ข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์)
Soft Power ยังไม่ได้รับการแปลเป็นไทยอย่างเป็นทางการ ในเอกสารแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลแปลว่า “พลังสร้างสรรค์” ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกแง่มุมเนื่องจากเนื้อหาทางวิชาการบ่งว่า Soft Power เป็นแนวคิดที่มีความหมายกว้างมากและอาจนำไปใช้ได้ในหลายด้าน
การใช้แนวคิดนี้ที่ผ่านมา มักเกี่ยวโยงกับด้านการบรรลุเป้าหมายของมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐ ทั้งนี้คงเพราะผู้นำมาอธิบายอย่างกว้างลึกที่สุดเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอเมริกัน
เนื่องจากประเทศไทยมิใช่มหาอำนาจเช่นสหรัฐ ผู้มีเป้าหมายจะให้ชาวโลกเดินตาม ในแถลงการณ์ รัฐบาลจึงชี้บ่งแบบเจาะจงว่า
“จะสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรมและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้รัฐบาลจะสร้างงานสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power”
ข้อความนี้ชี้ชัดว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการนำวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและความสามารถของชาวไทยมาใช้ในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และอาจตีความหมายต่อไปได้อีกว่า มันเป็นการต่อยอดแนวคิด “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OTOP (One Tambon One Product) ของกลุ่มการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2544 เรื่องนี้พอเป็นที่คาดได้เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันสืบสายเลือดมาจากรัฐบาลนั้นโดยตรง
หากเราตีความหมายในแถลงการณ์ว่ารัฐบาลเจตนาดี ประเด็นหลักจะไปตกที่ด้านปัญญา ว่ารัฐบาลมีมากแค่ไหนที่จะนำนโยบายไปสู่เป้าหมายแบบคุ้มค่า ความคุ้มค่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศมีทุนจำกัด
ประสบการณ์เกี่ยวกับ OTOP ชี้ว่าความคุ้มค่าไม่น่าจะเกิด เนื่องจากรัฐบาลขาดปัญญาและเจตนาก็น่าสงสัย ซึ่งอ่านได้จากกระบวนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดขึ้น
ในงานซึ่งจัดขึ้นไม่นานหลังรัฐบาลเริ่มดำเนินการสนับสนุน OTOP ชาวบ้านจำนวนมากนำสินค้ามาเสนอ สินค้าเหล่านั้นชี้ให้เห็นปัญหาทันที เนื่องจากมีน้ำพริกจำนวนมากจากแทบทุกหมู่บ้าน
ผู้นำสินค้ามาเสนอมีภูมิปัญญาในการทำน้ำพริกแน่ แต่ตลาดมีขนาดจำกัดจึงไม่สามารถดูดซับน้ำพริกทั้งหมดได้ ส่งผลให้ชาวบ้านสูญเงินทุนที่พวกเขามักมีอย่างจำกัด ซ้ำร้ายบางคนอาจไม่มีจึงต้องแบกหนี้จากกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งในบางกรณีบานปลายต่อไปถึงภาระหนี้นอกระบบที่มักมีเงื่อนไขโหดร้ายมาก
ในงานต่อๆ มา มีสินค้าน่าสนใจเป็นพิเศษจำพวกกะแช่และน้ำตาลเมา ผู้ไปชมงานสนุกสนานกับการชิมเครื่องดื่มเหล่านั้น แต่การต่อยอดไม่เกิด เพราะถูกต่อต้านจากผู้ทำกิจการเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่
เมื่อเวลาผ่านไป กิจการเริ่มใหม่ที่ไปต่อได้จากนโยบายแบบลองผิดลองถูก หรือสุ่มหว่านแหออกไปโดยไม่มีปลาผุดด้วยต้นทุนสูงนี้จึงมีจำกัดมาก
จากวันนั้นถึงวันนี้ มีการใช้จ่ายที่ประจักษ์ว่าไม่น่าคุ้มค่า เช่น การสร้างอาคารถาวรขนาดใหญ่ในท้องถิ่นเพื่อแสดงและขายสินค้า OTOP อาคารเหล่านั้นมักต้องเปลี่ยนเป้าหมาย หรือกลายเป็นสถานที่นั่งตบยุง เพราะกิจการเดินต่อไปไม่ได้ ซ้ำร้ายในการก่อสร้างอาคารมีเรื่องราวเกี่ยวกับ “เงินทอน” เกิดขึ้น
นอกจากนั้นยังมีการจัดงานใหญ่ๆ เสมอ เพื่อเสนอสินค้าใหม่และขายสินค้าเดิมอีกด้วย งานเหล่านี้มีความคุ้มค่าหรือไม่ หรือใครต้องการให้จัดเพราะมีส่วนได้จากการใช้งบประมาณรัฐเป็นที่น่าสงสัยมาตลอด เมื่อมีงานใหญ่ๆ ก็มักเกิดการใช้งบรัฐเพื่อไป “ดูงาน” กันอย่างกว้างขวาง
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์นั้นชาวไทยมี จึงเป็นการดีที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้ฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาแล้วนำมาใช้เป็นฐานของการสร้างรายได้ในกรอบของพลังสร้างสรรค์
อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ชี้ชัดว่าคนของรัฐบาลและข้าราชการมักมีการ “สร้างสรรค์” ไปในทางที่เกิดประโยชน์ส่วนตน ในขณะที่มีความสูญเสียต่อส่วนรวมเกิดขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันสืบสายเลือดโดยตรงมาจากรัฐบาลปี 2544 ซึ่งมีประวัติในด้านการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและความฉ้อฉล จนถึงกับหลายต่อหลายคนถูกปรับจำนวนมาก ติดคุก หรือหนีคดีไม่มีความสุขอยู่ในต่างประเทศ
จึงเกิดความสงสัยไม่ขาดว่า รัฐบาลนี้มีปัญญามากแค่ไหน และเจตนาดีตามที่ตีความหมายไว้ข้างต้นจริงหรือไม่.