ตามรอย ‘ผ้าลายอย่าง’ และพระพุทธรูปขังกรงที่วัดย่านอ่างทอง ‘อยุธยา’
ตามไปชมต้นแบบผ้าลายจุฬาพัสตร์ที่ถอดแบบมาจากผ้าห่อคัมภีร์โบราณ และพระพุทธรูปขังกรงที่วัดย่านอ่างทอง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
จะเรียกว่าหลงรูปก็น่าจะไม่ผิด เพราะแค่เห็นภาพผ้าลายอย่างสีสันสดใสในเฟซบุ๊กที่เพื่อนไปเที่ยวอยุธยา ถัดมาไม่กี่วัน เราก็ดั้นด้นไปจนถึงวัดย่านอ่างทอง ริมแม่น้ำน้อยทันใด
ร้านค้าของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชุมชนวัดย่านอ่างทอง จำหน่าย ผ้าลายอย่าง และผลิตภัณฑ์ที่ตัดเย็บจากผ้าลายอย่าง เช่น เสื้อ กระเป๋า ย่าม และของที่ระลึก จะตั้งอยู่ในกลุ่มอาคารเรือนไทยใกล้กับกุฏิวังหลัง
จากที่เคยตั้งใจว่าจะมาชมผ้าลายอย่างแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อมาถึงกุฏิวังหลังได้พบกับคุณ สุพจน์ ตั้งไพศาล และพี่ๆ ในชุมชนวัดย่านอ่างทอง นอกจากเรื่องที่มาของผ้าลายอย่างแล้ว เจ้าบ้านยังใจดีนำชมพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระพุทธรูปและศิลปวัตถุในกุฏิวังหน้าอีกด้วย
กุฏิวังหลัง ภายในจัดแสดงผ้าห่อคัมภีร์โบราณ และผ้าลายอย่าง
ผ้าลายอย่างที่นำมาใช้ห่อคัมภีร์
ข้อสงสัยว่าทำไมจึงมีกุฎิวังหน้าและวังหลัง ขอเริ่มต้นที่ชื่อของวัดกันก่อน คุณสุพจน์เล่าเดิมวัดนี้มีชื่อว่า จุฬาโลก เพื่อให้คล้องจองกับวัดโมลีโลก เนื่องจากเจ้าอาวาสพระธรรมไตรโลก (น่วม) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลก หรือวัดท้ายตลาด ธนบุรี ทรงเป็นญาติธรรมและได้เกื้อหนุนกัน
เมื่อครั้งจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดจุฬาโลก สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ขุน) ได้ช่วยกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้านายวังหน้าทรงทราบ
จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการส่งช่างหลวงจากวังหน้ามาช่วยก่อสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร เจดีย์ และกำแพงแก้ว
รวมทั้งยังได้รื้อตำหนักเจ้านายวังหน้ามาสร้างเป็นกุฏิสงฆ์ จึงเป็นที่มาของคำเรียกขานว่า กุฏิวังหน้า และกุฏิวังหลัง
ผ้าลายอย่างที่จัดแสดงในกุฏิวังหน้า
ปัจจุบันกุฏิวังหน้า จัดเป็นสถานที่จัดแสดงผ้าห่อพระคัมภีร์และผ้าลายอย่าง ส่วนกุฏิวังหลัง เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูป โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุสำคัญของวัด
ผ้าลายจุฬาพัสตร์
สำหรับผ้าลายจุฬาพัสตร์ เป็นผ้าลายอย่างที่ สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้เข้ามาดำเนินการออกแบบสร้างสรรค์
โดยนำลวดลายของผ้าลายอย่างที่ใช้ห่อคัมภีร์โบราณสมบัติของวัดย่านอ่างทองมาศึกษา แล้วคัดเลือกลายจากผ้าห่อคัมภีร์โบราณมาจัดวางองค์ประกอบใหม่ แล้วนำไปพิมพ์ลงบนผ้าใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติในการรองรับสีได้ดี ด้วยเทคนิคการพิมพ์แบบดิจิทัล
ผ้านุ่งลายจุฬาพัสตร์ และเสื้อยืดที่ระลึก
ส่วนคำว่า จุฬาพัสตร์ มาจากคำว่า จุฬาโลก อันเป็นชื่อเดิมของวัด มาผนวกกับคำว่า พัสตรา ซึ่งหมายถึงผ้า นำมาใช้เป็นชื่อลายผ้า
โดยทางสถาบันอยุธยาศึกษาได้ส่งเสริมให้ชุมชมได้นำองค์ความรู้ในการทำผ้าลายจุฬาพัสตร์ไปต่อยอดในการผลิตเป็นสินค้า จนเกิดเป็น วิสาหกิจชุมชน กลุ่มชุมชนวัดย่านอ่างทอง ที่มีผ้าลายอย่าง ‘จุฬาพัสตร์’ และผลิตภัณฑ์จากผ้าลายอย่าง เช่น กระเป๋าผ้า ย่าม ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าสตางค์ และผ้าเช็ดหน้า ที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับชุมชนวัดย่านอ่างทองได้อย่างยั่งยืน
สินค้าภายในร้าน
กระเป๋าผ้าลายจุฬาพัสตร์
พระพุทธรูปขังกรง เป็นอีกหนึ่งตำนานที่อยู่คู่กับวัดย่านอ่างทอง แต่ก่อนจะเล่าถึงสาเหตุที่พระพุทธรูปถูกขังอยู่ในกรง คุณสุพจน์ได้เล่าถึงที่มาของชื่อวัดย่านอ่างทอง ที่ไม่เกี่ยวกับจังหวัดอ่างทองให้ฟังว่า
เล่ากับสืบมาว่ามีชาวมอญพายเรือขายโอ่ง อ่างดินเผามาพักจอดเรืออยู่ที่คุ้งน้ำหน้าวัด จู่ ๆมองเห็นอ่างทองคำขนาดใหญ่ลอยน้ำมาจึงรีบพายเรือหมายว่าจะเข้าไปเก็บ ปรากฏว่าอ่างทองคำจมลงใต้น้ำต่อหน้าต่อตา จึงเป็นที่มาของชื่อวัดย่านอ่างทอง
พระพุทธรูปที่เก็บรักษาไว้ในกรง
ส่วนตำนานพระพุทธรูปถูกขังไว้ในกรง เกิดจากมีกลุ่มโจรมาขโมยพระพุทธรูปที่วัดอยู่หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งโจรจับพระลูกวัดมัดรวมกันก่อนหลบหนีไปได้ แต่ผู้ร้ายขนพระพุทธรูปไม่ไหวจึงนำไปทิ้งไว้กลางทุ่งนา เมื่อชาวบ้านพบเข้าจึงนำกลับมาคืนไว้ที่วัดตามเดิม
พระพุทธรูปภายในกุฎิวังหน้า
ศิลปะวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
เพื่อป้องกันพระพุทธรูปโบราณและศิลปวัตถุมีค่าให้ปลอดภัย ชาวบ้านจึงรวมใจกันสร้างลูกกรงเหล็กครอบพระพุทธรูปเอาไว้ จึงกลายเป็นที่มาของพระพุทธรูปขังกรงมาจนถึงวันนี้
นอกจากผ้าลายอย่างและพระพุทธรูปขังกรงแล้ว พระอุโบสถ และพระวิหารของวัดย่านอ่างทอง ล้วนมีความงดงามและคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง
นับเป็นอีกหนึ่งวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีผลงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และศิลปวัตถุ รวมทั้งผ้าลายอย่างที่สร้างสรรค์จากลายผ้าห่อคัมภีร์โบราณที่นำมาผลิตเป็นสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์
มีอรรถรสครบครันทีเดียว
ร้านค้าของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชุมชนวัดย่านอ่างทอง
- เปิดทุกวัน 9.00 - 17.00 น. โทร.06 1946 3696
- เฟซบุ๊ก ชุมชนวัดย่านอ่างทอง