แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2025

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2025

เศรษฐกิจไทยในปี 2025 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายในอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยอาจยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจ SMEs คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตที่ 2.4%

เศรษฐกิจไทยปี 2025 มีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อเทียบกับปี 2024 โดยทีมวิจัยหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์บัวหลวง คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตที่ 2.4% YoY ในกรณีฐาน (Base Case) (ภายใต้การส่งออกที่เติบโตได้ 1.8%) จากความท้าทายของปัจจัยภายนอกสำคัญสองประการ ได้แก่ 

  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย 
  • ความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของ “ทรัมป์” ในต้นปีหน้า 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2025

ในกรณีเลวร้าย (Worst Case) หากสถานการณ์ทั้งสองประการ สร้างผลกระทบรุนแรงเกินคาด โดยเฉพาะหากประธานาธิบดี “ทรัมป์” ดำเนินนโยบายการค้าเข้มงวด ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 60-100% และเก็บภาษี เพิ่มอีก 10-20% จากประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ การส่งออกของไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงมากกว่ากรณีฐาน โดยจะทำให้การส่งออกของไทยปี 2025 เติบโตเพียง 0.5% และ GDP ขยายตัว 1.9%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2025 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายในอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยอาจยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งมีเหตุสืบเนื่องมาจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าจีนราคาถูก 

“เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนให้สามารถลดทอนปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังกล่าว และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นโยบายภาครัฐ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการแจกเงินหมื่นเฟส 2 และ 3 ที่น่าจะเข้ามากระตุ้นกำลังซื้อภาคครัวเรือน รวมถึงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐที่คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ภายใต้งบประมาณที่มากขึ้นกว่าปี 2024”

บทวิเคราะห์ Economics Outlook ของหลักทรัพย์บัวหลวง (ฉบับ วันที่ 20 ธันวาคม 2024) ระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติสุทธิลดลงต่อเนื่องในช่วงปี 2021 - 2023 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติสุทธิ (FDI Netflow) มีแนวโน้มลดลง สะท้อนถึงความท้าทายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับ เทรนด์ความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมยังเผชิญความท้าทายในการปรับตัวเข้ากับ ห่วงโซ่อุปทาน และระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business ecosystem) รูปแบบใหม่

นอกจากนี้ นักลงทุนตามสัญชาติก็เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าการลงทุน FDI (Netflow) สูงกว่านักลงทุนญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2023 สอดคล้องกับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจีน เพื่อลดทอนผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันนักลงทุนญี่ปุ่นมีการถอนการลงทุนจากไทยมากขึ้น