“ทักษิณ-เพื่อไทย” เล่นเกมถนัด “ค่าแรง 600” โคตรประชานิยม
“บอกให้เลย ถ้าพรรคเพื่อไทยบริหาร โดยไม่มีขบวนการเฮงซวยมาก่อกวน รับรองว่า 800 บาท ยังทำได้เลย ใน 4 ปีปั่นเศรษฐกิจให้ดี และไม่ใช่ว่าหลวงต้องจ่าย แต่ระบบจะเอื้อให้ภาคเอกชนต้องจ่ายเงินเองโดยธรรมชาติ”
บางตอน ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ผ่านเพจเฟซบุ๊ก CARE • แคร์ คิด เคลื่อน ไทยหัวข้อ จาก “คิดใหม่ ทำใหม่” ของไทยรักไทย มาถึงยุคสมัย “คิดใหญ่ ทำเป็น” ของเพื่อไทย
“ทักษิณ” กล่าวด้วยว่า “นโยบายเพื่อไทย ถ้าไม่รู้จริงอย่าโจมตี เพราะเขาพูดแล้วทำได้จริงทุกอย่าง อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ตอนแรกไม่มีใครเอา สุดท้ายตนทำได้หรือนโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ถูกพรรคประชาธิปัตย์โห่จะหาเงินที่ไหนมาดังนั้นนโยบายเพื่อไทยใครอย่าสบประมาทเพราะทำได้ทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นไม่กล้าพูดเขามีทีมคิด ทีมวิจัย ไม่ใช่คอยดูดงบประมาณอย่างเดียว จุดอ่อนของคนที่ต้านคือ คิดมิติเดียว ไม่คิดถึงความเชื่อมโยง เมื่อเชื่อมโยงไม่เป็นก็ค้าขายแข่งกับเขาลำบาก”
ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก “ทักษิณ” หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาตอบโต้ เสียงวิจารณ์ ว่า
“วิสัยทัศน์ปี 2570 ที่แถลงไปทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เป็นหนึ่งในนั้น เข้าใจดีที่มีการถกเถียง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจประเทศไม่ดี คงคิดว่าต้นทุนผู้ประกอบการต้องเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าหากคิดวันนี้เดือดร้อนแน่ แต่เราพูดถึงเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่จะเติบโตพร้อมกันทั้งระบบ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่เคยขึ้นสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผ่านมา กว่า 10 ปีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทเท่านั้น เราต้องคิดใหญ่เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศมูฟไปด้วยกัน แต่ไม่ใช่นำงบประมาณมาใช้...”
อย่างไรก็ตาม การออกมาตอบโต้เสียงวิจารณ์ โดยยกเรื่องเศรษฐกิจจะดีขึ้นในอนาคตด้วย “ฝีมือ” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น ดูเหมือนยังเลื่อนลอยอยู่มาก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังคงมีน้ำหนักอยู่ดี แถมพุ่งเป้าไปที่การใช้หาเสียงมากกว่า
โดยเฉพาะกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์
บางตอน นายนิติธร กล่าวว่า “การเสนอค่าแรง 600 บาทต่อวัน ที่น่าสนใจคือ เจตนาทำจริงหรือไม่ หรือเอาแต่พูดเลอะเทอะไปเรื่อย หรือเพียงเพื่อให้ตรงความต้องการของประชาชน แล้วจะได้เสียงเลือกตั้ง ถามว่า แล้วผ่านมา 4 ปี ทำไมไม่ทำ พรรคก้าวไกลยังเสนอ พ.ร.บ.สุราเสรี แม้ไม่ผ่านสภาก็ได้พยายามทำให้เป็นจริงจังตามที่ประกาศไว้แล้ว”
ขณะที่นายจตุพร กล่าวบางตอนว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ การประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จะทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นไปแล้ว แต่ยังไม่มีรายรับเกิดขึ้นแต่อย่างใด
“ถ้าประยุทธ์ ทำค่าแรงขั้นต่ำตามสัญญา 425 บาทให้ได้ แต่ก็ทำไม่ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายก็ถีบตัวขึ้นไปไกลแล้ว เมื่อเพื่อไทยประกาศ 600 บาท ในปี 2570 สิ่งที่น่าคำนึงคือ ค่าครองชีพจะมากตามตัวไปด้วย แล้วรายรับจะเหลือเท่ากับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ดังนั้น รายเหลือจึงสำคัญในการเก็บออมของชีวิตเช่นกัน แต่ทุกอย่างของรายรับย่อมไปจบที่ธุรกิจเจ้าสัวเหมือนเดิม”
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ เรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน(9 ธ.ค.65) โดยตั้งคำถามแบบ “ท้าทายความสำเร็จ” ในการเสนอนโยบายเรื่องนี้
“ผมมีคำถามในใจ 5 ข้อ ที่ผมคิดว่า ถ้าสามารถช่วยกันหาคำตอบได้ ก็น่าจะพอมีทางผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาท โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากจนเกินไปนัก (และบางประเด็นอาจจะเหมาะกับการยกระดับเงินเดือนเป็น25,000 บาทนะครับ) เราวางสี วางพรรคลงก่อน แล้วช่วยผมหน่อยนะครับว่า ถ้าเราต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้จริง เราจะรับมือกับประเด็นเหล่านี้ยังไง...(จริงๆ มีอีกคำถาม2-3 ข้อแต่ขอเก็บไว้เป็นข้อสอบปลายภาคให้นักศึกษาช่วยกันคิดในเทอมหน้านะครับ)
1.ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตติดต่อกันได้ 5% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี จะทำให้เศรษฐกิจเราโตขึ้นอีกประมาณ 21.6% หากเพิ่มค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลา 4 ปี สมมติว่า เป็นกรุงเทพมหานครที่ตอนนี้ค่าแรงชั้นต่ำเท่ากับ 353 บาท การเพิ่มเป็น600 บาท ใน 4 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 70% นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าจะให้เศรษฐกิจกับค่าแรงโตไปด้วยกันแต่ละปีเศรษฐกิจต้องโตไม่น้อยกว่าปีละ 14.2% ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
ผมเลยขอตัดทางเลือกนี้ออกไปนะครับ อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้มากกว่า คือ ยังรักษาการเติบโตไว้ที่ 5%-8% แล้วหาทางกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ไปถึงแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้น การออกแบบกลไกนี้มันซับซ้อนกว่า “การเติบโตแบบทั่วถึง” (Inclusive Growth) มันต้องเป็นกลไกระดับ “การเติบโตแบบกึ่งมุ่งเป้า” (Semi-Exclusive Growth) ที่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย ให้ความสำคัญภาคธุรกิจรายย่อยและ SMEs และให้ความสำคัญกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด กลไกที่ว่านี้ควรจะหน้าตาเป็นยังไงกันดีครับ?
2. สืบเนื่องจากข้อ 1 การเติบโตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ดังนั้นเราตัดโครงการตระกูลคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือการแจกเงินแบบต่าง ๆ ออกไปจากตัวเลือกได้เลยครับ เพราะนโยบายแบบนี้ใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้น สิ่งที่เราต้องการเห็นคือคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในระยะยาว จึงต้องเป็นการเติบโตที่เกิดจากเนื้อแท้ของระบบเศรษฐกิจเกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดจากการพัฒนาคุณภาพของคน นโยบายสารพัดแบบที่รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น เราคงต้องหาเครื่องมือใหม่ หรือวิธีการใหม่ไปใช้กับแนวทางเดิม เครื่องมือ/แนวทางใหม่ที่ว่าจะเป็นแบบไหนได้บ้างครับ?
3. แรงงานกับผู้ประกอบการเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน ยังไงก็ต้องอยู่ไปด้วยกัน อาจมีกัดกันแรงบ้างเบ้าบาง แต่ก็หนีกันไม่พ้น การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ให้นึกภาพแบบนี้ครับ เราเปิดร้านขายอาหาร ถ้าหน้าร้านมีลูกค้ามาเข้าแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหาร การที่พนักงานในร้านเก่งขึ้น ช่วยให้ทำอาหารเสร็จ อร่อยและขายได้ไว้ขึ้น เจ้าของร้านที่ไม่ใจร้ายก็พอรับได้กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหน้าร้านมีลูกค้าหรอมแหรมแล้วยังต้องเพิ่มค่าแรงให้พนักงาน เจ้าของร้านก็อยู่ลำบาก ฉันใดก็ฉันนั้นหากคิดแบบ Win-Win ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐก็มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และการช่วยหาลูกค้ามาเข้าแถวหน้าร้าน เราจะทำแบบนี้ได้ยังไงบ้างครับ?
4. สืบเนื่องจากข้อ 3 การ Upskill หรือ Reskill แรงงานจะยกระดับทักษะได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับทักษะที่เป็นทุนเดิมของแรงงาน แรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ทักษะที่เป็นทุนเดิมอาจจะไม่พอให้สามารถ Upskill หรือ Reskill ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้ การยกระดับค่าแรงโดยไม่ยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้เพิ่มขึ้นมาด้วยยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน เราจะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้เก่งขึ้นใน 4 ปีได้อย่างไร?
5. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบนี้แรงงานข้ามชาติก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เราจะป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาได้อย่างไร? ที่สำคัญถ้าเขาเข้ามาในประเทศแล้วเราต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครเป็นแรงงานไทยใครเป็นแรงงานข้ามชาตินะครับ อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของค่าแรงขั้นต่ำคือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์เป็นแรงงานข้ามชาติ มันก็ออกจะแปลกไปนิดนึงนะครับ....
นั่นคือ ภาคต่อของก่อนหน้านี้ (7ธ.ค.65) ที่ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว โพสต์ เรื่องค่าแรง 600 บาท ป.ตรี 25,000 บาท ก็กอดคอกันลงเหวไปเลยสิครับ!!!
โดยระบุว่า เพื่อให้เห็นภาพที่ต่อเนื่อง ในการวิเคราะห์เราควรแยก “อดีต” กับ “อนาคต” ด้วยนะครับ…
Season 1 : มองอดีต
1. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าแรงไม่ได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องในระดับที่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ ผมไม่ได้พูดถึงเงินเฟ้อในภาพรวมของประเทศ สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยรายได้ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ เราต้องดูเงินเฟ้อปากท้องที่คำนวณโดยใช้ราคาของกินของใช้และบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ผมเคยคำนวณเอาไว้คร่าว ๆเงินเฟ้อปากท้องจะสูงกว่าเงินเฟ้อภาพรวมประมาณ 2-5 เท่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วง (ดูได้จากลิงค์นี้ครับ shorturl.at/byMR6 ) นั่นหมายความว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพียงแค่ให้เท่ากับค่าครองชีพก็ยังไม่พอเลย นับประสาอะไรกับการเพิ่มที่น้อยกว่าค่าครองชีพ ดังนั้น ค่าแรงแท้จริงของคนกลุ่มนี้จึงไล่ไม่ทันค่าใช้จ่ายรายวัน พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งอยู่ไปอยู่ไปพวกเขาอย่างดีฐานะก็เท่าเดิม อย่างแย่ก็จนลงกว่าเดิม
2. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาท ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ลองไปดูตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพและปริมณฑล แล้วใช้เงินเฟ้อปากท้องมาเป็นฐานในการเทียบ จะพบว่า ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปีเงินเฟ้อปากท้องก็ไล่ทันค่าแรงที่เพิ่มขึ้น คนที่เคยได้ประโยชน์จากค่าแรงก็กลับมาอยู่ ณ จุดเดิม เงิน 300 บาทที่ได้พาเขากลับไปสู่อดีตก่อนที่เขาจะได้ 300 บาทในเวลาที่รวดเร็วมาก ในทางเศรษฐศาสตร์นี่คือการบีบให้กลไกตลาดให้รางวัลแค่แรงงานในทางอ้อม เรียกว่าเป็นโบนัสเชิงนโยบายก็ได้
3. ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจตัวเล็กตัวน้อย โดนหมัดฮุุกเข้าท้องน้อย ทำให้โตต่อได้ยาก เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็นร้อยละ 50-70 ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนธุรกิจใหญ่ที่ปกติจ่ายค่าแรงสูงกว่า 300 อยู่แล้ว ผลกระทบมีไม่มากนัก แม้ว่าผมจะไม่มีข้อมูล แต่ตามหลักแล้ว สถานการณ์เช่นนี้มักนำไปสู่ปัญหาทักษะไหล เพราะคนเก่งจะถูกบริษัทใหญ่ดึงตัวไปมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยต้องปล่อยคน หรือไม่ก็ปิดตัวลง
4. บทเรียนจากการทบทวนวรรณกรรมเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดทั่วโลกได้ผลตรงกันว่า ดีกับพรรคการเมือง แต่ไม่ดีกับประชาชน องค์การแรงงานระหว่างประเทศจึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ (Guidelines) ลองดูในบทที่ 5 ของเอกสารนี้นะครับ ( https://www.ilo.org/global/docs/WCMS_508566/lang–en/index.htm ) ลองอ่านแล้วจะเห็นว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท (600 บาท เพิกเฉยต่อแนวปฏิบัติไปกี่ข้อ)
5. การขึ้นค่าแรง 300 ที่อ้างว่าเราประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดูได้จากการที่อัตราการว่างงานของเราต่ำมากอยู่ที่ไม่เกิน 2% ที่ต้องบอกคือ ประเทศอื่น ขนาดตอนเศรษฐกิจเขาดี ๆ อัตราการว่างงานเขายังอยู่แถว 3% แล้วทำไมไทยถึงต่ำขนาดนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะนิยามของการมีงานทำที่ระบุว่า แค่ทำงาน 1 ชม ต่อสัปดาห์ก็มีงานทำแล้วยังไงล่ะครับ แต่ถ้าเป็นแถวบ้านอาทิตย์นึงทำงาน 1 ชั่วโมงแล้วเวลาที่เหลือนอนดูซีรี่ส์นี่ แถวบ้านเรียกตกงานนะครับ (ดูนิยามการมีงานทำได้ ที่นี่ ) ดังนั้น ข้ออ้างเรื่องตลาดแรงงานตึงตัวจึงเป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล
6. แม้ว่าค่าแรงจะขึ้นเป็น 300 แต่อัตราการว่างงานของเราไม่กระโดดขึ้นมาเหมือนที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ นั่นเป็นเพราะปี 2555-2556 หรือเมื่อ 10 ปีก่อนต้นทุนการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานยัง “แพง” และ “แทนได้ไม่ดี” ธุรกิจจึงต้องกัดฟันทนกันไป
Season 2: Spoiler ภาพอนาคต
มีอะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้น
1. ค่าแรงกระโดดเป็น 600 เท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำย้อนกลับการขึ้นค่าแรง 600 บาทเท่ากันทุกจังหวัด ทำลายโอกาสได้งานในจังหวัดที่ไม่ใช่แม่เหล็กทางเศรษฐกิจ คนจะเดินทางมาหาโอกาสทำงานในจังหวัดที่เจริญแล้ว เพราะน่าจะมีความสามารถในการจ่ายได้มากกว่า เมื่อแรงงานออกจากจังหวัด ความเจริญก็ไหลออกตามมาด้วย กำลังซื้อในจังหวัดจะลดลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างจังหวัดมากขึ้น (ดูได้จาก)
2. บริบทการฟื้นตัวแบบ K-Shape เราเห็นแล้วว่า การระบาดของโควิด ที่มาพร้อมDisruption ระยะที่ 2 ที่หมายถึงระยะที่ต้นทุนการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานทำได้ง่าย และเปลี่ยนแล้วคุ้มค่า หมายความว่า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องง้อแรงงาน ยิ่งค่าแรงขึ้นแรง การเปลี่ยนไปใช้เทคโลยีแทนยิ่งคุ้ม ดังนั้น จะเอาข้อมูลในอดีตว่าไม่เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานมาใช้กับบริบทหลังโควิดจึงไม่เหมาะสม (บทความของคุณกษิดิ์เดช คำพุช แห่ง 101 แสดงข้อมูลเรื่อง K-Shape ไว้ชัดเจนมาก ขออนุญาตแชร์นะครับ Kasidet Khumpuch )
3. เราพูดถึงที่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 จะทำให้เวียดนามยิ้มร่า ผมขอบอกเลยว่า ไม่ใช่แค่เวียดนามที่ยิ้มร่า อาเซียน and beyond ยิ้มกันหมดครับ ย้ายฐานการผลิตเกิดขึ้นแน่
