Social Impact Bond (SIB) | ธราธร รัตนนฤมิตศร

พันธบัตรผลกระทบทางสังคม (Social Impact Bond : SIB) เป็นเครื่องมือนวัตกรรมทางการเงินที่นำมาใช้ทางสังคม สำหรับเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับกิจการที่ต้องการแก้ไขปัญหาทางสังคม

โดยเฉพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมและองค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรต่างๆ พันธบัตรผลกระทบทางสังคมจะอยู่ในรูปของสัญญากับภาครัฐที่ผูกพันว่าภาครัฐจะส่งมอบเงินให้แก่ผู้ลงทุนในพันธบัตร เมื่อเกิดผลลัพธ์ทางสังคมตามที่ตกลงกันไว้

องค์ประกอบหลักของระบบพันธบัตรผลกระทบทางสังคม คือ ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ระบุเป้าหมายทางสังคมและส่งมอบเงินให้กับนักลงทุน โดยเงินจะมาจากงบประมาณที่ภาครัฐสามารถประหยัดได้

จากโครงการของภาครัฐเองหากใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้ลงทุนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่ต้องการแก้ไขปัญหาทางสังคมพร้อมกับผลตอบแทนจากเงินลงทุน 

ซึ่งอาจต่ำกว่าการนำไปลงทุนในธุรกิจปกติ และองค์กรที่ให้บริการทางสังคม ซึ่งอาจเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชน เป็นผู้นำเงินลงทุนไปดำเนินการแก้ไขปัญหาสังคมตามสัญญาที่ทำไว้กับภาครัฐ

Social Impact Bond (SIB) | ธราธร รัตนนฤมิตศร

พันธบัตรผลกระทบทางสังคมถือเป็น “Outcomes-based contract” หรือสัญญาที่ส่งมอบตามผลลัพธ์ที่ได้ ภาครัฐสามารถกำหนดเป้าหมายผลกระทบทางสังคมที่ต้องการแก้ไข หรือตั้งตัวชี้วัดที่ต้องการ  

ตัวอย่างเช่น การลดอัตราการกระทำผิดซ้ำของนักโทษ การลดจำนวนคนป่วยที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาล การเพิ่มอัตราการเรียนต่อ การเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ของเด็กจากครอบครัวรายได้ต่ำ การลดจำนวนผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น

ซึ่งเมื่อองค์กรพัฒนาภาคเอกชนสามารถดำเนินกิจกรรมจนบรรลุผลตามตัวชี้วัดได้ ภาครัฐก็จะส่งมอบผลตอบแทนพันธบัตรให้กับนักลงทุน

เงินที่รัฐมอบให้ผู้ลงทุนพันธบัตรเกิดจากเงินงบประมาณที่ภาครัฐสามารถประหยัดได้จากโครงการต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

การดำเนินงานต่างๆ ของวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมและเคยมีประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในอดีต แต่ขาดแคลนเงินลงทุนจะสามารถได้เงินทุนจากผู้ลงทุนในพันธบัตร 

ส่วนผลตอบแทนต่อนักลงทุนขึ้นอยู่กับระดับผลลัพธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น พันธบัตรผลกระทบทางสังคมเริ่มตั้งโดยองค์กร "Social Finance" ของสหราชอาณาจักรมานับทศวรรษ และได้รับความสนใจอย่างสูงทั้งในอังกฤษและในต่างประเทศ โครงการแรกเรียกว่า "One*SIB" เริ่มใช้กับการแก้ไขปัญหาความยุติธรรมทางอาญา 

Social Impact Bond (SIB) | ธราธร รัตนนฤมิตศร

หลังจากที่แนวคิดเป็นที่แพร่หลายในอังกฤษและเริ่มมีการนำแนวคิดไปใช้ประโยชน์ สหรัฐอเมริกาก็ให้ความสนใจกับแนวคิดนี้ โดยเริ่มต้นจากให้เงินงบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์

เพื่อตั้งต้นใช้ในสหรัฐ ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่า "Pay for Success Bonds" ต่อมายังมีการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในประเทศอื่นๆ อีกเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย เป็นต้น

