คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์

คัมภีร์ใบลาน พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เกือบเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่หล่นหายไปในประวัติศาสตร์ หากปราศจาก สุพิชัย พิมพ์ศิริจันทร์ ผู้ใช้เวลาเพียรอ่านคัมภีร์ใบลานที่ค้นพบ 120 ผูก นานกว่า 3 ปี

กุฏิเรือนแถวทิศตะวันออก เป็น 1 ใน 5 อาคารจัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ประกอบไปด้วย ห้องโถงที่ประทับ หอพระกรรมฐาน หอไตร กุฏิเรือนแถวทิศตะวันออก และกุฏิเรือนแถวทิศตะวันตก

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ นิทรรศการจัดแสดงภายในกุฏิเรือนแถวทิศตะวันออก

หากเดินเข้าไปในกุฏิเรือนแถวทิศตะวันออก อันเป็นส่วนจัดแสดงเอกสารโบราณ ประกอบไปด้วย คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย พระไตรปิฎก พระนิพนธ์เทศนาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) และผ้าห่อคัมภีร์

จะพบกับผู้อาวุโสท่านหนึ่งผู้คอยให้คำอธิบายและบอกเล่าความสำคัญของเอกสารโบราณต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง แฝงไปด้วยเกร็ดความรู้มากมาย

สอบถามได้ความว่าท่านเป็นนักวิชาการอิสระ หนึ่งในคณะทำงานผู้ร่วมบุกเบิกงานด้านเอกสารโบราณของวัดสุทัศน์โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลาน นิพนธ์เทศนา และเป็นผู้ค้นพบคัมภีร์ใบลานพระนิพนธ์พระธรรมเทศนาของ สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ สุพิชัย พิมพ์ศิริจันทร์ นักวิชาการอิสระ หนึ่งในคณะทำงานผู้ร่วมบุกเบิกงานด้านเอกสารโบราณของวัดสุทัศน์

คุณ สุพิชัย พิมพ์ศิริจันทร์ เป็นอดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งผู้มีความเชี่ยวชาญและรอบรู้ในการอ่านจารึก หลังเกษียณอายุจึงมาทำงานเป็นอาสาสมัครที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ทำให้มีโอกาสได้มาร่วมในการสำรวจจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงกันยายน 2557 

ครั้งนั้นได้ดำเนินการอนุรักษ์และจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานประเภทพระไตรปิฎกที่จารด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลี รวมทั้งสิ้น 7,500 ผูก

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ ผ้าห่อคัมภีร์ลายพันธุ์พฤกษาแบบอาร์ต นูโว

“คัมภีร์ใบลานส่วนที่เหลือ ซึ่งเขียนด้วยอักษรขอมเป็นภาษาไทย มีเนื้อหาที่ไม่ใช่พระไตรปิฎก มีการคัดแยกไว้อีกส่วนหนึ่ง ผมอยากรู้ว่ามีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องอะไร อ่านไปพบว่าส่วนใหญ่เป็นพระนิพนธ์พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชแพ โดยมีทั้งที่เขียนเป็นเส้นจารและเขียนหมึกลายพระหัตถ์ด้วยปากกาคอแร้ง 

ผมใช้เวลา 3 ปีกว่าในการอ่าน ยิ่งอ่านยิ่งตื่นเต้น เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์  ในพระธรรมเทศนาจะเขียนไว้ว่าเทศน์ที่ไหน เมื่อไหร่ โอกาสใด 

เมื่ออ่านแล้วไปค้นคว้าเทียบเคียงต่อในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพบว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกันก็ยิ่งตื่นเต้นมาก เพราะนี่คือพระกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระสังฆราช (แพ)

โดยเฉพาะพระธรรมเทศนา ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นส่วนธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้) และธัมมทาน แก่ราชบริพารเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ 2475 ที่ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 14 วัน”

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช แพ

คุณสุพิชัย กล่าวต่อว่า “เวลานั้นภาวะจิตใจของในหลวงรัชกาลที่ 7 คงจะปวดร้าวปั่นป่วนน่าดู บทพระธรรมเทศนาจึงกล่าวว่า ระหว่างที่พระองค์ดำรงตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ยังประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ตอนท้ายเป็นการกล่าวสัมโมทนียกถายาวมาก เข้าใจว่าเป็นการปลอบประโลมใจ

เมื่อผมอ่านคัมภีร์ใบลานแล้วได้ไปอ่านพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติย่อหน้าสุดท้ายที่กล่าวว่า ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีประโยคตรงกับในคัมภีร์ใบลาน ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก”

