กระแสบริโภคน้อย

เพื่อไม่ให้เกิดโรคคลั่งซื้อคือ “เดินสายกลาง” นะคะ สำหรับผู้ที่เกิดอาการของโรคแล้วก็ต้องตัดใจ ควบคุมตัวเองให้ “ซื้อน้อย/หยุดซื้อ” เป็นการรักษาเบื้องต้นไปก่อน และช่วงที่เศรษฐกิจของโลกยังมีความไม่แน่นอน การระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อเก็บเงินไว้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีค่ะ
ท่านอาจจะได้ยินคนพูดถึงกระแส “Low Buy, No Buy” หรือ “ซื้อน้อย/หยุดซื้อ” ในโลกโซเชียล กระแสนี้มีมาตั้งแต่กลางปี 2567 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการ้อนแรง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูง มีการใช้จ่ายอย่างสะพัดโดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว จึงเกิดการเรียกร้องจากกลุ่มผู้เป็นห่วงเรื่องการเงินส่วนบุคคลว่าคนทั่วไปที่หลงไปตามกระแสการบริโภค จะลำบากเมื่อยามแก่ตัว หากว่าตอนนี้เขาบริโภคจนเกินควร
วิธี “Low Buy, No Buy” คือ ยาที่ใช้รักษาโรคคลั่งซื้อ เหมาะสำหรับเอาไว้ใช้กับคนป่วย คือ คนที่เป็นโรคคลั่งซื้อ ซื้อจนติดเป็นนิสัย บางครั้งก็ซื้อเพลินจนกลับมาถึงบ้าน จึงทราบว่า เคยซื้อมาแล้ว
ถ้าเป็นการซื้อตามแรงกระตุ้น หรือ Impulse buying คือไม่ได้วางแผนล่วงหน้าไว้ว่าจะซื้อ แต่เผอิญเขาจัดโปรโมชั่นพิเศษ ก็เลยซื้อมา หากเป็นบ้างเป็นครั้งคราว ยังไม่ถือว่าป่วยค่ะ จะป่วยก็ต่อเมื่อซื้อจนหยุดไม่ได้ ก่อนซื้อไม่ได้ไตร่ตรองก่อน และเป็นตลอดเวลา
การซื้อของหรือบริการโดยไม่จำเป็น ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน และไม่ได้ดูงบประมาณที่ตนเองมี ใช้เวลากับกิจกรรม การซื้อมากเกินควร อย่างนี้ถือว่าป่วยเป็นโรค “คลั่งซื้อ” ซึ่งการนำเกณฑ์ “ซื้อน้อย/หยุดซื้อ” มาใช้เป็นวิธีรักษา ถือว่าถูกต้อง
ดิฉันไปค้นคว้าดู ทางการแพทย์ มีกล่าวถึงโรคนี้โดยเรียกว่า CBD (Compulsive Buying Disorder) โดยผู้ป่วยจะควบคุมตัวเองไม่ได้เวลาอยากซื้อ ข้อมูลของอาการซึ่งได้จากรามาชาแนล บอกว่า “ผู้ป่วยจะรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจะจับจ่ายเกินความจำเป็น หลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีของเดิมๆเต็มไปหมด รวมถึงปัญหาอื่นๆตามมา เช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ต้องหลบๆซ่อนๆ เวลาซื้อของเหล่านั้น เป็นต้น” หากท่านมีอาการเหล่านี้ ดิฉันแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ค่ะ
แต่หากเป็นคนทั่วไป ขอแนะนำให้ฝึกซื้อสินค้าหรือบริการให้อยู่ในงบประมาณที่เราได้จัดสรรไว้อย่างสม่ำเสมอ ทำจนเป็นนิสัย ถือเป็นการสร้างวินัยที่ดีกว่าวิธีหยุดซื้อเป็นเวลานานค่ะ และไม่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเสียหายด้วย เพราะกระแส “ซื้อน้อย/หยุดซื้อ”นี้ มาแรงพอสมควรในช่วงปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะตั้งปณิธานในปีใหม่ ก็เลยตั้งปณิธานว่าในปีนี้จะ “ซื้อน้อย/หยุดซื้อ” ทำให้ธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ขายและผู้ผลิต ต่างหวาดเสียว และกุมขมับไปตามๆ กัน
