‘ปูทางเท้า-วางท่อประปา-ปักเสาไฟ’ ทำอย่างไรให้เสร็จพร้อมกัน
เชื่อว่าทุกคนเคยหงุดหงิดรำคาญจากสภาพจราจร รถติดหนักเมื่อมีการสร้างถนนหรือปูทางเท้าในเมือง โดยเฉพาะเมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่นานก็มีการมาขุดถนนเพื่อวางท่อระบายน้ำ ท่อสัญญาณสื่อสารหรือแม้กระทั่งรื้อทำทางเท้าใหม่ แบบที่เรียกว่า “ทำแล้วทุบ ทุบแล้วทำ” ที่แม้จะไม่บ่อยนักแต่ก็ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีอคติและตั้งคำถามว่ามาทำพร้อมๆ กันไม่ได้หรือ จะได้เสร็จทีเดียว เดือดร้อนและอึดอัดครั้งเดียว
ในการก่อสร้างบ้านของคนทั่วไปที่ง่ายกว่าการสร้างสาธารณูปโภคเช่นข้างต้น จะเริ่มด้วยการมีช่างมาลงเสาเข็ม ทำเสา แล้วจึงไปทำคาน ทำผนัง ทำหลังคา ทาสี ไล่ไปตามลำดับ หากเราต้องการให้บ้านเราออกมาสวยงาม เราย่อมไม่อยากเห็นท่อประปาโผล่ลอยไปลอยมาตามพื้นหรือผนังที่จะลดความงามของบ้านลงไป เราต้องเอาท่อประปานั้นฝังไว้ในเสาหรือในผนังตั้งแต่แรก ทำให้บ้านเมื่อสร้างเสร็จจะไม่มีท่อประปาโผล่มาให้รกตา
นั่นหมายถึงว่าช่างประปาจะต้องเข้ามาหน้างาน และทำร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ระหว่างการทำเสาและผนังนั้น นี่คือการวางแผนและการบูรณาการการทำงานของช่างต่างอาชีพ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
อีกกรณีหนึ่ง เมื่อการก่อสร้างใกล้เสร็จต้องมีช่างทาสีมาทาสีบ้าน ถ้าเราปล่อยให้ช่างทาสีที่สมมุติว่าเป็นสีน้ำเงินไปก่อน แล้วให้ช่างไฟฟ้ามาเดินสายไฟภายหลัง การทำเช่นว่านี้เมื่อเสร็จจะทำให้สีน้ำเงินที่ผนังและเพดานนั้นเลอะหรือมีรอยด่าง รวมทั้งสีขาวของเส้นสายไฟก็จะไม่กลมกลืนไปกับสีน้ำเงินของผนังหรือเพดานนั้น สรุปง่ายๆ คือไม่สวย จึงต้องเสียเวลาทาสีใหม่ วิธีการนี้จะตรงข้ามกับกรณีข้างต้น คือไม่มีการบูรณาการของงานช่างต่างอาชีพ ทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลาตลอดจนอารมณ์
หากเรามาพิจารณาต่อถึงการทำงานของเทศบาล บางครั้งเราจะเห็นถึงความไม่บูรณาการของงานช่างอย่างที่พูดไว้เมื่อตอนต้น ทำให้จราจรติดขัด เป็นเหตุของความเดือดร้อนรำคาญ เหตุผลของการไม่บูรณาการกันตามที่ควรเป็นนั้นเป็นเพราะหน่วยราชการที่ทำงานสาธารณูปโภค เช่น ทำถนน ทำทางเท้า วางท่อประปา ปักเสาไฟฟ้า ร้อยสายสัญญาณสื่อสาร ฯลฯ เป็นหน่วยงานที่สังกัดกันคนละสำนัก คนละกรมหรือกระทรวง หรือคนละรัฐวิสาหกิจ มีนายคนละคน กฎหมายคนละฉบับ ทำงานก้าวล่วงกันไม่ได้
ในความเป็นราชการนั้น การที่จะมีโครงการลงไปทำงานในพื้นที่หนึ่งๆ ได้จริง ต้องเริ่มตั้งแต่การทำโครงการเสนอขออนุมัติ การตั้งและของบประมาณ การเปิดประมูลได้ผู้รับเหมา ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลานาน นั่นทำให้การเข้าหน้างานของแต่ละหน่วยงานที่ควรต้องบูรณาการแผนงานระหว่างกันในการทำงาน จึงเป็นไปได้มากที่จะมาลงมือปฏิบัติงานจริงได้ไม่พร้อมกัน และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำแล้วทุบ ทุบแล้วทำ ดังที่พบเห็นกันอยู่บ้าง