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ พระธรรมเทศนาแสดงในโอกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล จัดทำเป็นทัชสกรีน มีการเปรียบเทียบรูปอักษรขอมกับรูปอักษรไทย

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ พระไตรปิฎก รัชกาลที่ 5

กว่า 3 ปี ในการอ่านคัมภีร์ใบลานส่วนที่เป็นพระธรรมเทศนา 82 กัณฑ์ (พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชแพและบูรพาจารย์ท่านอื่น) และอื่นๆ รวม 120 ผูก คุณสุพิชัยจึงมีเรื่องราวเล่าขานให้ผู้สนใจมากมาย

แม้ว่าจะรู้สึกเสียดายที่ไม่สามารถนำมาจัดแสดงได้ครบ หากได้คัดเลือกพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงใน 4 วาระ  ด้วยสื่อคอมพิวเตอร์ที่แสดงเนื้อความสำคัญบางตอน ได้แก่

  • สาราณิยธรรมสูตร สังเขปกถา

ทรงแสดงในการบำเพ็ญพระราชกุศลวาระที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตล่วงแล้ว 50 วันเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์พ.ศ 2438

มีเนื้อหาว่าด้วย ธรรม 6 ประการ เป็นอริยทิฏฐิ ความเห็นอย่างประเสริฐอันเป็นธรรมควรบุคคลพึงระลึกการกระทำซึ่งกันและกันให้เป็นที่รักให้เป็นที่เคารพยำเกรงเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความจะไม่วิวาทแก่งแย่งกันและเป็นไปเพื่อจะสามัคคีพร้อมเพรียงกัน

  • โรหิตัสสสูตร (พระธรรมเทศนาพิเศษ)

การแสดงในการบำเพ็ญพระราชกุศลวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตล่วงแล้ว  50 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ 2453  

มีเนื้อหาสรรเสริญพระเกียรติคุณอันเกิดจากพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมทั้งการที่ทรงริเริ่มให้ใช้อักษรไทยพิมพ์พระไตรปิฎกแทนอักษรขอมเป็นที่รักใคร่ของประชาชนควรแก่พระสมัญญานามสมเด็จพระเจ้าปิยมหาราช

  • ปกิณกกถา เทศนาพิเศษ

การแสดงในการบำเพ็ญพระกุศลถวายแด่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ 2470  

มีเนื้อหาว่าด้วยกิจที่ผู้จะละจากโลกนี้ควรทำเนื่องด้วยทรัพย์ตามหลักพุทธศาสนามี 2 ประการคือ มอบให้แก่ผู้เป็นทายาทเพื่อกันวิวาทแตกร้าวแห่งสกุลและบริจาคเพื่อหิตานุหิต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าได้ทรงทำกิจที่ควรทำสำเร็จโดยเรียบร้อย

  • อุโภอัตถกถา

การแสดงในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นส่วนธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้)และธัมมทาน แก่ราชบริพารเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมพ.ศ 2475  ที่ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 14 วัน

มีเนื้อหาว่าด้วยความประพฤติ เพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น ในตอนท้ายเป็นราชปฏิสัมโมทนียกถาบำรุงพระราชหฤทัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ พ.ศ.2500

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ สมุดไทยขาวคัมภีร์พระมาลัยฉบับวัดสุทัศน์เทพวราราม

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์ ไม้ประกับคัมภีร์ประดับมุก สำหรับประกบหน้า-หลังมัดคัมภีร์ใบลานให้เป็นชุด ทำให้มีความแข็งแรงในการจัดเก็บ

นอกจากคัมภีร์ใบลานพระนิพนธ์พระธรรมเททศนาแล้ว ในกุฏิเรือนแถวยังจัดแสดงคัมภีร์ใบลานสมัยกรุงศรีอยุธยา พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ.112 (พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกของโลก พ.ศ.2446)

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงจากพระดำริสมเด็จพระสังฆราชแพ ฯ (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ พ.ศ.2500)

สมุดไทยขาวคัมภีร์พระมาลัยฉบับวัดสุทัศน์เทพวราราม ไม้ประกับคัมภีร์ประดับมุก ตลอดจนผ้าห่อคัมภีร์ที่ทรงคุณค่าและความหมาย

วันเดียวอาจจะน้อยไปสำหรับการเข้าชม พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในเอกสารโบราณ เชื่อว่าเมื่อได้สนทนากับคุณสุพิชัย ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านจารึก คงต้องหาเวลามาอีกหมายครั้งทีเดียว

 

คัมภีร์ใบลานชิ้นประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์

พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศน์เทพวราราม

  • วันทำการ : ทุกวันศุกร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • เวลา : 9.30 - 16.30 น.
  • อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท