‘บ้านชมปรางค์’ ที่พัก ร้านอาหารริมแม่น้ำยม ชมพระปรางค์ศรีสัชนาลัย สุโขทัย
บ้านชมปรางค์ เกิดจากความฝันของ โสภณ ปลูกสร้าง ที่ต้องการกลับบ้านมาสร้างโรงแรมที่สะท้อนความหมายของรุ่งอรุณแห่งความสุข และรื่นรมย์ไปกับบรรยากาศคลาสสิกของสุโขทัย ชมพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ‘ศรีสัชนาลัย’ สวยงามในทุกช่วงเวลา
ขณะลุ้นว่าน้ำจะแม่น้ำยมจะไหลล้นตลิ่งท่วมไปถึง ‘บ้านชมปรางค์’ บูทีคโฮเต็ลใน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย หรือไม่ เรามีเรื่องราวของบ้านชมปรางค์ที่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยความงดงามของตัวอาคารและสถานที่ซึ่งเป็นจุดที่ชมปรางค์ได้สวยงามสมชื่อมาเล่าสู่กันฟัง
กลับบ้าน
“ตอนทำงานอยู่ที่ลอรีอัล โต๊ะทำงานของผมอยู่ใกล้กับแผนกบุคคล ทุกวันจะมีพนักงานมาลากลับบ้านกันโดยตลอด เหตุผลที่ได้ยินมากที่สุด คือ พ่อแม่ป่วย หรือไม่ก็เสียชีวิต ทำให้ผมได้คิดว่าผมจะไม่รอให้พ่อแม่ป่วยก่อนถึงจะกลับบ้าน ผมเลยวางแผนในการกลับบ้านตั้งแต่ช่วงอายุยี่สิบตอนปลาย ๆ” โสภณ ปลูกสร้าง หรือ คุณบาส ในวัย 38 เล่าถึงที่มาของการตัดสินใจกลับบ้านมาสร้างงานสร้างอาชีพ
คุณบาส - โสภณ ปลูกสร้าง
แผนแรกเมื่อกลับมาถึงบ้านใน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย คือ การทำฟาร์มเมล่อน และเป็นเกษตรกรรายแรกในสวรรคโลกที่ปลูกเมล่อนขายจริงจัง หลังจากเข้าคอร์สเรียนรู้การปลูกเมล่อนในโรงเรือนที่ควบคุมคุณภาพได้โดยไม่ต้องฝากความหวังไว้กับฟ้าฝน
“พอลูกค้ามาซื้อเมล่อนที่ฟาร์มบอกว่าอยากกินเลย มีหั่นขายเป็นชิ้นๆบ้างไหม เราก็จัดให้ จากนั้นลูกค้าบอกว่าอยากกินกาแฟแล้วก็อยากกินข้าวด้วย เลยทำเป็นร้านขายอาหาร เปิดมาได้ 2-3 ปีลูกค้าบอกว่ากินข้าวแล้วอยากพักที่นี่ด้วย เลยเริ่มทำที่พัก 3 ห้องตามความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันใช้เป็นห้องทดลองของตัวเองด้วยในการศึกษาว่าลูกค้าของเราคือใคร มีความชอบแบบไหน และมีไลฟ์สไตล์อย่างไร”
คุณบาส เล่าถึงที่มาของ สิบสองหน่วยตัด คาเฟ่และที่พักขนาด 3 ห้อง ภายในฟาร์มเมล่อนที่วันนี้แทบจะยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของฟาร์มไปหมดแล้ว
คาเฟ่ของสิบสองหน่วยตัดอยู่ทางด้านซ้าย ตรงกลางเป็นส่วนของที่พักที่มีเพียง 3 ห้อง
ห้องพักของสิบสองหน่วยตัด
จากฟาร์มเมล่อนสู่ห้องรับแขกของเมืองสวรรคโลก
