต้องยืนยันรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการเลือกตั้งของรัฐบาลกลาง

ขณะนี้เป็นไปได้มากว่าตำแหน่งฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีและตำแหน่งและฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสองสภาน่าจะเป็นการควบคุมอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จโดยพรรครีพับลิกันที่มีนโยบายอนุรักษ์นิยมและประชานิยม

ตลาดหุ้นสหรัฐฯทุกดัชนีพุ่งสูงสร้างสถิติ แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดทุนว่า นโยบายการเงินภายใต้บรรยากาศการเมืองใหม่จะทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และกฎระเบียบต่างๆที่เคยเข้มงวดอาจจะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ง่ายขึ้นและมีผลกำไรมากขึ้น DOW 43,903 S&P 6002.75 NASDAQ 21,224

สองวันหลังจากการเลือกตั้ง (7 พ.ย. 2024) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.25 % สู่ระดับเป้าหมายที่ 4.50-4.75% โดยการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เหตุผลถึงการผ่อนคลายนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการจ้างงานกับการควบคุมเงินเฟ้อมีสถานการณ์สมดุลย์

FED สรุปโดยสังเขปว่าเศรษฐกิจของอเมริกาดีพอสมควรแล้ว และยังมีข่าวเพิ่มเติมว่าประธาน FED Jerome Powell บอกว่าจะทำงานต่อไป ถึงแม้ประธานาธิบดีคนใหม่จะขอให้ลาออกตนเองก็จะปฏิเสธ เนื่องจากประธานาธิบดีไม่มีอำนาจที่จะปลดประธาน FED ได้

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้นำมาสู่การเตรียมตัวกันอย่างรีบด่วนในหลายภูมิภาค

เช่น หลายประเทศในยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นสมาชิกนาโต้กังวลมากว่าความเป็นเอกภาพจะถูกสั่นคลอน และไม่สามารถรักษาความมั่นคงในสภาวะล่อแหลมปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณียูเครนซึ่งประเมินว่ารัสเซียจะได้เปรียบในการเจรจายุติสงครามโดยการกดดันจากทรัมป์

สถานการณ์ในตะวันออกกลางคาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลฝ่ายขวาจัดภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Netanyahu นั้นแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพึงพอใจกับการกลับมาของทรัมป์ ที่เชื่อว่าจะสนับสนุนนโยบายแนวเดียวกับของรัฐบาลอิสราเอลในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะสงครามที่ยังคุกรุ่นอยู่ทั้งโดยรอบด้าน ส่วนจะนำมาสู่ความมั่นคงหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการผลิตการขนส่งและราคาของน้ำมันดิบหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยังประเมินไม่ได้

ส่วนผลกระทบต่อไทยทางด้านเศรษฐกิจ เช่นเรื่องภาษีศุลกากรที่หลายคนเป็นห่วงนั้น อาจจะไม่น่าวิตกอย่างที่เราคิด แต่เราก็ควรที่จะเตรียมตัวรับมือไว้

การที่ไทยเป็นประเทศส่งออกและสหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าสำคัญนั้น ทำให้ทางภาคเอกชนและภาครัฐกังวลเช่นกันว่า นโยบายศุลกากรของสหรัฐซึ่งอาจเก็บภาษีนำเข้าจากทุกประเทศประมาณ 10-20% นั้นจะทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกมีปัญหา

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้เราปรับตัวได้อย่างแน่นอน และจะไม่มีผลกระทบรุนแรงมากนัก ด้วยเหตุผลคือนโยบายของรัฐบาลทรัมปจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และความกดดันจากสภาทั้งสองซึ่งสมาชิกได้รับความกดดันจากประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้จะต้องแบกภาระของสินค้าราคาแพงขึ้น เนื่องจากภาษีนำเข้าจะถูกนำไปบวกกับราคาสินค้า และมีการประเมินว่าชาวอเมริกันจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ละครอบครัวเกือบ 3,000 เหรียญต่อปี กลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อและจะทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยม

ทรัมป์ 2.0 จะแข็งกร้าวในสองปีแรก แต่สองปีหลังอาจจะตรงกันข้าม

นโยบายสำคัญของรัฐบาลอเมริกันจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพโดยฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

สภาผู้แทนสหรัฐฯมีการเลือกตั้งทุกสองปี ครั้งต่อไป ค.ศ. 2026 ตำแหน่งของผู้แทนทั้งหมด 435 ที่นั่ง จะต้องมีการแข่งขันใหม่หมด และ 35 ตำแหน่งของวุฒิสภาก็จะต้องมีการแข่งขันด้วย ซึ่งหากประธานาธิบดีผลักดันนโยบายสุดโต่ง เช่น กำแพงภาษีศุลกากร 10-20% ตามที่หาเสียงไว้ และประชาชนแบกภาระสินค้าราคาแพงก็จะทำให้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอม เสียเสียงข้างมากให้กับฝ่ายเดโมแครตได้

บทเรียนทางการเมืองดูได้โดยย้อนกลับไปเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก หลังจากชนะการเลือกตั้งปี 2016 ครั้งนั้นได้คุมทั้งฝ่ายบริหารที่ทำเนียบขาวและเสียงข้างมากของสภาล่างและสภาบน อำนาจในวอชิงตันดีซีแบบเบ็ดเสร็จทำให้นโยบายเชิงรุกหรือก้าวร้าวต่างๆ ถูกนำมาลองใช้ แต่ผลลัพธ์คือถูกต่อต้าน คะแนนนิยมลดลงภายในสองปีอย่างน่าตกใจ

ผลออกมาที่การเลือกตั้งกลางเทอมปีค.ศ. 2018 พรรครีพับลิกันสูญเสีย 41 ที่นั่ง ขณะที่เดโมแครตได้มา 42 ที่นั่ง และชิงเสียงข้างมากกลับไป การทำงานของทรัมป์ในสองปีหลัง 2019-2021 จึงติดขัดไปหมด

ชาวอเมริกันฝ่ายเดโมแครตผิดหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างที่คาดหวังไว้ ทั้งที่กระแสสนับสนุนของรองประธานาธิบดีแฮร์ริสมีพลังบวกและความนิยมพุ่งสูงมากตลอด 107 วันที่ทุ่มหาเสียง ประเด็นเรื่องการปกป้องสิทธิสตรีด้านการเจริญพันธุ์และการปกป้องประชาธิปไตย ไม่สามารถที่จะนำชัยชนะเกินกระแสที่พรรครีพับลิกันกระตุ้นให้เห็นปัญหาของคนเข้าเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้สินค้าราคาแพง

แต่การต่อสู้ทางการเมืองโดยอุดมการณ์และด้วยพลังของสตรีและพันธมิตรต่างๆนำมาสู่การประกาศเตรียมตัวในการเลือกตั้งอีกสองปีข้างหน้าและชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสี่ปีซึ่งความกดดันเรื่องการเลือกตั้งกลางเทอม 2026 จะมีอิทธิพลต่อสองปีหลังของทรัมป์ 2.0 อย่างแน่นอน