การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

คอลัมน์มังกรซ่อนพยัคฆ์ โดย ประชา บูรพาวิถี / เก็บตกศึกเลือดสุพรรณ “แอ๊ด คาราบาว” บนเส้นทางเพลง ธุรกิจและการเมือง จากซ้ายสุดขั้ว สู่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ สไตล์นักเลงโบราณ ไม่มีพรรคแต่มี “พวก”

จบอย่างรวดเร็ว กรณีศึกเลือดสุพรรณ ระหว่าง ยืนยง โอภากุล กับณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ แอ๊ด คาราบาว รุ่นพี่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ออกมาขอโทษรุ่นน้องผู้ว่าฯ สถาบันการศึกษาเดียวกัน

จริงๆแล้ว ตัวละครหลักในดราม่าผู้ว่าฯ ห้ามวงคาราบาว แสดงคอนเสิร์ตที่งานดอนเจดีย์ ต่างก็เป็นคนสุพรรณบุรี 

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

เริ่มจาก “กำนันพุก” ปิยพจน์ เกียรติชูสกุล เจ้าของงานวันเกิด และเจ้าของสถานที่ ผู้ว่าจ้างวงคาราบาวไปแสดง ก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่ง ต.บางเลน อ.สองพี่น้อง และเป็นสายตรงบ้านใหญ่บรรหารบุรี

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

ณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี คนศรีประจันต์ ขยับขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในยุคพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 

สำหรับแอ๊ด คาราบาว ก็เกิดที่ลุ่มน้ำท่าจีน เคารพรักมังกรสุพรรณ “อาบรรหาร” แต่ก็เคยวิจารณ์อาบรรหารแบบแรงๆ ผ่านบทเพลงชื่อ บุญหมา เมื่อปี 2538

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

ปีที่แล้ว แอ๊ด คาราบาว แสดงจุดยืนสนับสนุนน้องรัก “หัวหน้าอี่” ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ที่ถูก อกพ.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมติปลดออกจากราชการ 

แอ๊ดให้สัมภาษณ์ Optimise Magazine เมื่อเร็วๆนี้ว่า “...เมื่อเช้าทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทำน้ำตกพุม่วง อยากเชิญให้แต่งเพลง ผมบอกผมไม่ไป เพราะผมไม่ชอบที่รัฐมนตรีของเขา สั่งปลดอี่ (ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร) เขาคนดี ไปปลดเขาได้ยังไง..”

ด้วยความรักหัวหน้าชัยวัฒน์ ศิลปินเมืองสุพรรณพูดถึง วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่างตรงไปตรงมา “...ผมรักความยุติธรรม อาจจะเป็นวิธีคิดของนักเลงโบราณ แต่ผมเป็นอย่างนั้น ชีวิตผมวุ่นอยู่แต่กับเรื่องแบบนี้” (Optimise Magazine)

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

บนเส้นทางชีวิตของแอ๊ด และบทเพลงวงคาราวบาว นับแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน เหมือนบันทึกประวัติศาสตร์อันหลากหลาย มีทั้งความเป็นซ้ายสุดขั้ว, ทหารประชาธิปไตย ,ประชาธิปไตยจ๋า และประชาธิปไตยแบบไทยๆ สไตล์นักเลงสุพรรณ 


เลี้ยวไปทางซ้าย
 

แอ๊ด คาราบาว เรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน(14 ต.ค.2516) เมื่อเรียนจบ ทางพ่อแม่ส่งไปเรียนต่อที่ฟิลิปปินส์ เพื่อจะได้ห่างไกลจากอิทธิพลความคิดการเมืองในยุคนั้น

ปี 2520 แอ๊ดเรียนจบสถาปัตย์กลับมาจากฟิลิปปินส์ ทำงานเป็นสถาปนิกบริษัทเอกชน และร่วมกับเพื่อนตั้งวงดนตรี เล่นตามห้องอาหารในโรงแรม ช่วงนี้เองที่แอ๊ดได้เข้าไปสัมผัสงานลับในเมือง ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

