สร้าง Soft Power ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย วิจารณ์ทีหลังดังกว่า
พูดกันเยอะว่า ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ Soft Power คืออะไร หมายความว่าอย่างไร จะทำแบบไหนถึงจะเป็นพลังอำนาจอันอ่อนนุ่มดึงดูดให้คนทั่วโลกสนใจความเป็นไทยเพิ่มขึ้น จนอยากมาประเทศไทย
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คืออะไร ซึ่งไม่ขอพูดซ้ำแบบ “มะพร้าวห้าวมาขายสวน” เพราะนักวิชาการและนักการเมืองต่างออกมาพูดอธิบายตีความจนดูเหมือนน่าสับสน แต่ก็เป็นมุมมองที่ต้องพูดคุยกัน ถกแถลงทางความคิดออกมาให้สังคมได้รับรู้ ย่อมสร้างองค์ความรู้ให้คนในประเทศ
เนื่องจากซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่อยู่เหมือนกัน นักวิชาการไทยก็มีคำอธิบายดีมีหลายท่าน โดยเฉพาะข้อมูลของ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามและแสดงทัศนะเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบเทียบกับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้
ดร.ฐณยศ มองบทบาทด้านซอฟต์พาวเวอร์ของงานบันเทิงเกาหลีใต้ กำลังเด่นชัดมากขึ้นทุกที หากยกกรณีประเทศไทย จะเห็นว่า ความบันเทิงเกาหลีใต้เป็นกลไกทางอำนาจที่กำลังถูกใช้เพื่อถักทอเครือข่ายเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองในยุคถัดไป ไทยเป็นหนึ่งในชาติยุทธศาสตร์ในสายตาเกาหลีใต้
มีการเปิดเกมรุกด้านความร่วมมือและความสนับสนุนต่าง ๆ เกาหลีใต้กำลังใช้ entertainment diplomacy ระดับสุดจะเข้มข้นกับไทย พอมองในกรอบซอฟต์พาวเวอร์ ก็ต้องคิดต่อไปว่า วาระข้างต้นมาได้อย่างไร กระบวนการมีอะไรบ้าง และเราจะได้หรือเสีย คำตอบพอมีอยู่ และไม่จำเป็นที่ศิลปินจะต้องรู้เรื่องพวกนี้ทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายหรือผู้ใช้อำนาจ กลุ่มทุนที่ขับเคลื่อนประเทศ
ทั้งนี้ ศิลปินหรือคนทำงานต่างชาติก็ไม่ได้สนใจว่างานเขาจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร เขาแค่ตั้งใจทำให้มันบริการผู้บริโภคให้ดีที่สุด ทำกันด้วยใจ การใช้งานนอกเหนือจากนี้ ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนอื่น แต่คนอื่นที่ว่า ถ้าอยากได้งานระดับนั้นก็ต้องเข้าใจและอำนวยการตามข้อเท็จจริง
ท่ามกลางการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย (Thai Soft Power) ผู้เขียนเกาะติดนโยบายของรัฐบาล โดยนายกฯเศรษฐ ทวีสิน อธิบายการสร้างพลังอำนาจในการดึงดูดคนจากทั่วโลก ต้องสร้างวัฒนธรรม สินค้า คุณค่าทางการเมือง ให้เกิด Soft Power ไม่มีทางลัด ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทางง่าย
ต้องใช้เวลากว่าที่จะสร้าง Ecosystem ให้แข็งแรงต่อทุกอุตสาหกรรม แต่ถ้าไม่เริ่มต้น จะไม่มีทางเกิดขึ้น ระดมทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรม วางแผนเพื่อพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไปด้วยกัน เป็นจุดเริ่มต้นของมิติใหม่ที่จะเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ เปิดความฝันของคนไทยอีกมาก พร้อมที่จะสร้าง Soft Power สร้างประเทศไทยให้มีพลังทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่า การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ถูกตั้งคำถามจากฝ่ายตรงข้ามว่า ดูสะเปะสะปะเพราะการแสดงความเห็นของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติบางราย ต่อกรณีการนิยามความหมายซอฟต์พาวเวอร์
ทว่า หากไม่ได้มองในแง่ร้ายหรือจับผิดจนเกินไป การทำงานตั้งคณะอนุกรรมการในด้านต่าง ๆ 11 สาขา 12 คณะ ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา พลันดูรายชื่อคนที่เข้ามาทำงานก็มีตัวจริงแต่ละสาขาอยู่เหมือนกัน
เมื่อประเมินด้วยความเป็นจริง การให้โอกาสคนใน 11 สาขา ขบคิดทำงานเสนอรัฐบาล มันคือความหวังของการพัฒนา การที่จะให้รัฐบาลทุ่มสร้างสาขาไหนสาขาหนึ่ง ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมบริการ เป็นการโฟกัสเฉพาะกลุ่มให้เป็นผลงาน อาจปิดโอกาสด้านอื่นๆ
ดังนั้น การติเรือทั้งโกลน ชักใบให้เรือเสีย อย่าเพิ่งรีบควรรอและเฝ้าดูอีกระยะเพื่อคนใน 11 สาขาอาชีพได้ทำงานก่อนคงไม่สายที่จะวิจารณ์.
- เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
บทความที่เกี่ยวข้องกับ soft power ทั้งหมด
บทความของนิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด