ถึงจังหวะที่ต้องชะลอซื้อ !
สวัสดีครับ จากการจั่วหัวข้อคอลัมน์เบื้องต้น อาจจะทำให้หลายคนคิดว่า ผมกำลังจะมาแนะนำให้ให้ชะลอการลงทุนหรือเปล่า แต่ไม่ใช่อย่างที่ท่านๆคิดนะครับ
วันนี้ผมจะมาพูดถึงกฎหมายใหม่ที่จะออกมา ซึ่งจะส่งผลให้เราควรจะพิจารณาถึงการชะลอการซื้อ สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นๆ อีกบางอย่างออกไปก่อนนะครับ โดยวันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันว่ากฎหมายที่ว่านั่นคืออะไร
“กฎหมายที่ว่านี้ก็คือ พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันส่งมอบสินค้า นั่นเองครับ
โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ทาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าอันเป็นเหตุ ให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม
โดยที่ได้มีการกำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ดังนี้คือ ผู้บริโภคสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า, เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า, ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา โดยการใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่มีการทำข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด และเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ
นั่นหมายความว่าหากเรามีการซื้อ สินค้าที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า นี้นั่นก็จะได้รับความคุ้มครองเป็นอย่างน้อย 2 ปีนั่นเอง ดังนั้น หากเรากำลังวางแผนคิดจะซื้อสินค้า จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ หากสามารถรอได้ เราอาจจะรอให้ พระราชบัญญัตินี้ออกประกาศใช้อย่างเป็นทางการจึงค่อยซื้อจะดีกว่าครับ หากสินค้านั้นเดิมมีประกันไม่ถึง 2 ปี เช่นโทรศัพท์มือถือ ที่ส่วนมากจะมีประกันแค่ 1 ปี เท่านั้น ซึ่งระยะเวลาคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสินค้าในช่วงหลังหมดประกันไปได้อีก 1 ปี (ซึ่งส่วนมากไม่รู้เป็นอะไร มักจะมาเสียตอนหมดประกันปีที่ 1 กันนี่แหละ)
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัตินี้ก็จะมีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้คือ ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจจนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน และ พระราชบัญญัตินี้จะไม่ครอบคลุมถึง สินค้ามือสองด้วยครับผม
สรุปสุดท้าย สำหรับท่านที่กำลังคิดจะซื้อ สินค้าประภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หาก สินค้านั้นมีประกันเดิมเพียงแค่ 1 ปี หากรอได้ ก็อยากจะให้รอให้พระราชบัญญัตินี้ออกมาเป็นทางการก่อน ซึ่งน่าจะไม่นานนัก แล้วค่อยซื้อครับผม จะได้อุ่นใจ ไม่โดนลอยแพหลังหมด 1 ปีแรก
และยังเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เราสามารถควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังจากการซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ด้วยนะครับ แทนที่หลังจากหมดประกันแล้วเราอาจจะต้องเสียเงินจ่ายค่าซ่อมเอง หรือหากเจอค่าซ่อมที่แพงก็ทำให้เราต้องใช้เงินในการหาสินค้าใหม่ หากกฎหมายนี้ประกาศขึ้นมา ก็ทำให้เราได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงด้วยครับ