ระหว่างปี 2520-2526 แอ๊ดได้ทำงานเป็นหน่วยเมล์(พลเดินสาร) ในจัดตั้ง พคท.อีสานใต้ ทำหน้าที่ม้าเร็วส่งข่าว ส่งคน ส่งของ จากเมืองสู่เขตป่า โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายเชี่ยว” อยู่ในสายจัดตั้ง “แหลมเยี่ยม” ที่รับผิดชอบงานในเมืองสายขอนแก่น-นครราชสีมา 

ปลายปี 2523 แอ๊ดเข้าไปทัศนศึกษาที่เขตงานภูพาน(นครพนม-กาฬสินธุ์) เป็นเวลา 1 เดือน ร่วมกับปัญญาชน และนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังอีกหลายคน

สถานการณ์วิกฤตศรัทธาใน พคท. ป่าใกล้แตก แอ๊ดและเพื่อนพ้องชาววงคาราบาว มีผลงานเพลงชุดแรก “ลุงขี้เมา” ออกสู่ตลาดเพลง 


มะโหนก 9 กันยา
 

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “ถึกควายทุย” เป็นเพลงชุดมีทั้งหมด 10 ภาค ไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องเล่าชีวิตของชนชั้นล่าง ตัวละครขึ้นมาชื่อ “มะโหนก” มีภรรยาชื่อ บัวผัน และมีเพื่อนชื่อ บัวลอย นั้นน่าจะมีตัวตนในชีวิตจริง

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

มะโหนกคนนั้นน่าจะหมายถึง พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในอดีต) หรือ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ผู้นำทหารยังเติร์ก จปร.7 ที่ก่อการรัฐประหาร 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏยังเติร์ก

บุคคลที่จะนำพา แอ๊ด คาราบาว ไปรู้จักกับมนูญ รูปขจร คือ “อาจารย์โป๊ป” พนัสชัย ศุภมิตร ผู้ปฏิวัติการดนตรีในนามวงม้าเหล็ก และอัลบั้มเพลงชุดนักรบ

ยุคสงครามเย็น พนัสชัย ศุภมิตร เดินทางไปศึกษาวิชาการดนตรีที่สหรัฐ อเมริกา ยุคนั้นมีการเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนาม พนัสชัยได้อ่านหนังสือแนวปรัชญาการเมือง และการทหาร 

เมื่อกลับเมืองไทย อาจารย์โป๊ปพบว่า อุดมการณ์ชาตินิยมคือทางออก จึงทำอัลบั้มเพลงชุดนักรบ และเขายังเป็นครูการเมือง ให้นายทหารหนุ่ม ซึ่งมีอุดมการณ์ตรงกันคืออุดมการณ์ชาตินิยม และหนึ่งในนั้นคือมนูญ รูปขจร

อาจารย์โป๊ปเล่าเรื่องราวของมนูญ ให้ลูกศิษย์ชื่อแอ๊ด คาราบาว ฟังอยู่เสมอๆว่า ผู้การมนูญเป็นชายชาติทหารผู้เสียสละและไม่เคยทิ้งลูกน้อง 

ในที่สุด แอ๊ดจึงเข้าร่วมปฏิบัติการยึดอำนาจล้มรัฐบาลเปรม โดยการนำของ มนูญ รูปขจร เมื่อ 9 ก.ย.2528 โดยวงคาราบาว ได้รับมอบหมายให้ไปเปิดการแสดงดนตรีที่เวทีสวนอัมพร ประสานกับกองกำลังทหารม้า ม.พัน.4 และทหารอากาศโยธินจำนวนหนึ่ง แต่ปรากฏว่า ไอ้โม่งไม่มาตามนัด ฝ่ายก่อการรัฐประหาร จึงถูกปราบจนแตกพ่ายไปในที่สุด

