"มหาวิทยาลัยไทย" บนทางแยกที่ท้าทาย รอด หรือ ดับ
มหาวิทยาลัยไทย จะเผชิญกับความยากลำบากนานัปการจากนี้เป็นต้นไป ด้วยสาเหตุหลักหลายประการ ตั้งแต่จำนวนนักศึกษาที่น้อยลงตามอัตราการเกิดของประชากรไทย ทำให้ตัวเลขการรับเข้าของหลายๆ สถาบันเริ่มมีปัญหาย้อนหลังไปหลายปีที่ผ่านมา
นั่นหมายถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มลดลง การวางแผนการขยายตัวและการลงทุนของมหาวิทยาลัย จึงจะเป็นปัญหาที่ต้องกลับมาขบคิดอย่างหนัก
สาเหตุประการต่อมาคือ ทัศนคติและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนไปว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบของชีวิตเสมอไป แม้ว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะยังไม่เห็นชัดนักในระดับปริญญาตรี แต่ในระดับการศึกษาที่สูงกว่านั้นตัวเลขการรับเข้าลดลงอย่างฮวบฮาบ
คนที่จบปริญญาตรีแล้วมีทางเลือกมากมายในการเรียนรู้ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพามหาวิทยาลัย เขาต้องการทักษะในการประกอบอาชีพมากกว่าใบปริญญา หรือไม่ก็ต้องการใบปริญญาที่ตนออกแบบเองได้ เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ตอบโจทย์ทักษะหรืออาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในปัจจุบัน
การเรียนรู้ตลอดชีวิตในปัจจุบันทำให้ความต้องการในการเพิ่มทักษะ (upskills) การปรับปรุงทักษะ (reskills) และการสร้างทักษะใหม่ (new skills) ของผู้คนมีมากขึ้น เขาต้องการเนื้อหาและวิธีการที่คล่องตัว ที่จะเติมเต็มความต้องการในแบบของตัวเอง
เพื่อจะตอบคำถาม อะไร เมื่อไร อย่างไร ที่ไหน ของตัวเอง ไม่ใช่ต้องเรียนตามข้อกำหนดแบบเดิมๆ ของมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้นเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก และแหล่งความรู้เหล่านี้จำนวนมากเป็นของฟรี
หลักสูตรหลังปริญญาตรีที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
มหาวิทยาลัยไทย จึงต้องปรับตัวอย่างแรงบนทางแยกที่ท้าทายของความรุ่งและรอด ไม่ใช่แค่ปรับหรือเปลี่ยนแต่ต้องยกเครื่องใหม่กันเลยทีเดียวทั้งหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน คณาจารย์ บุคลากร ไปจนกระทั่ง กลยุทธ์การแสวงหากลุ่มเป้าหมายและพันธมิตรใหม่ๆ
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะต้องอยู่บนความกล้าหาญของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ตระหนักว่าจะอยู่กันแบบเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว
ผู้เขียนและคณะผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ Technical University of Munich (TUM) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศเยอรมนี
จากการจัดอันดับของ QS World Ranking University 2023 มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ในลำดับที่ 37 ของโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบิลถึง 18 คน มีนักศึกษามากกว่า 50,000 คน และ 41% เป็นนักศึกษานานาชาติ
ในการพลิกมหาวิทยาลัย TUM ได้กำหนด “TUM Agenda 2030” หรือให้เวลา 7 ปีเพื่อการเปลี่ยนและวางกลยุทธ์การดำเนินการอย่างชัดเจน
ทุก Agenda ล้วนสนับสนุน Core Value ของมหาวิทยาลัย หนึ่งใน TUM Agenda 2030 ที่น่าสนใจมากคือเปลี่ยนจาก “คณะ” เป็น “กลุ่มศาสตร์” (Transforming the Faculties into a School system) นำมาซึ่งการควบรวมคณะให้เป็นกลุ่มความรู้แทน จาก 17 คณะ (Faculties) ได้กลายเป็น 7 กลุ่มศาสตร์ (Schools)
โดยเริ่มการปรับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 และสำเร็จในปี 2023 ใช้เวลาเพียง 3 ปี กลุ่มศาสตร์หรือ Schools ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ทำให้เกิดการบูรณาการอย่างเด่นชัดของศาสตร์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกัน ลดความซ้ำซ้อน ลดการเสียเวลาในการเรียนรู้ของผู้เรียน
ทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะความสามารถของนักศึกษา อันเป็นที่ต้องการและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน คณาจารย์สามารถข้ามกลุ่มศาสตร์ตามความสามารถ ความถนัด และความเชี่ยวชาญ
โดยไม่ต้องติดอยู่กับความเป็น “คณะ” ที่เหมือนอาณาจักรของใครของมันแบบอดีต ส่งผลให้บัณฑิตที่จบออกไปมีความสามารถเพิ่มขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
เบื้องหลังความสำเร็จของการพลิกมหาวิทยาลัยของ TUM คือการสร้างการมีส่วนร่วมและการสื่อสาร (Engagement & Communication Strategy) อันเป็นกลยุทธ์หลักที่ TUM นำมาใช้
โดยการจัดระดมสมองร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ต่าง ๆ มีการหารือเชิงลึกกับผู้มีส่วนได้เสียเฉพาะกลุ่ม เมื่อได้ทักษะและคุณลักษณะของบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการจึงเริ่มพูดคุยและสื่อสารกับทุกๆ คนในทุกคณะทั้งมหาวิทยาลัย
โดยจัดให้มีการประชุมเพื่อหารือทั้งกลุ่มใหญ่กลุ่มเล็ก มีการให้ข้อมูลและสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ มีการเข้าพบประชาคมทุกคณะทุกระดับ มีการตอบคำถามที่มาจากประชาคม จนกระทั่งได้แผนการพัฒนาร่วมกัน การควบรวมคณะทำให้เกิดชุดของทักษะและคุณลักษณะของบัณฑิตที่ผลิตได้อย่างชัดเจน
ที่เล่ามาข้างต้นเป็นเพียงแค่ 1 Agenda เท่านั้น TUM ยังจะต้องขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีกเพื่อให้ยังคงความหมายของมหาวิทยาลัยในความคิดคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่ง ต้องหันกลับมาพิจารณาตนเองเสียทีว่า ได้เวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเด็นสำคัญและยากสุดอยู่ที่เรื่องบุคลากร โดยเฉพาะกลุ่มครูบาอาจารย์ที่ดูจะเป็นเงื่อนไขที่ลำบากสาหัสอย่างยิ่งในบริบทของสังคมไทย เนื่องจากอยู่กันมานาน จนบางทียากที่จะรับการเปลี่ยนแปลง
แต่ในวันที่ยังคงมีทางเลือก มหาวิทยาลัยต้องตัดสินใจ อย่ารอจนถึงวันที่ไม่มีทางเลือก เพราะวันนั้นคงได้เห็นมหาวิทยาลัยล้มหายตายจาก หรือไม่ก็ถูกควบรวมครอบงำกิจการกันอย่างมากมาย.
บทความโดย
สุเปญญา จิตตพันธ์, สุเพชร จิรขจรกุล, ธนาธร ทะนานทอง
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)