สรรพากรรู้นะ! วิธีการใดบ้างที่ใช้ 'เลี่ยงภาษี'

สรรพากรรู้นะ! วิธีการใดบ้างที่ใช้ 'เลี่ยงภาษี'

หยุดคิดหาวิธีเลี่ยงภาษี! เปิดสารพัดวิธีหลบเลี่ยงภาษีที่นิยมใช้ แต่รู้หรือไม่ ว่า กรมสรรพากรรู้ทัน ระวังถูกเช็คบิล เสียภาษีย้อนหลังบวกดอกเบี้ย!

เรามักได้เห็นและได้ยินตามข่าวอยู่เป็นประจำ สำหรับข่าวการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้มีรายได้ที่ถึงเกณฑ์ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรมสรรพากรมีความเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ยิ่งทำให้ผู้มีรายได้ถูกตรวจสอบย้อนหลังกันแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ และหลายๆ รายก็ตั้งใจ

และจากการที่กรมสรรพากรตรวจสอบพบความผิดปกติอันหลากหลายของรายได้ในแต่ละเคส จึงทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพากร สามารถสรุปวิธีการของผู้มีรายได้ร่ำรวยผิดปกติ ธุรกิจที่มีรายรับสูง นำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีไว้ได้ดังนี้

การตั้งตัวแทนเชิด

ลักษณะการตั้งตัวแทนเชิด คือการตั้งบุคคลอื่น หรือบริษัทเป็นผู้มีรายได้และเสียภาษีแทนตนเอง จึงทำให้ตนเองเสียภาษีน้อยลง หรือหากมีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมายก็จะยากขึ้น

อย่างเช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ๆ จะใช้วิธีหารายชื่อคนงานแล้วให้คนงานของตนเองเป็นผู้รับเหมารายย่อย โดยมีเงื่อนไขคือคนที่จะถูกเชิดให้เป็นผู้รับเหมารายย่อยนั้นต้องไม่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี เพื่อเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะทำให้ประหยัดภาษีมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่กรมสรรพากรตรวจสอบพบธุรกิจขนส่งสินค้า จะนิยมเอาชื่อลูกน้องในการรับส่งสินค้าแทน เพื่อหลีกเลี่ยงรายได้ที่แท้จริงของตนเอง

การตั้งคณะบุคคล​

การตั้งคณะบุคคลเป็นการก่อตั้งคณะบุคคลหลายๆ คณะ เพื่อจุดประสงค์ในการแตกฐานเงินได้ให้เล็กลง โดยมีชื่อตนเองในทุกคณะ ทำให้เสียภาษีน้อยลงและยังสามารถหักค่าใช้จ่ายในแต่ละคณะได้อีกด้วย

วิธีการนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีอาชีพอิสระ ที่ปรึกษา ศิลปิน ดารา รวมถึงธุรกิจที่มีรายได้สูงมากนิยมทำ

ทำให้บริษัทขาดทุน

การทำให้ธุรกิจของตนเองขาดทุน เป็นวิธีที่ธุรกิจทุกประเภทนิยมทำเป็นอย่างมาก อย่างเช่นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง จะใช้วิธีการสร้างรายจ่าย หรือบิลรายจ่ายมาเบิกบริษัทให้มากที่สุด เมื่อถึงปลายปีก็จะพบว่าบริษัทขาดทุนและไม่สามารถเสียภาษีได้

อีกทั้งในส่วนที่ได้มีการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ก็มีโอกาสจะได้คืนด้วย เนื่องจากบริษัทไม่มีกำไรและยังขาดทุน

หรือทำให้ขาดทุนโดยการให้บริษัทกู้ยืมเงินจากกรรมการบริษัทของตนเอง เพื่อหลบยอดรายได้หรือยอดขาย และเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยบริษัท
หลบยอดขายและยอดซื้อ

การหลบยอดขายและยอดซื้อ คือบริษัทมีการแต่งบัญชีโดยให้ยอดขายเกิดขึ้นเท่าที่ต้องการจะเสียภาษี เช่นมียอดขายสินค้า 200 รายการ แต่มีการเปิดบิลหรือมียอดขายตามบิลแค่ 80 รายการ ซึ่งวิธีการนี้บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิยมเป็นอย่างมาก

ซื้อใบกำกับภาษี

การซื้อใบกำกับภาษีที่นิยม คือจะซื้อใบกำกับภาษีซื้อจากผู้ประกอบกอบการค้าน้ำมัน มาเป็นยอดรายจ่ายของบริษัทตนเอง เนื่องจากผู้เติมน้ำมันรายย่อยไม่ค่อยขอใบกำกับภาษี