“สิบสองหน่วยตัด เป็นชื่อที่ผมอยากให้คนถาม เพราะนอกจากจะได้อธิบายความหมายว่าเป็นชื่อของลายผ้าทอของสุโขทัยแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีของจังหวัดไปพร้อมกัน” คุณบาสบอกกับเราถึงที่มาของชื่อ คาเฟ่และที่พัก ซึ่งไม่ว่าใครได้ยินเป็นต้องอยากทำความรู้จัก
ลายสิบสองหน่วยตัด เป็นหนึ่งในลายผ้าทอของไทพวนที่อพยพมาอยู่ในสุโขทัย เป็นลายหลักที่มีขอ จำนวน 12 ขอ ประกอบกันเป็นดอกที่มีขาพันทำเป็นสามเหลี่ยมและยังมีนกคาบหรือหงส์ตัวเล็กอยู่ตรงกลางของแม่ลายด้วย ลายหลักลายนี้ต่อกับซิ่นตาหว้า (ที่มา : สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ สุโขทัย)
ห้องรับแขกของเมืองสวรรคโลก
“ความตั้งใจของผมอยากให้สิบสองหน่วยตัด ทำหน้าที่เป็นห้องรับแขกของเมือง เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วเวลามีแขกมาเยือนสวรรคโลก ขนาดผมที่เป็นคนในพื้นที่เองยังตอบไม่ได้เลยว่าจะพาไปกินข้าวหรือกินกาแฟที่ไหน ผมจึงอยากทำให้ที่นี่เป็นห้องรับแขกส่วนกลางของเมืองสวรรคโลก
สิบสองหน่วยตัดแทบไม่ต้องทำการตลาดใด ๆเลย เมื่อเราทำให้ทุกคนเห็นว่าเป็นห้องรับแขกที่สามารถพาญาติพี่น้องหรือแขกที่มาเยี่ยมแล้วได้รับประสบการณ์ที่ดี ทำให้เราอยู่ได้ยาวนาน อาหารเครื่องดื่มของเราไม่ได้หรูเลิศเห็นแล้วร้องว้าว แต่เป็นโฮมคุกกิ้งที่เราใส่ใจ ในบรรยากาศที่อิงความคลาสสิก”
ชมพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียงได้บนระเบียงบ้าน
บ้านชมปรางค์ ภาคต่อของสิบสองหน่วยตัด
4 ปีเต็มที่เก็บข้อมูลทำให้คุณบาสได้ข้อชุดข้อมูลที่น่าสนใจ คือ อำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ผู้หญิง
“ถ้าเราจะทำที่พักต้องตอบโจทย์ผู้หญิงให้ได้เป็นอันดับแรกก่อน เพราะผู้ชายส่วนใหญ่จะตามใจผู้หญิง ดังนั้นเรื่องความสวยต้องมาก่อน ตามด้วยความสะอาด คนมาเที่ยวสุโขทัยชอบความคลาสสิก ชื่นชมศิลปะวัฒนธรรม งานหัตถกรรม ผ้าทอ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมไทยที่มีความคลาสสิก”
บ้านชมปรางค์ ที่พักริมแม่น้ำยม ตรงข้ามกับวัดพระปรางค์ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียง จึงเป็นตอนต่อไปของ สิบสองหน่วยตัด ที่คุณบาสบอกว่าเป็นทั้งภารกิจที่ต้องเดินต่อไปบนเส้นทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นความฝันก็อยากทำให้เป็นความจริง
ห้องพักภายในบ้านชมปรางค์
ลูกชุบน่ารักสำหรับต้อนรับแขกที่เข้าพัก
“ผมมีความใฝ่ฝันอยู่แล้วว่าเราอยากเป็นเจ้าของโรงแรม ตอบไม่ได้เลยว่าเตรียมงานสร้างบ้านชมปรางค์มาตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจเตรียมมาตั้งแต่สมัยเรียนการโรงแรมที่สวนดุสิต ต่อเนื่องไปถึงตอนเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจที่รามคำแหง
รวมทั้งประสบการณ์ในการทำงานโรงเรมที่โอเรียนเต็ล โรงแรมโฟร์ซีซั่น ราชดำริ โรงแรมสุโขทัย จากนั้นย้ายสายงานไปทำงานฝ่ายบริหารที่ลอรีอัลอีก 4 ปี ในช่วงเวลา 10 ปี ที่กรุงเทพฯ รวมถึงการไปฝีกงานที่ต่างประเทศอีก 2 ปี ผมคิดว่านี่คือการเตรียมตัวของเรา
ที่สำคัญลูกค้าเป็นคนผลักดันให้เราต้องเดินก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งปัญหาอุปสรรคหนี้สินทำให้เราต้องไปต่อ ห้องพัก 3 ห้องของสิบสองหน่วยตัดไม่เพียงพอสำหรับลูกค้า”
ชมปรางค์ศรีสัชนาลัย
จากห้องรับแขกของเมืองสวรรคโลก คุณบาสขยับมาสร้างโรงแรมในย่านเมืองเก่าของศรีสัชนาลัย บริเวณที่สามารถชมปรางค์ได้งามสมดังชื่อบ้าน
“ผมไปเที่ยวชมพระปรางค์ที่อยุธยา ชมพระปรางค์วัดอรุณที่ท่าเตียนแล้วฉุกคิดได้ว่า สุโขทัยก็มีพระปรางค์ กลับมาปรึกษากับปราชญ์ชาวบ้าน ออกเดินสำรวจไปคุยกับชาวบ้านจนพบที่ดินผืนนี้ที่มีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นพื้นที่ทับซ้อนของกรมป่าไม้หรือกรมศิลป์ คุยกับเจ้าของว่าผมสนใจพอเขาบอกว่าขายผมตัดสินใจซื้อเลย วันนั้นไม่มีเงินนะครับขอยืมแม่เพื่อนซื้อไว้ก่อน”
เมื่อได้ที่ดินแล้ว คุณบาสนำบ้านเก่าที่ซื้อเก็บไว้ 2 หลังมาสร้างเป็นบ้านชมปรางค์ โรงแรมที่เขาให้นิยามว่าเป็นสถานที่อยู่ตรงกลางระหว่างบ้านกับโรงแรม
“ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ขณะเดียวกันก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่ใส่ใจไม่แพ้โรงแรม”เจ้าของบ้านอธิบาย
(จากซ้าย) บ้านโบราณของเจ้าจอมอาบ และบ้านไม้เก่าจากอ.เมืองพล จ.ขอนแก่น
เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูทีคโฮเต็ล
บ้านชมปรางค์ ประกอบไปด้วยบ้านไม้โบราณ 2 หลัง ที่คุณบาสติดตามซื้อและสะสมไว้ หลังแรกมาจาก อ.พล จ.ขอนแก่น หลังที่สองเดิมเคยเป็นบ้านของเจ้าจอมอาบในกรุงเทพฯ
“เนื่องจากเราเป็นคนชอบเสาะแสวงหา ถ้ารู้ข่าวว่าบ้านไหนกำลังจะถูกรื้อจะรีบตรงดิ่งเข้าไปเจรจา บ้านหลังแรกเป็นบ้านของ ตระกูลเรืองกาญจนเศรษฐ์ นักการเมืองในภาคอีสาน บ้านหลังนี้อยู่ในที่ดินที่มีการขายให้เจ้าของคนใหม่ซึ่งจะทำหมู่บ้านจัดสรร
ผมได้ยินว่าเขาจะรื้อบ้านแล้วขายไม้ออกเป็นส่วนๆ ผมจึงรีบขับรถจากสุโขทัยไปเจรจาขอซื้อ บอกถึงความตั้งใจในการนำบ้านเก่ามาสร้างเป็นที่พัก บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้ขนาดใหญ่มีฉิ่มแจ้ หรือ ช่องรับแสงตรงกลางบ้าน เหมือนบ้านคนจีนทางภาคใต้ ตามคติของคนจีนที่เชื่อในเรื่องของพลังงาน การถ่ายเทของอากาศ
รูปทรงทางสถาปัตยกรรมมีกลิ่นไอของอาร์ตเดโค มีความเท่ กระเบื้องปูพื้นมีลวดลายที่สวยมาก ผมนำกระเบื้องก้อนเก่าไปให้ช่างที่เชียงใหม่ผลิตเพื่อมาตกแต่งให้สมบูรณ์ดังเดิม”
บริเวณฉิ่มแจ้ กลางบ้านที่ได้รับการปรับกรุงเป็นโถงรับแขก ประดับกระเบื้องลายโบราณที่สั่งทำตามแบบบ้านหลังเดิม
การเปลี่ยนบ้านเก่านำมาสร้างเป็นบูทีคโฮเต็ลเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยงบประมาณ และช่างผู้ชำนาญ แม้จะออกตัวว่ามีทุนรอนไม่มากนัก หากคุณบาสมีข้อได้เปรียบอยู่ที่ตระกูล “ปลูกสร้าง” ของเขาล้วนเป็นช่างไม้มาตั้งแต่รุ่นปู่มาจนถึงพ่อและอา
“ทุกคนมองจากภายนอกแล้วบอกว่า มีเงินก็ทำได้สิ ความจริงแล้วผมไม่ได้มีเงิน แต่ผมมีความพยายามและความคิดในการวางแผน
จุดแข็งของเรา คือ มีพ่อเป็นช่างไม้ที่ดูแลตั้งแต่การรื้อถอนบ้านและนำมาปลูกในพื้นที่ใหม่ ทำให้เราสามารถคุมงบประมาณได้”
เช่นเดียวกับบ้านหลังที่สองที่มีคนส่งข่าวมาว่าเป็นบ้านของคนสำคัญที่กำลังจะถูกรื้อ เมื่อเจ้าของที่ดินคนใหม่ต้องการพัฒนาพื้นที่
ห้องรับแขกภายในบ้านโบราณของเจ้าจอมอาบที่ได้รับการตกแต่งใหม่
“บ้านหลังนี้เดิมเป็นของเจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ 5 ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของแล้วย้ายมาสร้างบนที่ดินแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของใหม่เตรียมรื้อแล้ว ผมรีบขับรถไปเจรจาอย่างอ่อมน้อม เล่าถึงสิ่งที่ผมกำลังจะทำเมื่อได้บ้านหลังนี้ไป โดยผมต้องการสร้างเป็นบ้านพักที่จัดแสดงผลงานศิลปะและของสะสมในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 รวมไปถึงตำรับอาหารชาววังของเจ้าจอมก๊กอออีกด้วย”
ชมปรางค์แล้วเที่ยวเมืองพระร่วงไปพร้อมกัน
นอกจากชอบบ้านเก่าแล้ว คุณบาสยังเป็นนักอ่านและนักสะสมของเก่าซึ่งเขานำความรักความชอบนี้มาใช้เป็นแนวทางในการตกแต่งบ้านชมปรางค์หลังใหญ่ที่มาจาก อ.เมืองพล จ.ขอนแก่น ด้วยการนำพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” เป็นแกนนำในการเล่าเรื่อง
ห้องสถาปนิกชำนาญการ
ภาพสเก็ตช์ของ อ.สมิทธิ ศิริภัทร
“อยากชวนย้อนบรรยากาศกลับไปในช่วงที่รัชกาลที่ 6 เสด็จมาสำรวจเมืองศรีสัชนาลัย จึงตั้งชื่อและตกแต่งห้องพักเป็นห้องประวัติศาสตร์ ห้องนักโบราณคดี ห้องสถาปนิกชำนาญการ ส่วนห้องชั้นล่างเป็นห้องคุณข้าหลวงที่ตามเสด็จมาดูแลห้องเครื่อง
ภายในห้องประวัติศาสตร์จะมีเครื่องพิมพ์ดีดตั้งอยู่บนโต๊ะทำงาน ผมจินตนาการว่านักประวัติศาสตร์ตามเสด็จมาเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนห้องสถาปนิกชำนาญการ ตกแต่งด้วยเครื่องมือของสถาปนิกที่ติดตามมาเก็บรายละเอียดของสถาปัตยกรรม ภายในห้องจะมีภาพสเก็ตช์ของ อ.สมิทธิ ศิริภัทร อาจารย์ด้านโบราณดีที่สเก็ตช์ไว้ขณะมาสำรวจสุโขทัยใส่กรอบจัดแสดงไว้ด้วย
สำหรับห้องนักโบราณดี ยังตกแต่งไม่เสร็จสมบูรณ์เต็มที่นะครับ ผมอยากให้มีกลิ่นอายของการขุดค้นทางด้านโบราณคดีเพิ่มเติมเข้าไปอีก ห้องคุณข้าวหลวงที่ตามเสด็จมาดูแลเครื่องเสวยนอกจากของตกแต่งที่เกี่ยวกับอาหารชาววังแล้ว ผมพยายามทอดแทรกเมนูอาหารจากตำราเก่าเข้าไปในเมนูอาหารของบ้านชมปรางค์ด้วย”
เที่ยวเมืองพระร่วงกันแล้ว เมื่อก้าวมาสู่บ้านหลังประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นบ้านของเจ้าจอมอาบ อารมณ์ความรู้สึกจะแตกต่างกันออกไป
ห้องพักสีสันสดใจในเรือนเจ้าจอมอาบ
“ผมเลือกใช้สีที่สดใสขึ้น โดยนำแรงบันดาลใจจากพระที่นั่งวิมานเมฆมาใช้ในการตกแต่ง แล้วนำของเก่าที่ผมสะสมไว้มาจัดแสดงในห้องต่าง ๆ มีทั้งหนังสือ ผ้าปัก สังคโลก เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับอาหารโบราณ เรียกได้ว่าบ้านหลังนี้สื่อถึงตัวตนของผมร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มครับ”
เมล่อนสวรรคโลก
กาแฟ กับขนมไทย
ที่พักและร้านอาหาร
บ้านชมปรางค์ มีส่วนของห้องอาหารและมุมกาแฟที่ให้บริการอาหารสำหรับผู้เข้าพักในทุกช่วงเวลา รวมถึงเปิดให้ผู้มาเยือนใช้บริการในช่วง 10.00 -16.30 น. ของทุกวัน (เสาร์-อาทิตย์เปิดถึง 17.00 น.)
“เมนูอาหารเรามีไม่มาก เป็นโฮมคุกกิ้งที่มีแกงเลียง น้ำพริกตำรับคนสุโขทัยที่อร่อย ทุกวันจะมีเมนูไฮไลท์ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละวันมีวัตถุดิบอะไรที่สดใหม่ เช่น วันนี้มีปลาเนื้ออ่อน เราจะถามลูกค้าเลยว่าอยากจะกินแบบทอดกระเทียมหรือว่าราดพริก อย่างนี้เป็นต้น
ในส่วนของบาร์กาแฟ เราอาจไม่ใช่เป็นสไตล์สเปเชียลลิสต์ แต่เราคัดสรรสิ่งที่ดีมาให้ลูกค้า รวมไปถึงขนมพื้นบ้านเจ้าอร่อยที่เราเลือกมาให้ชิมกันกันด้วย”
บ้านชมปรางค์ เปิดแนะนำตัวอย่างไม่เป็นทางการแล้วเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ โดยมีแผนว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2568
สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก บ้านชมปรางค์ - Chomprang House โทร. 06 3465 6168