ทางรอดมหาวิทยาลัยยุค 'ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว' (1)
สองแรงหลักที่ขับเคลื่อนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันก็คือ เทคโนโลยีและโครงสร้างประชากร เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดทำให้เกิดอาชีพใหม่และองค์ความรู้ใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
มีงานวิจัยที่ชี้ว่าองค์ความรู้ใหม่ในหลายศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ซึ่งแปลว่าหากเราไม่ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เหล่านั้น เท่ากับความรู้ที่เรามีจะหดลงไปเหลือเพียง 50% ใน 2-3 ปี และเหลือเพียง 25% ภายใน 4-5 ปี
สอดคล้องกับงานวิจัยที่ชี้ว่าทักษะการทำงานจำนวนมากมีแนวโน้มจะล้าสมัย หรือใช้ประโยชน์ได้น้อยลงในช่วงเวลาเพียง 5 ปี นี่คือผลจากเทคโนโลยีที่ทำให้ “ความรู้อายุสั้น” ตรงกันข้ามกับโครงสร้างประชากรโลก ที่อายุขัยเฉลี่ยของคนมีแนวโน้มยาวขึ้นเรื่อยๆ มีผลการศึกษาที่ชี้ว่าประมาณ 50% ของเด็กที่เกิดหลังปี 2553 จะมีอายุยืนยาวแตะ 100 ปี
หากหันมาดูตัวเลขประมาณการประชากรไทยก็จะเห็นปัญหาใหญ่ 2 ประการ ประการแรก จำนวนประชากรไทยจะไปแตะจุดสูงสุดที่ 72 ล้านคนในปี 2572 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะไม่เพิ่มขึ้น แต่จะเริ่มลดลงเนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์รวมของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.3 เท่านั้น
ในขณะที่หากต้องการให้จำนวนประชากรคงที่ อัตราการเจริญพันธุ์รวมจะต้องเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.1 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะค่านิยมของคนในปัจจุบันไม่ต้องการมีลูก หรือมักจะมีแค่ 1 คนเท่านั้น
ประการที่สอง นอกจากจำนวนเด็กเกิดใหม่จะน้อยแล้ว จำนวนผู้สูงวัยก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเหตุที่อายุขัยคนไทยยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ โดยในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าเราจะมีจำนวนประชากรไทยที่มีอายุเกิน 100 ปีมากกว่า 2 แสนคน ซึ่งก็หมายถึงภาระหนักของทุกภาคส่วนในการจัดโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม สวัสดิการ และงบประมาณที่จะใช้ในการดูแลประชากรไทยในอนาคต
สิ่งที่ตามมาจากปรากฏการณ์ข้างต้นคือ จำนวนเด็กที่ลดลง จำนวนนักศึกษาก็จะลดลง มหาวิทยาลัยที่พึ่งพิงรายได้ค่าหน่วยกิตจากนักศึกษาจะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างคือวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐต้องปิดตัวหรือถูกควบรวมเกือบ 100 แห่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และปัญหามีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่จำนวนเด็กนักเรียนจะลดลงมากกว่า 15% จากอัตราการเกิดที่ยังคงต่ำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทักษะและความรู้ที่เรียนไปจากมหาวิทยาลัย ก็จะไม่เพียงพอให้ทำงานไปได้จนเกษียณอย่างแน่นอน
นอกจากนี้เทคโนโลยียังเปิดพื้นที่เรียนรู้ใหม่ๆ สำหรับแทบทุกศาสตร์ในหลากหลายรูปแบบที่เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นแหล่งผูกขาดองค์ความรู้ระดับสูง เพื่อการพัฒนาและอาชีพแต่เพียงแหล่งเดียวอีกต่อไป ส่งผลให้ถนนทุกสาย “ไม่” มุ่งสู่มหาวิทยาลัย ผู้คนสามารถหาความรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องง้อมหาวิทยาลัย
บางแหล่งเรียนรู้อาจจะมีความก้าวหน้าพัฒนาเรื่องใหม่ๆ ได้เร็วกว่ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป ยังไม่รวมปรากฏการณ์ที่องค์กรชั้นนำภาคเอกชนสมัยใหม่ลดการให้ความสำคัญกับปริญญาและวุฒิการศึกษา โดยสนใจว่า “ทำอะไรเป็น” มากกว่า “จบอะไรมา”
มหาวิทยาลัยจึงต้องไม่ใช่แค่ “สถานศึกษา” ที่รับนักศึกษาผ่านการสอบเข้าเพื่อมาเรียนรายวิชาต่างๆ ตามหลักสูตรที่ออกแบบไว้ล่วงหน้า ทั้งวิชาที่อยากเรียนและไม่อยากเรียน ทั้งวิชาที่ยังไม่รู้และวิชาที่รู้แล้ว ไม่ใช่รับเฉพาะเด็กมัธยมมาเรียนปริญญาตรี ไม่ใช่แค่รับคนทำงานมาเรียนต่อปริญญาโท/เอก หรือประกาศนียบัตร
หากแต่ต้องตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกเจเนอเรชันตั้งแต่วัยก่อนเข้ามหาวิทยาลัยไปจนถึงวัยหลังเกษียณ ซึ่งนี่ก็คือความหมายของการตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่เป็น “แพลตฟอร์ม” ที่เปิดให้เชื่อมโยงการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทั้งในและนอกห้องเรียน ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยที่ผู้เรียนยังไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นนักศึกษาด้วยซ้ำไป
เพราะสามารถเรียนสะสมไว้ล่วงหน้าได้ในระบบ “ธนาคารหน่วยกิต” และโดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าผู้เรียนจะต้องการปริญญาหรือไม่ เพราะนั่นควรเป็นทางเลือกให้ผู้เรียนตัดสินใจเองได้ มหาวิทยาลัยต้องกลายเป็นตลาดวิชา
หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดให้ผู้เรียนมาช้อปความรู้และทักษะเฉพาะที่สนใจ เพื่อนำไปปรุงเป็นอาชีพในสูตรที่แตกต่างสำหรับแต่ละคน แน่นอนคนที่คิดสูตรอาหารใหม่ๆ ไม่ออกก็สามารถช้อปตามเมนูที่มหาวิทยาลัยออกแบบไว้ให้ล่วงหน้าแล้วได้
เมื่อประมวลจากสถานการณ์ข้างต้น เรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่มหาวิทยาลัยในอนาคตต้องทำ จึงได้แก่
1) ลดการพึ่งพิงค่าหน่วยกิต ด้วยการปรับเปลี่ยนโมเดลการหารายได้ ซึ่งแน่นอนต้องเริ่มต้นจากการปรับโมเดลธุรกิจ หรือรูปแบบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยก่อน
2) ไม่เก็บผู้เรียนไว้ในมหาวิทยาลัยนานเกินไป ให้ออกไปเผชิญโลกอาชีพและการทำงานเร็วที่สุด ดังนั้น จึงต้องเลิกสอนเยอะๆ เลิกสอนแบบเผื่อ ประเภทเผื่อจะได้ใช้ในอนาคต ไปสู่การสอนเท่าที่จำเป็น แต่เปิดให้กลับมาเติมความรู้และทักษะเฉพาะส่วนที่ขาดหรือที่ต้องการเพิ่มเติมได้โดยสะดวกง่ายดาย
3) สร้างระบบประเมินเพื่อเปิดให้สามารถสะสมหน่วยกิตสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน และนอกมหาวิทยาลัยสำหรับทั้งนักศึกษา และผู้ที่สนใจเป็นนักศึกษาในอนาคต
4) เปิดกว้างรับผู้เรียนทุกเจเนอเรชันด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นที่สามารถเชื่อมต่อ และประสมประสานกันได้ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
5) เปิดช่องให้ผู้เรียนออกแบบสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และกำหนดชื่อปริญญาเองได้ ข้อสุดท้ายนี้อาจยังดูห่างไกลแต่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
เรื่องสำคัญทั้ง 5 เรื่องนี้จะได้เจาะลึกลงรายละเอียดกันในตอนต่อไป