แต่ๆๆๆๆ ที่ผมห่วงไม่ใช่แค่เงินไหลออกครับ ลักษณะของเงินทุนใหม่ที่ไหลเข้ามา เขาไม่ได้ต้องการแรงงานระดับที่ใช้ชีวิตอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำ เขาต้องการแรงงานทักษะสูงนั่นหมายความว่า ต่อให้ FDI เข้ามาจนประเทศไทยสำลัก ก็ไม่ได้การันตีว่า คนที่ตกงานจากการย้ายฐานการผลิตจะได้งาน
4. ค่าแรง 600 เราจะได้เห็นผีน้อยหลายชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย คนไทยที่ตกงานก็ต้องต่อสู้แย่งชิงงานกับเขา จำนวนแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้น อันนี้น่ากลัวเพราะถ้าคนรายได้น้อยหลุดออกจากระบบ Safety Net ทั้งหลายก็จะหายไปด้วย 600 ไม่ได้ ครอบครัวลำบาก ชีวิตไม่มั่นคง…ธุรกิจมีกำไรลดลง…ฐานภาษีของรัฐก็หายไปด้วย…
5. ค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ กระทบการท่องเที่ยว กระทบกับคนมีรายได้ประจำ ตอนนี้ยังไม่แน่ใจเลยว่าผลจะหนักหนาแค่ไหน เพราะยังไม่ได้ใส่ปัจจัยเรื่องสภาพอากาศและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าถามลางสังหรณ์ ผมใจหวิว ๆ ครับ
6. ค่าครองชีพจะนำไปสู่การใช้นโยบายประชานิยมอีกรอบหรือเปล่า ถ้าฉายหนังซ้ำแบบนี้อีก ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำสูง แต่น้ำตานองแผ่นดิน คุ้มหรือไม่คุ้มลองคิดดูนะครับ
ยิ่งกว่านั้น กรณี ศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนถึง “ทักษิณ” เรื่อง “เปลือยทักษิณ ผู้ไม่เคารพกฎหมาย” ก็สะท้อนวิธีคิดการทำงานการเมืองของเขาเป็นอย่างดี
โดยบางตอนระบุว่า “...การวาดฝันเอาใจประชาชนผู้ลงคะแนน ไม่ว่าในทางใดก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนที่จะพาตนเองเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
ในสายตาเขาประชาชน จึงเปรียบเสมือน “คนตาบอดที่ไม่กลัวเสือ”
วิถี “ประชานิยม” จึงเป็นไปเพื่อบรรลุจุดประสงค์เดียวคือให้ได้ ส.ส. เข้าสภามากที่สุดโดยมีรูปแบบดังนี้
(1) วาดฝันเรื่องกินดีอยู่ดี โดยไม่แจงที่มา
(2) ออกนโยบายเสื้อโหล one size fits all เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือ หนึ่งตำบล หนึ่งทุนที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ทุกคนแบบ “เหวี่ยงแห” แต่ไม่ได้คำนึงเลยว่า แต่ละหมู่บ้านต้องการเงินทุน 1 ล้านบาท หรือไม่ แต่ ผู้สมัคร ส.ส. เอาไปหาเสียงได้ง่าย และ
(3) เป็นแนวนโยบายที่แทรกแซงกลไกตลาดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตหน้าที่ของรัฐ เช่น จำนำข้าวทุกเมล็ด
ทักษิณ จึง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพราะไม่ได้ซื้อคะแนนเสียงโดยใช้เงินตัวเองเหมือนนักการเมืองอื่นที่ทำมา หากแต่กระทำยิ่งกว่านั้น คือเอาเงินคนอื่น (ภาษี) มาซื้อเสียงเพื่อให้ตนเองชนะ
...ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน จึงไม่ใช่นโยบายที่แปลกสำหรับทักษิณ เพราะคนออกกฎ(นโยบาย) ไม่ใช่คนจ่ายค่าจ้าง เช่นเดียวกับ จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท
เพราะเงินที่เอามาจ่าย คือเงินภาษี แต่ตัวเขาและพวกได้ประโยชน์จากการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
ทักษิณ อวดอ้างว่า รู้ดีเรื่องเศรษฐศาสตร์และอะไรอีกหลายศาสตร์ ทั้งที่จบเรื่องอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยบ้านนอก จึงหารู้ไหมว่า นายจ้างจะจ้างงานหรือมีอุปสงค์ในการจ้างงานก็เพราะ
ปัจจัย (1) ราคาสินค้าที่คนงานผลิต กับ (2) ประสิทธิภาพ (marginal product) ที่แรงงานนั้นมีอยู่
ดังนั้น ที่ลูกสาวมาแก้ตัวในภายหลังว่า ทำได้แน่นอนเมื่อเศรษฐกิจดีนั้น ระหว่างราคาสินค้าที่คนงานผลิตหรือประสิทธิภาพความสามารถที่คนงานจะมีมากขึ้นนั้น มันจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าจากปัจจุบันประมาณ 300 เป็น 600 บาท/วัน ไปได้อย่างไร?
