ค้าปลีกภูธรหวั่นขึ้น ‘ค่าแรง-ไฟฟ้า’ ฉุดกำลังซื้อจี้รัฐช่วยกลุ่มฐานราก
ค้าปลีกภูธร ห่วงราคาสินค้าขึ้นแรง ปี 68 ตามค่าแรงงาน 400 บาทต่อวัน ระบุค่าไฟฟ้าแพง ซ้ำเติมกำลังซื้อกลุ่มฐานราก วอนรัฐดูแลค่าไฟฟ้า เร่งออกนโยบายช่วยเหลือ แนะผู้ประกอบการทบทวนแผนธุรกิจ จัดโซนสินค้าใหม่ คัดเลือกสินค้าทำตลาดสอดคล้องความต้องการของกลุ่มลูกค้า
ภาคค้าปลีกและบริการในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท เป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อประเมินตลาดค้าปลีกต่างจังหวัดช่วงปี 2568 อาจยังไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากมีแรงกดดันจากปัจจัยภายในและภายนอกเป็นมรสุมกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้า
นางสาวสลิล ปัญจคุณาธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ห้างสหไทย สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกต่างจังหวัด โดยเฉพาะทำเลภาคใต้ยังมีการแข่งขันรุนแรง จากทั้งผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านค้าสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าโลคอล รวมถึงมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่แบรนด์ใหม่สนใจเข้ามาขยายสาขาในพื้นที่
เมื่อประเมินภาพรวมค้าปลีกในภาคใต้ในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและยางพารา ที่ค่อยๆ ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อขยายตัวตาม และมีภาคท่องเที่ยวเป็นแรงกระตุ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น
ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลคือ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นตามต้นทุนต่าง ๆ โดยปัจจุบันซัพพลายเออร์แบรนด์กาแฟสำเร็จรูป ประกาศว่าเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า 5-10% ในปีหน้า และอาจจะมีสินค้ากลุ่มอื่นทยอยขึ้นราคาตามมาอีก
ทั้งนี้ภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นการปรับขึ้นราคาต่อเนื่องจากปี 2567 ที่สินค้าน้ำมันปาล์ม ได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว 10% รวมถึงมีปัจจัยที่น่ากังวลจากกลุ่มฐานรากที่มีกำลังซื้อระดับเปราะบาง ซึ่งได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้น กระทบต่อกำลังซื้อให้อ่อนแอลงไปอีก ส่วนกลุ่มกลางและบน ยังมีความแข็งแกร่งในการใช้จ่ายอยู่
ขอรัฐออกมาตรการช่วยกลุ่มฐานราก
ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้นภาคค้าปลีกในต่างจังหวัด ด้วยนโยบายช่วยเหลือกลุ่มฐานรากให้มากขึ้น เช่น เพิ่มวงเงินช่วยเหลือกลุ่มนี้เป็นพิเศษ การหาแนวทางดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้ปรับสูงขึ้น เนื่องจากอาจมีผลต่อราคาสินค้าและต้นทุนของผู้ประกอบการรวมถึงภาคประชาชนทั่วประเทศ พร้อมหาทางปรับลดค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีกในแต่ละจังหวัด ให้แข่งขันกับรายใหญ่ได้มากขึ้น
“ภาพรวมค้าปลีกไทยในช่วงสิ้นปีนี้ 2567 พื้นที่ภาคใต้สะท้อนกำลังซื้อเริ่มดีขึ้น จากการใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาปาล์มและยางพาราที่สูงขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก แต่ภาพรวมค้าปลีกทั้งปีอาจจะยังขยายตัวไม่สูงเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันมากขึ้น โดยในปี 2568 ห้างสหไทย สุราษฎร์ธานี มีแผนปรับปรุงพื้นที่ภายใน ทั้งการเพิ่มโซนของอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์และผักสด มีขนาดพื้นที่ประมาณ 200 ตร.ม. และเพิ่มพื้นที่กลุ่มสินค้าของฝากและของที่ระลึก จากจังหวัด สุราษฎร์ธานี และของดีจากทั่วประเทศ มีขนาดประมาณ 150 ตร.ม. ร่วมขยายตลาดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการ
ทั้งหมดเป็นการปรับแผนให้สอดรับกับตลาดและโจทย์การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ห้างสหไทย สุราษฎร์ธานี ได้เน้นกลยุทธ์ การนำเสนอสินค้าราคาถูกและมีความคุ้มค่า พร้อมกับ มุ่งนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวกที่สุด
อีสานปี 68 ยังซึม หวั่นค่าแรง 400 บาท ดันราคาสินค้า
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์โสตร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก รายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2568 มีแนวโน้มทรงตัวจากปี 2567 เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และถูกกดดันจากทั้งค่าแรงงานที่ปรับขึ้น 400 บาท/วัน อาจเป็นความเสี่ยงให้ราคาสินค้าหลายรายการ ต้องปรับขึ้นตามไปด้วย
รวมถึงค่าไฟฟ้าที่เตรียมปรับขึ้นและภาษีน้ำตาลที่จ่อปรับขึ้น 100% ในช่วงสิ้นปี 2567 มีผลต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลให้ปรับขึ้นตามไปด้วย ผสมด้วยปัจจัยเดิมที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้คนยังมีกำลังซื้อที่เบาบาง
และยังมีปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องติดตาม ทั้งภาวะความขัดแย้งในโลก และการเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศมหาอำนาจ มีผลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลต่อบรรยากาศการเดินทางโดยรวมที่ยังไม่คึกคัก
ทั้งนี้นโยบายที่อยากให้ภาครัฐเร่งผลักดัน คือ การดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้ปรับสูงขึ้น และการหาแนวทางช่วยกลุ่มฐานรากที่มีกำลังซื้อน้อยให้มีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการหาแนวทางดูแลภาระเรื่องหนี้ครัวเรือนของประชาชน
ร่วมพาณิชย์จัด “โลคอล โลว์คอสต์”
อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีก ต้องวางกลยุทธ์ทันท่วงทีให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการมุ่งนำเสนอสินค้าให้สอดรับตลาดและฐานของประชากรในพื้นที่ เช่น ในพื้นที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องหาทางนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับลูกค้ากลุ่มนี้ พร้อมทำโปรโมชัน ร่วมกระตุ้นบรรยากาศในการใช้จ่าย รวมถึงมุ่งปรับแผนบริหารองค์กรภายใน ดูแลต้นทุนให้ต่ำลง รวมถึงต้องทบทวนและปรับแผนทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ จัดงาน “โลคอล โลคอสต์” ในปี 2568 มีเป้าหมายจัดรวม 4 ครั้งใน 4 ไตรมาส เพื่อร่วมกระตุ้นกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภคในต่างจังหวัด และภาคค้าปลีกทั่วประเทศให้คึกคักต่อเนื่อง
“จากการประเมินภาพรวมบรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคนเดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น แต่การใช้จ่ายโดยรวมยังไม่ได้คึกคักตาม ลูกค้ายังระมัดระวังในการใช้จ่ายอยู่พอสมควร”