หลังจากปีนั้น แอ๊ดยังให้ความช่วยเหลือมนูญ ระหว่างลี้ภัยในต่างแดน ผ่านทางอาจารย์โป๊ป และเริ่มห่างหายกันไปในช่วงที่อาจารย์โป๊ปไปช่วยงานไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สมัยรัฐบาลชาติชาย


ด่าทุกพรรครักทุกคน
 

สมัยรัฐบาลชาติชาย แอ๊ดแต่งเพลง “โนพลอมแพลม” วิจารณ์แนวนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม และไม่พอใจการโกงกินของรัฐมนตรีสมัยโน้น

เมื่อนายทหาร จปร.5 ทำรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แอ๊ดได้แต่งเพลง “ทะเลใจ” ให้ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เพราะแอ๊ดชื่นชอบนายทหารคนนี้เป็นการส่วนตัว

การเมืองสไตล์ “แอ๊ด คาราบาว” ประชาธิปไตยดื่มได้

พลันที่เกิดเหตุการณ์เสียสัตย์เพื่อชาติ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แอ๊ดก็กระโจนไปร่วมประท้วงกับ พล.อ.จำลอง ศรีเมือง ขับไล่สุจินดา

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แอ๊ด คาราบาว ชูธงประชาธิปไตย แต่งเพลงวิพากษ์นักการเมืองตรงไปตรงมา รวมถึงนายกรัฐมนตรียุคหลังๆ โดนวิจารณ์ผ่านบทเพลงทุกคน

สมัยคนโตตัวเล็กแห่งสุพรรณบุรี ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แอ๊ด คาราบาว ได้แต่งเพลง “บุญหมา” ในอัลบั้น 15 ปี คาราบาว หากหัวใจยังรักควาย ทวงคำสัญญาปฏิรูปการเมืองจาก บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย “สัญญากันไว้ จำได้ไหมนายกฯ คนดี ว่าเสร็จเลือกตั้งครั้งนี้ จะปฏิรูปการเมือง...”

“สงสารบุญหมาเถิดครับ คุณอาบรรหาร เราเกิดร่วมกระแสธาร ก่อสร้างประชาธิปไตย บ้านเมืองจะห่วย คนไม่เป็นมวยเป็นใหญ่ ไม่คิดไม่ทำอะไร ให้มันแจ่มใสเหมือนดังวาจา”

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังแอ๊ดได้ร้องเพลง “มังกรสุพรรณ” เชิดชูคุณงามความดี “อาบรรหาร” ที่ช่วยพัฒนาสุพรรณบุรีให้เจริญรุ่งเรือง

ไม่ใช่แต่วิจารณ์นักการเมือง แอ๊ด คาราบาว ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ร้องเพลงประจำพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคในประเทศไทย

“ทุกค่ายก็จ้างผมแต่งเพลงหมด ไทยรักไทยก็จ้างผมแต่งเพลง ประชาธิปัตย์ก็จ้างผมแต่งเพลง ผมไม่เคยทะเลาะกับพวกนักการเมือง ไม่ดีกูก็ด่ามึงเท่านั้นแหละ แล้วก็ลืมไป เจอกันวันหลังก็เซย์ไฮ จบ” (Optimise Magazine)


นี่คือการเมืองสไตล์นักเลงโบราณแบบ แอ๊ด คาราบาว เหมือนที่เขาบอกผ่านทีมงาน Optimise Magazine “..ชีวิตผมวุ่นอยู่แต่กับเรื่องแบบนี้ ไม่งั้นก็ไม่ได้มีอะไร ตั้งแต่มนูญ รูปขจร จำลอง ศรีเมือง ฉลาด วรฉัตร ไปยุ่งไปช่วยเขา เมื่อก่อนเป็นเรื่องของผู้คนประชาชน แต่วันนี้ผมพอแล้ว”