พันธบัตรผลกระทบทางสังคม เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเร่งกระบวนการการนำเงินทุนที่ไม่ใช่ของภาครัฐ มาแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น และมีแหล่งเงินทุนที่แน่นอนมากขึ้นเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม 

เช่น ในโครงการเกี่ยวกับยุติธรรมทางอาญา สุขภาพ การติดยา เด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้สูงอายุ โดยที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้จ่ายเงินเพื่อการแทรกแซงปัญหาในช่วงเริ่มแรก (early intervention) มีน้อยเกินไป

ทำให้โครงการต่างๆ ขาดแคลนงบประมาณไปแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก ส่งผลให้เกิดผลทางลบต่างๆ ที่ต้องเยียวยาที่ปลายเหตุ

พันธบัตรผลกระทบทางสังคมเริ่มใช้กับโครงการลดอัตราการกลับมาจำคุกซ้ำซากของนักโทษอันเกิดจากการกระทำผิดซ้ำที่เรือนจำ Peterborough โดยเริ่มจากการระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อตั้งเป็นกองทุนสำหรับโครงการป้องกันไม่ให้นักโทษกระทำผิดซ้ำ 

โครงการดังกล่าวดำเนินการภายในเรือนจำและในชุมชน โดยทำสัญญาไว้กับกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ ว่าหากโครงการสำเร็จ เช่น ลดอัตราการทำผิดซ้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงยุติธรรมจะจ่ายเงินให้เป็นผลตอบแทนการลงทุน เช่น 7.5% เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ในสหรัฐใช้ใน 7 โครงการ เช่น โครงการการพัฒนาแรงงาน การศึกษา การกระทำผิดของเด็กและเยาวชน การดูแลเด็กพิการ เป็นต้น ภายใต้โครงการดังกล่าว องค์กรทางการเงินกับรัฐบาลจะทำสัญญากัน

โดยระบุจำนวนประชากรที่จะช่วยเหลือ ผลลัพธ์ที่ต้องการ และวิธีการที่ใช้ ตลอดจนการจ่ายผลตอบแทน ตัวกลางระดมทุนจากนักลงทุนและมอบเงินลงทุนกับผู้ให้บริการ 

เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องและมีประวัติความสำเร็จในอดีต เพื่อจัดทำโครงการเพื่อมุ่งเป้าหมายตามที่ระบุในสัญญา รัฐนิวยอร์กได้ออกพันธบัตรเพื่อการฟื้นฟูนักโทษมูลค่า 9.6 ล้านดอลลาร์

ดำเนินการโดย Osborne Association โดยมีโกลด์แมนแซคส์เป็นผู้ซื้อพันธบัตร และให้ผลตอบแทนกับนักลงทุนหากอัตราการกระทำผิดซ้ำลดลง

พันธบัตรผลกระทบทางสังคมมาเป็นแนวคิดที่ชาญฉลาด ใช้กลยุทธ์แก้ไขปัญหาสังคมตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกที่ใช้เงินทุนไม่มาก ดีกว่าต้องมาแก้ไขที่ปลายเหตุเมื่อปัญหาลุกลามใหญ่โต โดยวางกลไกให้นักลงทุนเพื่อสังคมเป็นผู้ออกเงินลงทุนไปก่อน 

เพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชนมีเงินทุนเพียงพอในการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกัน ทำให้ประหยัดงบประมาณของรัฐที่จะมาแก้ไขที่ปลายเหตุ งบประมาณที่ประหยัดได้ส่วนหนึ่งก็นำมาเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน 

ดังนั้น ความเสี่ยงหลักจึงอยู่ที่นักลงทุน หากโครงการไม่สำเร็จ ภาครัฐก็ต้องเสียเงินงบประมาณแก้ไขปัญหาสังคมดังกล่าวอยู่แล้ว แต่หากโครงการสำเร็จ ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ นักลงทุนได้ผลตอบแทนการลงทุน 

และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำกิจกรรมทางสังคมก็ได้บรรลุเจตนาของตน สังคมโดยรวมได้รับประโยชน์จากสภาพปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นและการใช้เงินภาษีของประชาชนก็มีประสิทธิภาพ