หากเราเดินสายกลาง ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คนมีมากก็ใช้จ่ายมาก คนมีเงินน้อยก็ใช้จ่ายน้อยให้ได้สมดุลกับรายได้ เราจะไม่รู้สึกผิด (ไม่เข้าข่ายการป่วย) สภาพคล่องในการใช้จ่ายของเราก็ไม่ติดขัด และเราสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ เศรษฐกิจก็จะเดินไปได้ตามศักยภาพ
ลองสังเกตดูนะคะ ว่าท่านมีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ โดยปัญญาประดิษฐ์ได้รวบรวมลักษณะของคนเป็นโรคคลั่งซื้อ หรือ Shopaholic และดิฉันเสริมตัวอย่างให้ดังนี้
1. ใช้เงินมาก และซื้อโดยไม่จำเป็น โดยมากจะซื้อเกินกว่าที่จะสามารถจ่ายได้ และซื้อของที่ไม่ต้องการใช้
2. ซื้อตามแรงกระตุ้น โดยไม่ได้วางแผนซื้อไว้ก่อน อาจมีลด แลก แจก แถม ที่จูงใจ ยิ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีการทำการตลาดโปรโมต เริ่มจาก 11/11 หรือวันคนโสด ในประเทศจีน ซึ่งมีสถิติการขายเพิ่มขึ้นทุกปี จนบางคอนโดถึงกับไม่มีที่เก็บพัสดุที่เอามาส่งให้ผู้อาศัย ต้องกองจนล้นออกมาเต็มตึก หลังจากนั้น จึงมีการตั้งวันซื้อของของทุกเดือน เป็นวันที่เลขเหมือนเลขเดือน คือ 2/2, 3/3, 4/4 ฯลฯ ทำให้ทั้งคนซื้อและคนขายต่างก็รอให้ถึงวันนั้น และเป็นไปได้มากๆว่า ผู้ซื้อจะซื้อโดยไม่ได้มีความต้องการ หรือยังไม่ต้องการ สารภาพว่าดิฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น
3. ซื้อตามอารมณ์ เช่น อารมณ์ดีก็ซื้อ เศร้าก็ซื้อเพื่อผ่อนคลาย มีความสุขก็ซื้อเพื่อฉลอง เบื่อก็ซื้อเพื่อแก้เบื่อ
4. ควบคุมการใช้จ่ายไม่ค่อยได้ คือหยุดไม่ได้ แม้จะรู้ว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินในภายหลัง
ปัญญาประดิษฐ์รวบรวมข้อมูลมาว่า ผู้ที่เป็นโรคคลั่งซื้อ มักจะประสบกับปัญหาตามมา ทั้งปัญหาทางการเงิน ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด และอาจเกิดความเครียด หรือกระวนกระวาย
วิธีแก้ไข นิสัย “คลั่งซื้อ” นอกจากการกำหนดงบประมาณเพื่อให้เราเดินตามกรอบงบประมาณที่เราตั้งไว้ แล้ว ยังควรลดโอกาสเกิดการคลั่งซื้อ วิธีการง่ายๆ คือ ลดความถี่ในการไปงานแสดงสินค้า หรืองานลดราคาต่างๆ และหากต้องไป ควรมีคนไปด้วย เพื่อให้มีสติที่สองที่คอยเตือน
นอจากนี้ เวลาจะใช้จ่าย ให้นึกถึงความยากลำบากในการหาเงินรายได้ เพราะฉะนั้น จะใช้ทั้งทีควรจะคุ้มค่าและได้ประโยชน์ นึกถึงที่วางและนึกถึงที่เก็บ เรื่องนี้คนญี่ปุ่นเก่งมากค่ะ เพราะความที่บ้านมีขนาดเล็ก พื้นที่ใช้สอยน้อย เขาจะไม่ตุนของใช้ครั้งละมากๆ จะซื้อเมื่อของเดิมใกล้จะหมด และหากของใหม่มา จะต้องกำจัดของเก่าไปด้วย
ข้อสรุปเพื่อไม่ให้เกิดโรคคลั่งซื้อคือ “เดินสายกลาง” นะคะ สำหรับผู้ที่เกิดอาการของโรคแล้วก็ต้องตัดใจ ควบคุมตัวเองให้ “ซื้อน้อย/หยุดซื้อ” เป็นการรักษาเบื้องต้นไปก่อน และช่วงที่เศรษฐกิจของโลกยังมีความไม่แน่นอน การระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อเก็บเงินไว้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีค่ะ
ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพการเงินและสภาพคล่องให้ดีด้วยนะคะ