คนงานเคยทำก๋วยเตี๋ยวขายได้วันละ 200 ใบ จะเพิ่มเป็น 400 ใบ ใน 5 ปี (พ.ศ. 2570) ไปได้อย่างไร มีมืองอกเพิ่มอีก 2 มือหรืออย่างไร?
หรือ ราคาก๋วยเตี๋ยวที่จะขายสามารถขึ้นราคาจาก 50 บาท เป็น 100 บาท ใน 5 ปีได้หรือ?
ถ้าฝืนขึ้นไปโดยที่คนงานยังทำก๋วยเตี๋ยวได้เท่าเดิม แต่ได้เงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าปริมาณเงินเพิ่มขึ้นในระบบแต่สินค้า/บริการจะมีเท่าเดิม
เงินเฟ้อก็เพิ่มตามมา 2 เท่าเช่นกัน!
สุดท้ายลูกจ้างก็จะบอกว่า มีรายได้วันละ 600 บาท ไม่พอกิน ต้องให้ขึ้นค่าจ้างอีก และเงินเฟ้อก็จะตามมาอีกเป็นงูกินหาง
ไม่รู้ว่า นักอาชญวิทยาที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจผูกขาดด้วยอำนาจรัฐอย่างทักษิณจะรู้บ้างหรือไม่เกี่ยวกับ wage-price spiral (ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ แบบงูกินหาง) การแก้ปัญหารายได้เขาไม่ทำกันแบบนี้
ทักษิณในช่วงแรก จึงเข้ามาสู่การเมืองเพื่อปกป้องกิจการตนเอง ซุกหุ้น ออกภาษีสรรพสามิตเพื่อลดการจ่ายค่าสัมปทานพร้อมกับกีดกันคู่แข่ง แต่เมื่อมีอำนาจก็แสวงหาผลประโยชน์จนต้องโทษในหลายๆคดี เช่น คดีที่ดินรัชดา
นโยบายประชานิยม จึงเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายเข้าสู่อำนาจปกครองและอาศัยอำนาจนี้เพื่อประโยชน์ตนเองเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์ประชาชนตามที่อวดอ้างเช่น นิรโทษกรรมสุดซอยในสมัยนายกฯ “ยิ่งลักษณ์”
ในสมัยลูกครั้งนี้ก็เช่นกัน เอาเงินคนอื่นมาซื้อเสียงเพื่อให้ได้อำนาจการเมือง เป้าหมายที่ไม่ได้บอก ก็คือ กลับบ้านแบบเท่ๆ (ไม่ติดคุก) ถ้าทำแบบนี้แล้วคนไทยในชาติใครจะยอม
ทุกคน จึงต้องเคารพกฎหมายที่ทักษิณออก แต่ทักษิณไม่เคยอายที่จะไม่เคารพกฎหมายแม้แต่ฉบับเดียวก็ว่าได้”...
ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ ไม่มีใครรู้ดีเท่า “ทักษิณ” ว่าคนไทยโดยเฉพาะ “คนรากหญ้า” เสพติด “ประชานิยม” จนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว เพราะเขา เป็นคนทำให้เสพติดเอง และทุกรัฐบาลที่เป็น “ทายาท” การเมืองของเขา ก็ได้รับเลือกตั้งอย่าง “ถล่มทลาย” เพราะนโยบายประชานิยม มาทั้งสิ้น
จึงไม่แปลก ที่ความฝันจะผลักดัน “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นสู่บัลลังก์ “นายกรัฐมนตรี” ต้องยิ่ง “อภิมหาประชานิยม” หรือ “โคตรประชานิยม” กว่าที่ผ่านมา ส่วนสโลแกน “เราต้องคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ก็คงหนีไม่พ้น “ทักษิณ” อยู่เบื้องหลัง? เพราะ “คิดใหญ่” แบบ “ประชานิยม” คือ เกมที่เขาถนัดนั่นเอง
ส่วนใครที่แอบ “ฝันหวาน” ว่า “เศรษฐกิจไทย” ในอีก 4 ปีข้างหน้า “ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย” (ถ้าความฝัน “แลนด์สไลด์” เป็นจริง) จะเติบโตแบบก้าวกระโดด จนผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำพุ่งพรวด 600 บาท ตามนโยบายได้ ก็ต้องไปลุ้นเอาเองว่า เขาคิดจริง ทำจริง และเก่งจริง หรือแค่ราคาคุยหาเสียงเท่านั้น!?