ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’

'ดุสิตธานี' เป็นเมืองจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อฝึกหัดข้าราชการและข้าราชบริพารให้เกิดความรู้ความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผ่านการทดลองปฏิบัติในเมืองดุสิตธานี ขนาดย่อส่วน 1 ใน 20 ของขนาดจริง

สัปดาห์ก่อนได้สัมภาษณ์ พัณนิดา เศวตาศัย เจ้าของบทเพลง ‘เดียวดาย’ ที่วัยรุ่นในยุค 80 ยังร้องได้จนถึงวันนี้ ตอนหนึ่ง เอ๋ - พัณนิดา ได้เล่าถึงการออกเทปคาสเซ็ตการกุศลเพื่อหาทุนให้ หอวชิรานุสรณ์ ขณะที่เป็นนักร้องนำวงโฟล์คซองโรงเรียนราชินีคู่กับ แอม – เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ทำให้คิดถึงการไปเยือนหอวชิราวุธานุสรณ์ ตรงท่าวาสุกรี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

หลังจากเข้าไปชมนิทรรศการ เมนูสำรับ กับข้าวเจ้านายในราชสำนักสยาม ที่หอสมุดแห่งชาติ เราและสหายอีกหนึ่งคนพากันเดินไปเยี่ยมๆ มองๆ หอวชิราวุธานุสรณ์ ด้วยความไม่แน่ใจว่าเปิดให้เข้าชมหรือไม่

เพราะทราบมาว่าอาคารจำลองในเมืองดุสิตธานีได้รับการเก็บรักษาไว้ที่นี่ หากมีโอกาสก็อยากจะชื่นชมสักครั้งหนึ่ง

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ กลุ่มพระมหาปราสาท จากเมืองจำลองดุสิตธานี จัดแสดงภายใน “พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” 

เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้รับคำตอบเป็นที่น่ายินดี ว่าให้รอสักครู่ จะมีวิทยากรพานำชม

รอไม่นานวิทยากรผู้รอบรู้และมีอัธยาศัยที่ดีได้พาเราไปทำความรู้จักกับหอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2524

และเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’

ตู้หนังสือภายในห้องสมุดรามจิตติ

ภายในอาคารมีด้วยกัน 4 ชั้น ชั้นแรกแบ่งเป็นห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ ห้องประชุมศรีอยุธยาที่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยมาชมการแสดงละครเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน และสำนักงานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งมีหนังสือพระราชนิพนธ์และสินค้าที่ระลึกจำหน่าย (ไม่อยากให้พลาด)

ขึ้นบันไดไปชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งของ ห้องสมุดรามจิตติ พระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นห้องสมุดเฉพาะที่รวบรวมพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  

ตลอดจนหนังสือคอลเลคชั่นพิเศษ อาทิ หนังสือที่แต่งโดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล หนังสืออนุสรณ์งานศพของบุคคลสำคัญที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีเนื้อหาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศาสนา รวมไปถึงตำราอาหารโบราณ เป็นต้น 

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’

พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ในเมืองจำลองดุสิตธานี เป็นพระที่นั่งสร้างบนแนวกำแพงพระวัชรินทรราชนิเวศน์ ฝั่งทิศเหนือ อำเภอดุสิต พระที่นั่งองค์นี้จำลองรูปแบบมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง

นอกจากนี้ยังจัดแสดงสำเนาลายพระราชหัตถ์ สำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6 ฉบับลายพระราชหัตถ์ อันได้มาจากการบริจาคของต้นตระกูลต่าง ๆ จัดเรียงตามตัวอักษร ก-ฮ รวมทั้งให้บริการสืบค้นและถ่ายเอกสารสำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานแก่ผู้สนใจ

ส่วนใครที่มองหาหนังสือพระราชนิพนธ์ ต้องการค้นคว้าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บริเวณชั้น 2 ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย เล็งไว้แล้วว่าวันหน้าจะมานั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดนี้

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ พระบรมรูปหุ่น

ชั้นที่ 3 จัดแสดง พระบรมราชะประทรรศนีย์ นิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงพระบรมรูปหุ่น 10 องค์ ในพระอิริยาบถขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชสมัย ร้อยเรียง 11 เรื่องราว ได้แก่

  • ความเป็นไทยรำลึก
  • ซ้อมสู้ศึกศัตรู
  • ให้สู้และอดทน
  • อบรมคนแต่เยาว์วัย
  • เสวยราชสมบัติ
  • ทรงนำไทยให้รุ่งเรือง
  • ทัดเทียมประเทศอารยะ
  • ทดลองประชาธิปไตย
  • ปลูกฝังนิสัยโดยการสอน
  • นำชัยชนะสู่สยาม
  • เกิดอุดมศึกษา 

นิทรรศการที่จัดแสดงในขณะนี้ได้รับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการนำเสนอให้มีความร่วมสมัยแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

กล่าวได้ว่ามีบรรยากาศที่น่าติดตามทำให้เราเดินชมนิทรรศการในห้องนี้อยู่นานทีเดียวกว่าจะขึ้นไปชมอาคารจำลองในเมืองดุสิตธานี ที่จัดแสดงบนชั้นที่ 4 

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ ตั้งอยู่ในเขตพระวัชรินทรราชนิเวศ จำลองรูปแบบมาจากพระที่นั่งบรมพิมาน สร้างขึ้นเมื่อมีนาคม  พ.ศ.2462 ในชื่อ พระที่นั่งเทวราชรังสรรค์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ

เมื่อเข้าไปถึงก็ตื่นตาเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาคารจำลองแต่ละหลังนั้นสร้างได้อย่างสวยงามประณีต แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยจากทั้งหมด 1,000 หลัง ที่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ตามไปสืบเสาะค้นหาแล้วนำมาให้กรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ กล่าวได้ว่าวิจิตรตระการตามากทีเดียว

วิทยากร ย้อนประวัติที่มาของดุสิตธานีให้ฟังว่า เมื่อแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต ปีพ.ศ.2461 ปีต่อมาพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังพญาไท จึงโปรดให้ย้ายดุสิตธานีไปตั้งอยู่ที่สนามด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไท บนเนื้อที่ 2 ไร่ครึ่ง 

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ บ้านคหบดี  มีลักษณะแบบบ้านแขก

ม.ล.ปิ่น มาลากุล บรรยายถึงดุสิตธานีไว้ในหนังสือ รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (บันทึกคำบรรยายของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อ พ.ศ.2513) ความตอนหนึ่งว่า

“เมืองจำลองดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยนี้ มีทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ปราสาทพระราชวัง วัดวา อาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาดร้านค้า ธนาคาร โรงละคร โรงภาพยนต์ สโมสร บริษัท สำนักงาน แต่อาคารสถานที่เหล่านั้นย่อส่วนลงให้เล็กเหลือประมาณหนึ่งในยี่สิบของของจริง ที่ขาดไปก็คือมหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และสถานโบว์ลิ่ง

ดุสิตธานีมีอาคารไม่ต่ำกว่า 1,000 หลัง ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้น แต่อาคารสามชั้นงามๆ ก็มีมาก ดูแบบที่สร้างเห็นว่าคงจะอยู่สบายมาก”

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’

วิหารวัดพระพุทธบาท และรอยพระบรมบาทจำลอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ ภาพถ่ายประวัติศาสตร์

หากสาระสำคัญของดุสิตธานีนั้น ในสูจิบัตร “พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” กล่าวว่า

“ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศาภิบาล ซึ่งทรงวางแผนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นรากฐานของประชาธิปไตย โดยทรงมุ่งหมายพระราชหฤทัยว่า เมื่อเหล่าข้าราชบริพารและข้าราชการได้ฝึกฝนการปกครองตนเองจนถ่องแท้แล้ว ก็จะเป็นกำลังสำคัญร่วมมือกันวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันจะพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในสยามต่อไป”

เป็นที่น่าเสียดายที่หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เมืองจำลองแห่งนี้มีอันต้องยุติลง เหล่าอาคารทั้งหลายถูกรื้อถอนออกจากพระราชวังพญาไท แยกย้ายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ

ข้าราชการที่เคยเป็นเจ้าของบ้านแต่ละหลังบ้างนำไปเก็บรักษาเป็นสมบัติส่วนตัว บ้างมีผู้ขอไปเก็บไว้ บ้างถูกทิ้งร้าง ขาดการดูแล  กระทั่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ไปติดตามสืบหาในภายหลังแล้วนำมาเก็บรักษาไว้ ณ หอวชิราวุธานุสรณ์แห่งนี้

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ พระที่นั่งจันทรกานต์มณี เป็นอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน หรือ เก๋งจีน ตั้งอยู่ภายในเขตพระวัชรินทรราชนิเวศน์ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้เล่าถึงการเห็นช่างไม้ฝีมือดีจากเมืองเซี่ยงไฮ้ที่บ้านพระอนุวัตรราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) กำลังทำเก๋งจีน "ชนิดที่มีรูปร่างงามที่สุดในเมืองจีน จำลองให้เป็นเก๋งขนาดย่อมๆ ขนาดสูงราว 25 นิ้วฟุต จะทำถวายรัชกาลที่ 6  สำหรับตั้งในดุสิตธานี" ซึ่งอาจเป็นพระที่นั่งองค์นี้

เวลาบางครั้งก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จากบ่ายสองโมงโดยประมาณ เราใช้เวลาอยู่ใน หอวชิราวุธานุสรณ์ จนเวลาใกล้ปิดทำการ (16.30 น.) ด้วยความอิ่มเอมในประวัติศาสตร์ตลอดจนศิลปะวัตถุที่ทรงคุณค่าที่นำมาจัดแสดงได้อย่างน่าชื่นชม อีกทั้งวิทยากรผู้นำชมที่ร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างประทับใจ 

‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตย เป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ตลอดจนผลงานประณีตศิลป์ของช่างไทย ที่กล่าวได้ว่าเป็นสื่อการสอนที่ล้ำสมัยมากในช่วงเวลานั้น ขณะเดียวกันก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นปัจจุบันได้เป็นอย่างยิ่ง ขอเชิญชวนให้ไปชมกันค่ะ

  • อ้างอิง : สูจิบัตร “พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์   รวมปาฐกถาของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (บันทึกคำบรรยายของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อ พ.ศ.2513)  

ตามไปดู ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์’ อนุสาวรีย์ทหารอาสาในดุสิตธานี สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ทหารอาสาที่เสียชีวิตในงานพระราชสงครามทวีปยุโรป พ.ศ. 2461 โดยข้าราชการและทวยนาครร่วมกันบริจาค

หอวชิราวุธานุสรณ์

  • ตั้งอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
  • โทร. 0 2282 2886 , 0 2282 3419 (เข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดติดต่อล่วงหน้า)
  • เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น.
  • เฟซบุ๊ก มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6