ในโครงการการก่อสร้างของเอกชนเช่น คอนโดมิเนียม วิธีมาตรฐานที่ทำกันจะมีผู้รับเหมาการก่อสร้างใหญ่เป็นหลัก แล้วผู้รับเหมาไฟฟ้า ประปา เครื่องปรับอากาศ ระบบบำบัดน้ำเสีย จะต้องมาเป็นผู้รับเหมาย่อย รอการประสานงานและฟังคำสั่งจากผู้รับเหมาหลักเพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างช่างต่างสาขาเพื่อให้งานราบรื่น ไม่เสียเวลาและงบประมาณโดยใช่เหตุ
ในการทำงานของเมืองต่างๆ ทั้งเทศบาลและเขตปกครองพิเศษแบบพัทยาหรือกรุงเทพมหานคร ต่างก็พยายามใช้หลักการการบูรณาการที่ว่านี้เช่นกัน
นายกเทศมนตรีของเมืองแต่ละเมืองหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เป็นเจ้าของพื้นที่ จะเปรียบเสมือนเป็นผู้รับเหมาหลัก ต้องเป็นผู้เรียกประชุมและวางแผนรวมทั้งบูรณาการแผนของผู้รับเหมาย่อย ซึ่งในที่นี้ก็คือการประปาและการไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวงที่สังกัดกระทรวงคมนาคม ระบบสัญญาณสื่อสารในการกำกับดูแลของ กสทช. ฯลฯ มาวางแผนทั้งแผนงานทางช่างและแผนงานงบประมาณ ให้งานของทุกหน่วยมาลงพื้นที่และบรรจบกันได้พอดีแบบการสร้างบ้านหรือคอนโดดังที่อธิบายมาในตอนต้นเรื่อง
นั่นเป็นภาคทฤษฎี แต่ในภาคปฏิบัติ ทุกคนก็ยังเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ทุกครั้ง มาถึงวันนี้จึงอยากขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันคิดใหม่ทำใหม่ จะต้องแก้กฎหมายก็ต้องทำ! เพื่อให้ “ผู้รับเหมาหลัก” สามารถสั่งการ “ผู้รับเหมาย่อย” ได้จริงและทำให้เกิดสัมฤทธิผลได้จริง และแต่ละผู้รับเหมาย่อยนั้นก็ต้องทำให้ได้จริงด้วย จะอ้างโน่นนี่แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป
การก่อสร้างหรือติดตั้งระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก หากไม่บูรณาการกันจนทำให้เกิดจราจรติดขัดเกินจำเป็น ย่อมก่อให้เกิดราคาค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรต้องจ่าย ทั้งจ่ายเป็นเม็ดเงินตรงๆ และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจอย่างมาก ยิ่งถ้าเอาผลกระทบทางสังคมมาร่วมประเมินด้วยการลงทุนลงแรงแก้ไขประเด็นนี้ให้ได้ยิ่งมีความคุ้มค่ามากขึ้นเป็นทวีคูณ
ถ้าทุกหน่วยงานรัฐตระหนักอย่างจริงจังถึงผลเสียที่มีอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของเมืองดังที่ว่า ทุกหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน และพลิกมาทำงานเป็นแบบบูรณาการให้งานเสร็จได้พร้อมกัน ไม่มีการทำแล้วทุบ ทุบแล้วทำอีกต่อไป
ทั้งนี้ หน่วยงานพวกนั้นต้องจัดระบบในองค์กรขึ้นเสียใหม่ เช่น จัดระบบให้มีงบกลางสำรองไว้มากพอจนแก้ไขปัญหาได้ทันที หรือกำหนดเกณฑ์ขึ้นใหม่ให้ผู้บริหารระดับรองลงมาจนถึงระดับปฏิบัติการสามารถอนุมัติและสั่งการได้เองโดยเร็ว หรืออื่นๆ ที่ทุกหน่วยงานกลุ่มนั้นต้องช่วยกันคิดขึ้น เพื่อให้งานก่อสร้างและติดตั้งของต่างหน่วยงานสามารถทำเสร็จได้พร้อมกันในครั้งเดียวได้จริง
การทำให้โครงการสาธารณูปโภคเหล่านี้เสร็จโดยเร็วและไม่มีการหวนกลับมาทำซ้ำอีกจึงเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือกของเมืองอีกต่อไป สมควรที่ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่นต้องหาทางร่วมกันแก้ไขปรับปรุงให้เกิดขึ้นได้จริง ถ้าต้องแก้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ก็ต้องทำครับ