“ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ”
คำคมที่กินใจและทรงพลัง มักถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
สมัยผมเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา ประธานาธิบดีเรแกน เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เขามีอาชีพเป็นนักแสดงมาก่อน ดังนั้นเนื้อหาและลีลาการพูด รวมทั้งจังหวะการพูดจึงเฉียบคมเสมอ
เรแกนออกโทรทัศน์ บอกประชาชนว่า ประเทศเรามีปัญหามากมาย แต่จะรอให้ใครไปแก้ปัญหาล่ะ เรานั่นแหละที่ต้องทำ
แล้วก็ทิ้งท้าย ด้วยประโยคปลุกเร้าประชาชนว่า “If not us, who? If not now, when?”
“ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ? ถ้าไม่ทำเดี๋ยวนี้ แล้วจะทำเมื่อไร?”
สั้นๆแต่มีพลัง เริ่มที่เรานี่แหละ ลงมือทำทันที ไม่ต้องรอวันเวลา เป็นประโยคที่ผมจำได้ในทันทีที่ได้ฟัง และยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้
สมัยนั้น มีนักเรียนไทยคนหนึ่ง ซึ่งไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกับผม เจ้าเพื่อนคนนี้บ่นแทบทุกครั้งที่เจอกันว่า ประเทศไทยมีปัญหามากมาย เขาหงุดหงิดว่าทำไมบ้านเมืองของเราเป็นเช่นนี้
ผมบอกไปว่า คุณมานั่งบ่นไม่หยุดหย่อนอย่างนี้ บ่นไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ หงุดหงิดเปล่าๆ รีบเรียนให้จบ อย่าเอ้อระเหยเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ เก็บความรู้ และความตั้งใจไว้เยอะๆ แล้วรีบกลับบ้าน ไปช่วยกันแก้ปัญหาของชาติ จะดีกว่าไหม?
เมื่อเรียนจบ เพื่อนคนนั้นกลับมาสอนหนังสือจนเกษียณ และไม่ได้เจอกันอีกเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามีโอกาสได้อาสา เข้าไปแก้ไขปัญหาที่บ่นไว้มากมาย สมัยเรียนหนังสือบ้างหรือไม่
วันนี้ ผมย้อนกลับมานึกถึงคำคมของ เรแกน และความที่ชอบมากก็เลยอยากรู้ว่า เขาคิดเองหรือเปล่านะ หรือว่าเอามาจากแหล่งใด
เมื่อลองค้นดูก็พบว่า มีหลายคนที่พูดแบบนี้ เช่น จอห์น เอฟ เคนเนดี้ และ โอบาม่า ก็เคยนำมาพูด บางแหล่งก็ว่า ฮิลเลล ผู้นำทางศาสนา พูดไว้คล้ายๆแบบนี้ ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ฯลฯ
ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนนักว่า ใครเป็นคนคิดและพูดเป็นคนแรกกันแน่
ไม่เป็นไรครับ เมื่อถ้อยคำมีพลัง ผมว่าใครจะยืมมาพูด ก็ไม่ว่ากัน ดีเสียอีก เพราะถ้าพูดแล้วปลุกเร้าให้คนฟัง ลงมือทำได้จริงๆ ยิ่งมีคนนำมาพูดบ่อย ยิ่งมีคนฟังมาก ก็ยิ่งดีต่อสังคม ใช่ไหมครับ
อย่างวันนี้ ถ้าใครได้อ่านคำคมนี้เป็นครั้งแรก แล้วเกิดแรงบันดาลใจ ออกไปทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยแก้ปัญหาของชาติ แค่นี้ก็ดีแล้ว มิใช่หรือ
ฤดูนี้เป็นฤดูเลือกตั้ง เราเริ่มได้ยิน คำคมของนักการเมืองไทย ซึ่งอาจจะคมมากบ้าง น้อยบ้าง หรือบางคนอาจจะแปล และอ้างอิงมาจากภาษาอังกฤษบ้าง
เมื่อเร็วๆนี้ มีวาทะจากพรรคการเมืองหนึ่ง หัวหน้าพรรคชื่อ “หนู” ก็เลยเปรียบเปรยเรื่อง “หนูกับราชสีห์” ซึ่งก็น่ารักดี แต่นักการเมืองบางคน หาเสียงบนเวที พูดอะไรที่ตัวเองคิดว่าคมมาก แต่มันไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แบบนี้ก็มี
จริงๆแล้วการคิดอะไรคมๆ มันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ผมจึงคิดว่าถ้าผู้นำคนใด จะคัดลอกอะไรที่ดีๆมาพูด ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ที่สำคัญกว่าก็คือ พูดแล้วขอให้ทำตามนั้นจริงๆ
เวลาผมสอนหรือพูดบนเวที บางครั้งผมก็ใช้วิธียืมคำคมของฝรั่งหรือจีนมาเหมือนกัน เพื่อให้นักศึกษาหรือผู้ฟังเห็นภาพ แต่พยายามเลือกใช้ ให้เหมาะกับหัวข้อและกลุ่มผู้ฟัง และไม่เคยอ้างว่าเป็นของตนเอง
ประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว มีวันหนึ่งที่ผมจะต้องส่งต้นฉบับคอลัมน์นี้แหละครับ วันนั้นคิดไม่ออกจริงๆว่าจะเขียนเรื่องอะไร ก็เลยไปออกกำลังกายดีกว่า ระหว่างนั้นอยู่ดีๆมีคำที่แว่บเข้ามาในสมองผม คือคำว่า “ได้เปรียบ” กับคำว่า “เอาเปรียบ”
เท่านั้นแหละครับ ผมกลับไปเขียนต้นฉบับได้เลย วันนี้ขอนำมาเสนอใหม่ ในเวอร์ชั่นใหม่ คือจะบอกว่าการแข่งขันใดๆ ก็ตาม เราย่อมต้องการชัยชนะ แต่เราควรถามตัวเองว่า “เราจะชนะเพราะ ได้เปรียบ หรือเพราะ
เอาเปรียบ?”
คำว่า “เอาเปรียบ” ยังไงก็เป็นเรื่องที่ผิด เพราะการแข่งขันกับคนอื่น แต่ตุกติก และเอาเปรียบคู่แข่งทุกวิถีทาง มีโอกาสเมื่อไรเป็นแอบชกใต้เข็มขัด อย่างนี้ผมว่าน่ารังเกียจมาก ต่อให้ชนะก็ไร้ศักดิ์ศรี
แต่ถ้าเราแข่งขันกับองค์กรอื่น หรือบุคคลอื่น และ เราเป็นฝ่าย “ได้เปรียบ” เช่น นโยบายของเราดีกว่า โดนใจคนมากกว่า กลยุทธ์ของเราดีกว่า คนของเราเก่งกว่า การบริหารของเราโปร่งใสกว่า ฯลฯ
แบบนี้เรียกว่า เราชนะเพราะได้เปรียบ...และเป็นไปตามกติกา ไม่มีใครว่าอะไรเราได้เลย
จากเวลานี้จนถึงวันเลือกตั้ง เราคงจะได้เห็นภาพการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ น่าติดตามนะครับว่า พรรคใดจะพยายามชนะคู่แข่งด้วยการ เอาเปรียบ และพรรคใดจะพยายามชนะ ด้วยการสร้างความได้เปรียบ ภายใต้กติกา
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะต้องอ่านให้ออกและต้องกาบัตรให้ถูกต้อง พวกที่เอาเปรียบอย่าไปสนับสนุน ต้องไม่กาบัตรให้กับพวกที่ตุกติก และเอาเปรียบคู่แข่งอย่างไร้จิตสำนึก
เอาละครับ ถึงแม้คำคมที่ว่า “If not us, who? If not now, when?” อาจจะไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนคิด หรือพูดเป็นคนแรกกันแน่
แต่คำถามที่ว่า “คุณชนะเพราะได้เปรียบ หรือเอาเปรียบ?”
อันนี้...ผมคิดขึ้นมาเองครับ