อย่างเช่นผู้รับเหมาก่อสร้าง มักขอซื้อใบกำกับภาษีซื้อเพื่อนำมาขอคืนภาษีจากรัฐ เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง

หลีกเลี่ยงโดยผ่านระบบบัญชี 

วิธีการนี้เป็นการสร้างบัญชีเท็จที่เจ้าของกิจการ หุ้นส่วนบริษัท หรือบอร์ดบริษัท ต้องการให้มีการประหยัดเงินและนำผลกำไรให้กับเจ้าของกิจการตัวจริงและหุ้นส่วนมากที่สุด ก่อนที่จะนำบัญชีบริษัทส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองอีกขั้นตอนหนึ่ง

โดยการกำหนดรายจ่ายต่างๆ เข้ามาเบิกในบัญชีบริษัทหรือค่าที่ปรึกษา ค่าโบนัสให้กับกรรมการหรือพนักงาน แต่ข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นการวางแผนทางภาษีเพื่อให้บริษัทเสียภาษีน้อย แต่เจ้าของกิจการได้กำไรมาก ​​​

การตั้งบริษัทเพื่อเจตนาออกใบกำกับภาษีซื้อปลอม

วิธีการนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายๆ แห่ง และมีการออกใบกำกับภาษีซื้อขายแก่กันเป็นทอดๆ โดยข้อเท็จจริงแล้วบริษัทไม่ได้มีการทำกิจการจริงแต่ใช้วิธีการโอนกลับไปกลับมาเท่านั้น​​

ซื้อบิลจริงแต่ไม่มีการกระทำจริง

วิธีการนี้มักเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยจะอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายภาษี เช่น บริษัทผลิตสินค้าต้องการประหยัดภาษีเพราะบริษัทมีกำไรมาก จึงใช้วิธีการติดต่อขอซื้อใบเสร็จ โดยอ้างว่าเป็นค่าการตลาด ประขาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ในวงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วบริษัทไม่ได้มีการโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าว และบริษัทที่ทำโฆษณาก็ยอมออกใบเสร็จให้

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เลี่ยงภาษีแบบเห็นๆ  

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจพัฒนาที่ดินที่นิยมเลี่ยงภาษี ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก รายกลาง และที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะทำโดยการแบ่งขายและประกาศขายที่ดินเปล่าเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงแล้วเป็นการขายที่ดินพร้อมบ้าน แต่แบ่งแยกเป็น 2 สัญญา คือสัญญาซื้อขายที่ดินกับสัญญาว่าจ้างปลูกบ้าน เพื่อเลี่ยงภาษีในส่วนของการปลูกบ้านที่ไม่ต้องจ่ายให้กับรัฐ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียม

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียมของนักพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลายจังหวัด จะมีการประกาศขายห้องชุดเพียงบางส่วน และเก็บห้องชุดอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ประกอบกิจการโรงแรม โดยบริษัทจะไม่ยอมแสดงรายได้ที่เกิดจากการให้บริการกิจการโรงแรม เพราะรายได้จำนวนนี้ความจริงแล้วต้องนำมาคำนวณ vat จึงทำการหลีกเลี่ยง

สรุป...เลี่ยงภาษีไม่พ้นข้อมูลถึงสรรพากรแน่นอน!

​รู้แบบนี้แล้วใครที่ทำอยู่หรือกำลังคิดจะทำ ให้รีบแก้ไขให้ถูกต้องโดยด่วน เพราะเชื่อเถอะว่ากรมสรรพากรรู้ทุกความคลื่อนไหวของผู้มีรายได้ และสามารถตรวจสอบพบได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ยังมีช่องทางเพื่อแจ้งเบาะแสสำหรับผู้ที่พบเห็นพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงภาษีต่างๆ อีกด้วย ซึ่งสามารถแจ้งเรื่องได้ดังนี้

- กิจการที่ไม่นำรายได้มายื่นเสียภาษี หรือนำมายื่นเสียภาษีไม่ครบถ้วน
- กิจการที่นำค่าใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้อง หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จ่ายจริงมายื่นเสียภาษี​
​- กิจการที่ไม่ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี
- กิจการที่ออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง/ขายใบกำกับภาษี
- กิจการที่เมื่อลูกค้าขอใบกำกับภาษีแล้วถูกบวกราคาเพิ่ม
- หรือการกระทำใดๆที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี

​ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีรายได้ทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรื่องภาษีเสียใหม่ ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อทุกอย่างโปร่งใส ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป และใช้เวลาไปกับการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างเต็มที่

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting