‘เป้’ สร้างชีวิตเป็นสุข

‘เป้’ สร้างชีวิตเป็นสุข

คอลัมน์ “อาหารสมอง” พยายามปรุงอาหารที่แปลกใหม่ มีรสชาติกลมกล่อมและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ วันนี้ขอเสนอ “อาหารญี่ปุ่น” ที่มีความแปลกในตัวของมันเพราะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมญี่ปุ่น

เราจะพูดกันถึงเป้ใส่หนังสือของเด็กนักเรียนชั้นประถมญี่ปุ่นที่มีชื่อเรียกว่า “randoseru” (เเรนโด-เซ-หรึ)

เราเห็นภาพเด็กนักเรียนญี่ปุ่นตัวเล็กๆ แบกเป้ใส่หนังสือที่หน้าตาเหมือนกันทั้งหมดไปโรงเรียนจากภาพยนตร์ การ์ตูนหรือจากการไปท่องเที่ยว ไม่น่าเชื่อว่าเด็กๆ ทำกันแบบนี้ต่อเนื่องมากว่า 100 ปีแล้ว “randoseru” มาจากภาษาดัตช์ว่า ransel ซึ่งหมายถึงเป้แบกของบนหลัง (backpack) 

เด็กเริ่มใช้เป้เเบบนี้ไปโรงเรียนกันตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 19 ในช่วงสมัยเมจิ เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ความทันสมัยยอมรับวัฒนธรรมตะวันตก หลังจากอยู่ในยุคตัดขาดจากโลกภายนอกของยุคซามูไรมากว่า 250 ปี

เป้นี้เลียนแบบเป้แบกของของทหาร โดยใช้ประกอบเครื่องแบบนักเรียนซึ่งเริ่มในปี 1885 เป้ได้รับอิทธิพลจากการริเริ่มโดย Gakushuin ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานพระราชวงศ์ ต่อมาในทศวรรษ 1960 เด็กประถมก็ใช้ randoseru กันทั่วประเทศ และสืบมาจนถึงทุกวันนี้

randoseru มีลักษณะเป็นเป้สี่เหลี่ยมเหมือนกล่องเเข็ง มีหูครอบปิดด้านบน ภายในมีช่องใส่หนังสือและอุปกรณ์การเรียน มีขนาด 30x2318 ซ.ม. มีสายปรับให้เข้ากับไหล่ 

แม้ว่าเป้เปล่าจะหนักถึง 1.2 กิโลกรัมแต่ก็สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงน้ำหนักบนหลังของเด็ก และสอดคล้องกับสรีระอย่างที่ฝรั่งเรียกว่าคำนึงถึง ergonomics (ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับพลังงาน หากหมายถึงการเกี่ยวพันกับการออกแบบเพื่อประสิทธิภาพและความสบายจากสิ่งแวดล้อมของการทำงาน) 

กล่าวคือน้ำหนักจะกระจายไปทั่วหลังเพื่อไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งแบกรับภาระ และที่สำคัญคำนึงถึงน้ำหนักหนังสือและอุปกรณ์ที่เด็กประถมสามารถแบกได้ ปัจจุบันมี 2 ขนาดคือใหญ่ขึ้นเล็กน้อยพอใส่แฟ้มขนาด A4 และขนาดปกติ

การผลิต randoseru เป็นเรื่องใหญ่เพราะผลิตด้วยมือทั้งหมด เดิมเป็นหนังแท้ ปัจจุบันเป็นหนังเทียมชนิดดี และวัสดุวิทยาศาสตร์อื่นบ้าง การผลิตทำอย่างประดิดประดอยเพราะมันมีความหมายในเชิงวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่นมากกว่าการเป็นเพียงเป้ใส่หนังสือไปโรงเรียน

เด็กชายจะใช้เป้สีดำ เด็กหญิงสีแดง การเริ่มใช้เป้นี้ในชั้นประถมหนึ่งเปรียบเสมือนการเริ่มต้นเดินทางของการเรียนหนังสือและจะใช้ไปตลอด 6 ปีของชั้นประถมศึกษา ตามประเพณีปู่ย่าตายายมักเป็นคนซื้อให้เป็นของขวัญสำคัญที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่จากความคงทนและคุณภาพ ดังนั้น ราคาจึงไม่ถูก มีตั้งแต่ 30,000-100,000 เยน (7,500-25,000 บาท)

ปัจจุบันมีสีสันอื่นบ้าง และอาจมีลายตัวการ์ตูนซึ่งแตกต่างไปจากเป้ดั้งเดิมที่มีเพียงสีดำและสีแดง แต่ถึงอย่างไรในปัจจุบันเกือบทั้งหมดก็ยังเป็นสองสีนี้

การใช้ randoseru ของเด็กประถมที่มักมีการถ่ายภาพในวันเปิดเรียน โดยถ่ายคู่กับพ่อแม่ปู่ย่าตายายคือสิ่งที่ทางวิชาการเรียกว่า rite of passage (พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน) กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งสู่อีกสภาวะหนึ่ง เช่น การเปลี่ยนสถานะของบุคคล ในบ้านเราก็มีพิธีตัดจุกหรือบวชเพื่อแสดงสถานะของการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

อินเดียนแดงบางเผ่าให้เด็กผู้ชายที่เริ่มเป็นหนุ่มผูกเชือกที่เอวแล้วกระโดดหน้าผาเพื่อพิสูจน์ความกล้าหาญของคนที่จะเป็นผู้ใหญ่ (พัฒนามาเป็น bungee jumping ในปัจจุบัน)

นอกจากการใช้ randoseru แล้ว ตอนเรียนจบชั้นอนุบาลจะขึ้นประถม ญี่ปุ่นก็มีการทำพิธีเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อเตือนให้รู้ว่าเริ่มจะเข้าสู่การเรียนรู้อย่างจริงจังและการมีความรับผิดชอบ ในการไปโรงเรียนของเด็กเล็ก โรงเรียนจะห้ามขับรถไปส่งลูกเพราะต้องการให้เดินไปเองกับเพื่อนๆ ที่มีเด็กโตกว่าเป็นผู้กำกับ พร้อมกับสะพาย randoseru ที่หน้าตาเหมือนกัน 

เขาต้องการให้เด็กต่อสู้กับความยากลำบากด้วยความอดทนและความบากบั่นมานะ การเดินก็เป็นระยะทางประมาณไม่เกิน 2 กิโลเมตร  คนขับรถจะระวังมากในช่วงเวลานี้เพราะจะมีเด็กเดินไปโรงเรียนกัน

ในสังคมญี่ปุ่นนั้นความกลมกลืนกัน (harmony) และการคล้อยตาม (conformity) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเชื่อว่าทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยและอยู่กันได้อย่างกลมกลืน มีปัญหาน้อยกว่าการมีความหลากหลาย เเละส่วนหนึ่งมาจากการมีวินัยผ่านการใช้ “randoseru” ที่เหมือนกัน

ในตอนแรกก็เชื่อว่าเป็นความตั้งใจเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมดังกล่าว และต่อมาก็กระทำสืบต่อกันมาโดยโรงเรียนไม่เคยมีกฎเกณฑ์บังคับให้ใช้เป้ในลักษณะเดียวกัน (ตอนโควิด-19 ระบาด ทางการญี่ปุ่นไม่เคยประกาศให้ใส่มาส์ก แต่ทุกคนก็ใส่กันเองอย่างพร้อมเพรียง)

สังคมญี่ปุ่นไม่ต้องการคนที่แปลกแยก คิดหรือทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ เพราะทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง (เพราะอาจบ่อนเซาะความสงบเรียบร้อยของสังคม) เมื่อความรู้สึกของสังคมเป็นเช่นนี้ เด็กจึงถูกบ่มเพาะให้เคารพการคล้อยตาม การใช้ rondoseru คือหลักฐานชิ้นหนึ่ง

อย่างไรก็ดีมีอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจมองได้ว่าการใช้ randoseru เป็นสาเหตุอันหนึ่งของการบ่มเพาะการคล้อยตามของสังคมก็เป็นได้ ทั้งสองแง่มุมอาจถูกคนละส่วนเพราะ randoseru อาจเป็นได้ทั้งผลพวงของการมีสังคมคล้อยตาม และเป็นเหตุของการสร้างสังคมคล้อยตามด้วย

สังคมญี่ปุ่นมี rondaseru ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้เหมือนกันมาตลอด 3-4 ชั่วคน หรือกว่านั้น สังคมไทยเรามีสิ่งใดที่ลูกหลานปัจจุบันใช้ร่วมกับผู้ใหญ่หลายชั่วคนก่อนหน้าบ้าง อย่าบอกนะครับว่าสิ่งที่โดดเด่นสืบทอดกันมาคือ “นิทานศรีธนญชัย”