รับผลิตและขายส่งสินค้า ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีใดบ้าง

รับผลิตและขายส่งสินค้า ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีใดบ้าง

อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีเท่าไหร่บ้าง ผู้ที่ประกอบธุรกิจรับผลิตและขายส่งสินค้าจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่าไหร่ พร้อมแล้วไปหาคำตอบพร้อมกัน

การประกอบธุรกิจทุกประเภท หากดำเนินกิจการในนามบุคคลธรรมดาจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากนิติบุคคลที่มาใช้บริการ แต่ไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อกิจการได้จ่ายเงินค่าบริการ

ส่วนกรณีที่ธุรกิจของคุณจดบริษัทเป็นนิติบุคคล นอกจากจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากนิติบุคคลที่มาใช้บริการแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งกรมสรรพากรเมื่อมีการจ่ายเงินใช้บริการต่างๆ ตามอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่ละประเภทธุรกิจที่ใช้บริการและที่ให้บริการ โดยไม่มียกเว้นให้กับผู้ที่รับผลิตและขายส่งสินค้า เมื่อเข้าข่ายเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมมีหน้าที่หักและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยกันทั้งสิ้น

อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีเท่าไหร่บ้าง ผู้ที่ประกอบธุรกิจรับผลิตและขายส่งสินค้าจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่าไหร่ พร้อมแล้วไปหาคำตอบพร้อมกัน

เจาะลึก! ความรู้เรื่อง "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย"

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งหากเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนดแต่ละประเภท ก่อนจ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ให้บริการทั้งผู้รับเงินที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

อย่างเช่น ผู้รับผลิตและขายส่งสินค้าที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ได้มีการเช่าสถานที่เพื่อใช้ในกิจการ หรือมีพนักงานที่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี กิจการมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 5% สำหรับเช่าสถานที่ และตามอัตราภาษีก้าวหน้าสำหรับค่าจ้างพนักงาน พร้อมนำเงินที่หักไว้ส่งกรมสรรพากร ตามแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

ลักษณะไหนที่ธุรกิจผลิตและขายส่งสินค้า ถูกหัก ภาษีหัก ณ ที่จ่ายบ้าง

สำหรับการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ของผู้ทำธุรกิจผลิตและขายส่งสินค้า สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะหลักๆ ดังนี้

1.รูปแบบการผลิตสินค้าเพื่อการขายและขายส่งสินค้า แบบไม่มีการว่าจ้างก็ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเป็นปกติอยู่แล้ว หรือมีผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างให้กิจการผลิตสินค้าที่มีรูปแบบและขนาด แตกต่างจากที่ผลิตขายเป็นปกติลักษณะนี้ยังถือว่าเป็นการผลิตสินค้าเพื่อการขาย จึงไม่อยู่ในกรณีที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

2.รูปแบบธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้า คือไม่ได้เป็นผู้ผลิตเพื่อการจำหน่ายเป็นปกติ แต่รับผลิตตามคำสั่งของลูกค้า หากไม่มีลูกค้าว่าจ้างก็จะไม่มีการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งการรับจ้างผลิตสินค้าดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นการรับจ้างทำของ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

กรณีศึกษาธุรกิจที่ผลิตและขายส่งสินค้า แบบไหนเสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายและเท่าไหร่บ้าง

กรณีศึกษาที่ 1 โดยปกติกิจการ ก. ได้มีการผลิตและจำหน่ายสกรู ตะปู นอตอยู่แล้ว และมีโรงงาน ข. มาสั่งให้ซื้อแม่พิมพ์โลหะสำหรับขึ้นรูปที่เป็นผู้ออกแบบแม่พิมพ์โลหะเอง แต่เนื่องจาก กิจการ ก. ไม่ได้ทำแม่ผลิตเอง จึงต้องไปจ้างกิจการ ค. เพื่อผลิตแม่พิมพ์โลหะให้อีกทอดหนึ่ง

ทั้งนี้ การที่โรงงาน ข. จ้างกิจการ ก. ให้ผลิตแม่พิมพ์โลหะให้ตามที่กำหนด แสดงว่ามีความมุ่งหวังให้งานสำเร็จเป็นสำคัญ จึงเข้าลักษณะเป็นการจ้างทำของ ซึ่งโรงงาน ข. จ่ายค่าจ้างให้กับกิจการ ก. จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% ด้วย

กรณีศึกษาที่ 2 กิจการที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายโต๊ะ เก้าอี้อยู่แล้ว และมีลูกค้าสั่งให้ผลิตโต๊ะตามรูปแบบที่ต้องการ ซึ่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามรูปแบบการสั่งผลิต ดังนี้

​- หากวัตถุดิบเป็นของผู้ผลิตเอง (ผู้ขาย) ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ถึงแม้ว่าจะมีการสั่งผลิตในแบบพิเศษ อย่างเช่นใส่ logo ลูกค้านิติบุคคลผู้ว่าจ้างไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เพราะจุดมุ่งหมายคือสินค้า

​- หากวัตถุดิบเป็นของลูกค้า ผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างต้องถูกหักภาษี ณ  ที่จ่าย ในอัตรา 3% เพราะถือเป็นค่าจ้างทำของ

กรณีศึกษาที่ 3 กิจการดำเนินการผลิตและขายส่งเสื้อผ้ามานานหลายปี และยังคงมีการผลิตและขายสินค้าอยู่เป็นปกติ จนช่วงหนึ่งได้มีลูกค้าสั่งให้ผลิตเสื้อตามแบบที่ลูกค้าต้องการ โดยให้ติดโลโก้บริษัทลงไปด้วย และลูกค้าเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบในการตัดเย็บบางส่วนให้เท่านั้น

ส่วนขั้นตอนกาตัดเย็บกิจการผู้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ลักษณะนี้จะถือเป็นการผลิตเพื่อขายเป็นปกติโดยไม่ได้รับจ้างผลิต จึงไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

สรุป...หากเลือกทำธุรกิจรับผลิตและขายส่ง ต้องวิเคราะห์ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามจุดประสงค์ของการผลิต
​จากข้อมูลและกรณีศึกษาข้างต้น เป็นเพียงแค่บางส่วนสำหรับหลักการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยประเด็นสำคัญเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของการทำธุรกิจด้านการผลิตและขายส่งสินค้า ต้องวิเคราะห์ถึงจุดประสงค์ของการผลิตว่าเข้าลักษณะเงื่อนไขใด เช่น ผลิตและขายสินค้าอยู่แล้ว และถูกว่าจ้างให้ผลิตโดยใช้วัตถุดิบของผู้ว่าจ้างเพียงบางส่วน ลักษณะนี้ในทางภาษีจะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ในกรณีที่รับจ้างผลิตโดยเฉพาะไม่ได้มีการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นปกติ ลักษณะนี้กิจการผู้รับจ้างผลิตจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเอง


อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting