“กรณ์-สุวัจน์” กับ “ขั้วที่สาม” ชูเศรษฐกิจพิชิต “ขัดแย้ง”
อนาคตอันน่าเศร้าของการเมืองไทย ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่หลวง ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง “สองขั้วขัดแย้ง” ระหว่าง “3 ป” กับ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ทำท่าว่าจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันครองอำนาจ คนไทยมีทางเลือกเพียงแค่นี้จริงหรือ?
นี่คือ “โจทย์ใหญ่” ที่ประชาชนคนไทยจะต้องช่วยกันหาคำตอบ และตัดสินอนาคตของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เมื่อการจับมือ “ผนึกกำลัง” ระหว่าง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา(ชพน.) กับ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นการ “จุดประกาย” การเมือง “ขั้วที่สาม” เพื่อเป็นทางออกให้ประเทศ
สิ่งที่จับความได้จากการร่วมมือกันครั้งนี้ ทั้งสองคนใจตรงกันที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ซึ่งกำลังทุกข์เข็ญเป็นเรื่องหลัก โดยไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
“ตนอยู่กับการเมืองมาเกือบ 35 ปี มองประเทศตลอดระยะเวลาที่ตนทำงานวันนี้ถือว่าวิกฤติที่สุด โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่ง ชพน.จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และเพื่อจะบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา ต้องมารวมพลังกอบกู้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ เห็นว่ามือเศรษฐกิจวันนี้ต้องเข้าใจเศรษฐกิจรากหญ้าว่าคนยากคนจนเดือดร้อนอย่างไร ต้องเข้าใจเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และต้องมีความเป็นสากล เข้าใจโลก เพราะวันนี้บริบทโลกเปลี่ยนไป เราต้องการมืออาชีพที่เข้าใจบริบทของประเทศและโลก” สุวัจน์ กล่าวถึงความร่วมมือกับ กรณ์
ทั้งยัง กล่าวถึง กรณ์ ด้วยว่า “ชพน.ปรึกษากันว่าใครที่มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจ เพื่อมาทำงานร่วมกัน เราคิดถึงนายกรณ์ เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจโดยตรง เคยเป็นรมว.คลัง มีประสบการณ์ ช่วยแก้วิกฤติต้มยำกุ้ง แฮมเบอเกอร์ จนทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ เคยทำงานเอกชนและทำงานในรัฐบาล เป็นรมว.คลังของโลกและเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในระดับสากล พิสูจน์ผลงานให้เห็นชัดเจน ขณะเดียวกัน ยังมีประสบการณ์เป็น ส.ส.ที่มาจากพื้นที่ และมาจากการเลือกตั้งเป็นนักเรียนนอก มีความเป็นสากล จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง ถือเป็นหน้าเป็นตา เรามีความเชื่อมั่นว่านายกรณ์จะเป็นผู้ที่มาแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ร่วมกับ ชพน.” สุวัจน์กล่าว
นอกจากนี้ สุวัจน์ ยังประกาศจุดยืนชัดเจนว่า “การเมืองต้องไม่ขัดแย้ง ชพน.ทำการเมืองมาสามสิบปี หลักการทำงานของ ชพน.อยู่บนพื้นฐานที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรควางเอาไว้คือ ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ประนีประนอม ไม่ขัดแย้ง ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก”
ในขณะที่ “กรณ์” กล่าวอย่างมันใจว่า จากที่รู้จักกันกับนายสุวัจน์มานาน ช่วงอยู่ในตำแหน่งรมว.คลัง ได้ทำงานใกล้ชิดกับ ชพน. ถือว่าปรัชญาทางการเมืองใกล้เคียงกันมากสิ่งสำคัญที่สุดคือหลักปฏิบัตินิยมในการลงมือทำ ไม่ว่าข้อเสนอที่เสนอต่อสังคมในช่วงที่ผ่านมา เรื่องปัญหาน้ำมัน หนี้สิน มันอยู่ในหลักปฏิบัตินิยมนำไปสู่การปฏิบัติได้ ในมุมมองตนนายสุวัจน์ยึดหลักปฏิบัตินิยมมาตลอดไม่ว่าในฐานะนักการเมือง นักธุรกิจ ไม่พูดมาก แต่ลงมือทำ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ และเรามีเป้าหมายชัดเจนคือ “ช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความมั่นคงในสังคมต่อไป”
ที่สำคัญ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่าต้องรวมพลังกันแก้ปัญหา ชพน.จะเชิญคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย มาร่วมกันด้วยหรือไม่ นายสุวัจน์ กล่าวว่า การเมืองวันนี้ต้องหันหน้าเข้าหากัน จะบอกว่า เราไปร่วมกับใคร ไปเชิญใครคงบอกไม่ได้ แต่วันนี้ขอเริ่มต้นที่นายกรณ์ ท่านอื่นยังตอบแทนไม่ได้
ถึงตรงนี้ คนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามการเมืองมาก่อน อาจยังไม่รู้จัก “สุวัจน์” ว่า มีประสบการณ์ทางการเมืองโชกโชนขนาดไหน ลองมาย้อนอดีตดูอีกครั้ง
“สุวัจน์” เริ่มการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 ต่อมาในพ.ศ. 2533 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พ.ศ. 2534 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย
หลังการยุบสภาพ.ศ. 2535 “สุวัจน์” ได้เข้าร่วมกับพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรทัพพะรังสี และสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง จัดตั้งพรรคชาติพัฒนาขึ้น
สมัยรัฐบาลของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ พ.ศ. 2538 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
พ.ศ.2540 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนายชวน หลีกภัย พ.ศ. 2545 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พ.ศ.2547 เป็นรองนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้นไม่นานก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
“สุวัจน์” เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ต่อจากนายกร ทัพพะรังสี ซึ่งลาออกไปร่วมกับพรรคไทยรักไทย และต่อมาพ.ศ.2548 “สุวัจน์” ประกาศยุบพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย ต่อมาพ.ศ. 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ได้นำสมาชิกในกลุ่มย้ายไปสังกัดพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ก่อนจะกลับมาเป็นพรรคชาติพัฒนา
เห็นได้ชัดว่า ถ้าจะเอาประสบการณ์ทางการเมืองจาก “สุวัจน์” และ “คอนเน็คชั่น” ทางการเมือง ถือว่า กรณ์ คิดถูก เพราะไม่น้อยหน้าใครในแวดวงการเมืองไทยแน่นอน
ขณะที่ “กรณ์” ก็ไม่ธรรมดา เคยเป็นอดีตรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในช่วงเวลาหนึ่ง ยุคประชาธิปัตย์รุ่งเรือง เนื่องจากรูปร่างที่สูงถึง 193 เซนติเมตร ทำให้“กรณ์” ได้สมญานามจากสื่อมวลชนว่า “หล่อโย่ง” ซึ่งตั้งให้เข้ากับที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีสมญานาม “หล่อใหญ่” อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สมญานาม “หล่อเล็ก” และหม่อมหลวงอภิมงคล โสณกุล ได้รับสมญานาม “หล่อจิ๋ว”
ต้นพ.ศ. 2549 “กรณ์” มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ โดยได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งการขายหุ้นดังกล่าวถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีความเกี่ยวพันกับ “ทักษิณ” ในประเด็นการซุกหุ้น และหลีกเลี่ยงภาษี จนนำไปสู่คำพิพากษาตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ในที่สุด
ในการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2550 “กรณ์” ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในเขตเลือกตั้งที่2 กรุงเทพมหานคร (เขตบางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย และวัฒนา) และภายหลังการจัดตั้ง รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ “กรณ์” ในฐานะแกนนำทีมเศรษฐกิจ ได้รับเลือกจากพรรคให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา
ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และ “กรณ์” ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ด้านการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร “กรณ์” ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 “กรณ์” ได้เป็น รมว.คลัง ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ช่วงพ.ศ. 2551-2553 ประเทศไทยประสบวิกฤติการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ที่ลุกลามมาจากสหรัฐอเมริกา “กรณ์” ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล แก้ไขวิกฤติด้วยมาตรการไทยเข้มแข็ง จนกระทั่งประเทศไทยฟื้นจากวิกฤติเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลกพลิกตัวเลข GDP จากติดลบสองหลักเป็นบวก 7.8% ภาคการส่งออกเติบโตก้าวกระโดด 28.5% จน “กรณ์” ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker : Financial Times คนแรกของประเทศไทย
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 “กรณ์”ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แต่ในการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 “กรณ์” ไม่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2563 “กรณ์” ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีผลในวันที่ 15 มกราคม 2563
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ ที่ยังไม่แน่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ กรณีพรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้อง ต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสถานะดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ว่า ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่
ท่ามกลางการเดินเกมของนักการเมือง “3 ป” ซึ่งมาจากรัฐประหาร ที่มีต้นทุนต่ำด้านประชาธิปไตย ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป ไม่ว่าการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยังไม่ครบ 8ปี? หรือ สมบัติผลัดกันชมอำนาจเปลี่ยนมือมาอยู่กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ที่มีข่าวลือว่า “ดีล” เอาไว้แล้วกับ “นายใหญ่” พรรคฝ่ายค้าน จริงหรือไม่
และท่ามกลาง ความเชื่อมั่นอย่างสูงของฝ่าย “ทักษิณ” ที่จะกลับมายิ่งใหญ่บนสังเวียนการเมืองไทย หลังจากต่อสู้จนได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้สูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ บัญชีรายชื่อ หาร 100 ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมกัน จนอาจำให้ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือ “ถล่มทลาย” ได้ไม่ยาก
แต่ชัยชนะของฝ่าย “ทักษิณ” ก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งตามมา ระหว่างคนที่ไม่เอา“ทักษิณ” เนื่องจากคดีทุจริตในอดีตกับคนที่รัก “ทักษิณ” รวมทั้งการสกัดจากฝ่าย “3 ป” (ถ้าการต่อรองอำนาจไม่ลงตัว) รวมทั้งมีคนจองกฐินเอาไว้แล้ว ว่า หากชัยชนะของพรรคเพื่อไทยแบบแลนด์สไลด์ นำไปสู่การพา “ทักษิณ” กลับบ้าน บ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่
ยิ่งกว่านั้น ภาพที่เห็นชัดอีกอย่าง ก็คือ การเลือกข้างทางการเมืองของ “สองขั้วขัดแย้ง” ระหว่างฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป(ความหวังอยู่ที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ) กับฝ่ายที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรฝ่ายค้านกลับมาเป็นรัฐบาล เพราะไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ และไม่ต้องการ “3 ป” อยู่ในอำนาจต่อไป ก็เป็นอีกประเด็น ที่ทำให้การเมืองมี “ทางเลือก” แค่ “สองทาง” คือ ไม่เอา “ประยุทธ์” ก็เอา“ทักษิณ” เนื่องจากทางเลือกอื่น ยังไม่ชัดเจน ว่าจะมี “ขั้วที่สาม” หรือไม่ อย่างไร
กระทั่งการจับมือระหว่าง “กรณ์” กับ “สุวัจน์” คำถามถึงความร่วมมือ จึงถูกโยงไปถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และนายอุตตม สาวนายนหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ที่จะนำไปสู่ทางเลือก “ขั้วที่สาม” ได้หรือไม่
อย่าลืมว่า พรรคไทยสร้างไทย โดย คุณหญิงสุดารัตน์ ได้เปิดตัว สุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เพิ่งหมดวาระ และได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council : ABAC 2022) และประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท. เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคไปแล้ว
ทั้ง “สุพันธุ์” ยังได้รับการกล่าวขานว่า เป็นผู้ประกอบการ SMEs ตัวเล็กๆ ที่สามารถขยายกิจการจนเติบโต นำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชนได้มากถึง 4 บริษัท เป็นคนที่มองอนาคตได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ของเทคโนโลยีและธุรกิจ เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์ คิดได้และทำเป็น ซึ่งเป็น DNA ที่ตรงกับตนเอง นอกจากจะเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศแล้วยังเป็นที่ยอมรับของนานาชาติด้วย อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่สามารถสร้างทุกอย่างให้เติบโตขึ้นมาได้ด้วยฝีมือของตนเองเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ไกล
นอกจากนี้ การหาเสียงของพรรคไทยสร้างไทยที่ผ่านมา ยังเน้นนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังทุกข์ร้อนอยู่เป็นสำคัญ
สำหรับ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ที่ถูกพูดถึง เนื่องจากมีความชัดเจนว่า ได้วางตัว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เป็นแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” ของพรรค แม้ว่าจะยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการก็ตาม
ที่น่าสนใจ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (1ส.ค.65) ถึงการพูดคุยกับ ดร.สมคิด กรณี “ดีเบต” ซึ่งดร.สมคิดอ้างว่า ไม่ถนัด แต่ก็มีคำตอบที่เห็นได้ชัดว่า “สมคิด” วางจุดยืนทางการเมืองเอาไว้อย่างไร
“...ผมถามว่า ถ้าพรรคสร้างอนาคตไทย เสนอชื่ออาจารย์เป็นแคนดิเดตนายกฯ อาจารย์ก็ต้องออกไปดีเบตกับบรรดาว่าที่นายกรัฐมนตรีทุกคน อาจารย์ก็ต้องพูดการเมืองอาจารย์หัวเราะ แล้วโบกไม้ โบกมือตอบว่า
ผมไม่ดีเบตกับใคร การพูดการเมืองมันต้องกระทบกระทั่งกันบ้างไม่มากก็น้อย ประเทศควรเลยเวลานั้นมาแล้ว ถ้าพรรคสร้างอนาคตไทย เสนอผมเป็นแคนดิเตต ผมก็ให้คนในพรรคออกไปดีเบตเอง ผมจะพูดบางเรื่อง-บางครั้ง-และบางเวลา เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่จะไม่ไปดีเบตกับใคร
ผมถามว่า เอ้า! แล้วถ้าพรรคเสนออาจารย์ แล้วอาจารย์ไม่ดีเบต จะหาเสียงให้พรรคได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า “การเมืองเป็นเรื่องของความเชื่อ” ถ้าประชาชนเบื่อความขัดแย้ง ประชาชนกังวลเรื่องปากท้องของตนเองและลูกหลานในอนาคต เขาก็คงทิ้งปัญหาความขัดแย้ง มาเลือกพรรคการเมืองที่จะแก้ปัญหาปากท้องให้เขา อยู่ที่ประชาชนจะเชื่อใครว่า แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
ผมถามว่า อาจารย์หนักใจเรื่องอะไรบ้าง อาจารย์ตอบว่า ประเทศนี้ มีคนที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจริงๆ และไม่ฝักใฝ่การเมือง 4-5 คน นับว่าน้อยมากกับปัญหาเศรษฐกิจที่หนักขึ้นทุกวัน แล้วอาจารย์ก็นับนิ้ว เอ่ยชื่อคนเหล่านั้นมาให้ฟัง
อาจารย์ให้การบ้าน ว่า พรรคสร้างอนาคตไทย ต้องไปหาคำตอบให้ได้ว่า ครั้งหน้าประชาชนจะใช้ประเด็นใดในการตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎรของเขา จะเลือกตามประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต หรือจะเลือกประเด็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นี่คือทางสองแพร่ง นี่คือจุดแพ้-ชนะ ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
ประเด็นก็คือ ถ้าต้องการแก้ปัญหา “วิกฤติเศรษฐกิจ ลดความขัดแย้งในสังคม” พรรคที่มีแนวคิดตรงกันจะต้องจับมือกัน ทำ “การเมืองขั้วที่สาม” ให้เป็นกลุ่มก้อน และ “มีพลัง” มากพอที่จะเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้ประชาชนได้
ไม่อย่างนั้น ก็ยังคงอยู่ใน “วังวน” ของ “สองขั้วขัดแย้ง” ไม่เลิกรา
ไม่รู้คาดหวังสูงไปหรือไม่ การเมืองไทย ประชาธิปไตยไทย ควรมีทางเลือกให้กับประชาชน มากกว่า หนึ่ง สอง สาม หรือสี่ ด้วยซ้ำ ใครว่าจริงหรือไม่