โฟกัส “อนุทิน-ภท.” กระแสแรง จับตาขั้วอำนาจเก่า “ผู้นำ” ใหม่?

โฟกัส “อนุทิน-ภท.” กระแสแรง จับตาขั้วอำนาจเก่า “ผู้นำ” ใหม่?

การเมืองไทยชั่วโมงนี้ น่าดูชมขึ้นมาทันควัน หลังพรรคภูมิใจไทย โชว์ “พลังดูด” ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองนับ 34 คน เข้าพรรคสำเร็จ เพื่อประกาศศักดาสู้ศึกเลือกตั้งในสมัยหน้า

นั่นหมายความว่า จากเดิมที่มีส.ส.จากการเลือกตั้ง 2562 อยู่แล้ว 51 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 65 คนในเวลาต่อมา บวกเข้าไปอีก 34 คน เวลานี้ มีถึง 99 คน แม้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่แน่ว่าทั้ง 99 คนจะกลับเข้าสภาได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือว่ามีต้นทุนรองกระเป๋าที่สูงเอาไว้ก่อน

 

ยิ่งไปกว่านั้น พรรคภูมิใจไทย ยังตั้งเป้า ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเอาไว้ที่ 90 คน + เผื่อว่าส.ส.เก่าที่ลงเลือกตั้งใหม่อาจสอบตกประมาณ 20-30% ดังนั้นที่คาดหวังได้อย่างน้อย 63 ที่นั่ง?

 

ที่สำคัญ พรรคภูมิใจไทย ยังมี “บ้านใหญ่” ทางการเมืองอยู่ในมืออีกหลายบ้าน ทั้ง บ้านใหญ่ปริศนานันทกุล บ้านใหญ่ไทยเศรษฐ ส่วนในภาคอีสาน ทั้งอีสานตอนบน อีสานใต้พูดได้ว่า มี “ส.ส.-นายทุน” แข็งแกร่ง พร้อมที่จะสู้กับพรรคเพื่อไทยอย่างสูสี รวมถึงภาคใต้ มีบ้านใหญ่-ทุนใหญ่ อย่าง “รัชกิจประการ” ดูแลพื้นที่

สำหรับคนที่ลาออกจากส.ส.ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ล่าสุด(16 ธ.ค.65) ประกอบด้วย

 

1.นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย จ.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์

2.นายเดชทวี ศรีวิชัย จ.ลำปาง พรรคเสรีรวมไทย

3.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ จ.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ

4.นายกษิเดช ชุติมันต์ จ.กรุงเทพ พรรคพลังประชารัฐ

5.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร จ.กรุงเทพ พรรคพลังประชารัฐ

6.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ จ.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ

7.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ จ.นครปฐม พรรคพลังประชารัฐ

8.นายประทวน สุทธิอำนวยเดช จ.ลพบุรี พรรคพลังประชารัฐ

9.นางสาวพัชรินทร์ ชำศิริพงษ์ จ.กรุงเทพ พรรคพลังประชารัฐ

10.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา จ.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ

 

11.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ จ.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ

12.นายอนุชา น้อยวงศ์ จ.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ

13.นายอัฐพล โพธิพิพิธ จ.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ

14.นายจักพรรดิ ไชยสาส์น จ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย

15.นายธีระ ไตรสรณกุล จ.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย

16.นายนพ ชีวานันท์ จ.อยุธยา พรรคเพื่อไทย

17.นายนิยม ช่างพินิจ จ.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย

18.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ จ.กรุงเทพ พรรคเพื่อไทย

19.นานวุฒิชัย กิตติธเนศวร จ.นครนายก พรรคเพื่อไทย

20.นายสุชาติ ภิญโญ จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย

 

21.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

22.นายขวัญเลิศ พานิชมาท จ.ชลบุรี พรรคก้าวไกล

23.นายคารม พลพรกลาง จ.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

24. นายพีรเดช คำสมุทร จ.เชียงราย พรรคก้าวไกล

25.นายเอกภพ เพียรวิเศษ จ.เชียงราย พรรคก้าวไกล

26.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ จ.อุบลราชธานี เศรษฐกิจไทย

27.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกิจกูล จ.ตาก เศรษฐกิจไทย

28.นายสมัคร ป้องวงษ์ จ.สมุทรสาครพรรคชาติพัฒนา

29.นางนันทนา สงฆ์ประชา แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาภิวัฒน์

30.นายอารี ไกรนารา แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ

31.นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ แบบบัญชีรายชื่อพรรครวมพลัง

32.สุชาติ อุสาหะ จากพรรคพลังประชารัฐ

33.พล.อ.สมชาย พิษณุวงศ์ จากพรรคพลังประชารัฐ

34.รังสรร์ วันไชยธนวงศ์ จากพรรคเพื่อไทย

 

แสดงให้เห็นว่า กระแสพรรคภูมิใจไทยแรงจริง และมองเห็นเป็นตัวเป็นตน มากกว่ากระแส “โพลล์” ที่สำรวจความนิยมประชาชนเสียอีก ทั้งยังไม่จำเป็นต้องวัดการ“ขึ้น-ลง” ของกระแสด้วย

 

นี่ยังไม่รวมถึง “พลังกัญชา” จากนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่ผลักดันกฎหมายค้างอยู่ในสภาฯอีก ซึ่งถือว่า “ขายได้” กับประชาชน ที่ใช้กัญชาเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน และผสมอาหาร เพิ่มรสชาติ ที่ไม่ต้องเสี่ยงถูกจับอีกต่อไป ถือว่า เป็น “นโยบายประชานิยม” อีกแนวหนึ่ง

 

อย่าลืมว่า นโยบายกัญชาเสรีนี่เอง ที่ทำให้พรรคภูมิใจไทย ได้ที่นั่งส.ส.เข้ามาจำนวนไม่น้อย ในการเลือกตั้งปี 2562 และผลักดันอย่างจริงจัง หลังได้ร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถูกกล่าวถึงว่า พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำได้จริง นี่คือ“จุดขาย” ที่ผู้สมัครส.ส. “มีของ” ที่จะขายในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

จากปรากฏการณ์ย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทยของส.ส.จำนวนมาก และทำให้พรรคภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคใหญ่ขึ้นมาชั่วข้ามคืน ดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จุดโฟกัสในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะฉายส่องมาที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

 

แม้ว่ากระแสที่พุ่งเป้าเข้าหา จะยังคง “ค้างคาใจ” อยู่กับ “ทายาท” ทางการเมือง ต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ หลังเป็นนายกฯต่ออีก 2 ปี หรือไม่? 

 

“ผมว่าทุกอย่างชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ต้องรอผลการเลือกตั้งก่อน จะพูดอะไรเราต้องรู้ว่ามีความพร้อมแค่ไหน พอไม่มีความพร้อมแล้วไปพูดอะไรใหญ่โตก็เห็นๆอยู่” เสี่ยหนูออกตัวเมื่อถูกถามโยงถึงการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่ออีกสมัยหรือไม่   

 

เมื่อถามว่า เห็นเจตจำนงของนายกฯ ใช่หรือไม่ ที่มีความประสงค์จะทำการเมืองต่อนายอนุทิน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ที่ทุ่มเททำงานให้กับบ้านเมือง ในกรอบการบริหารบ้านเมืองตามระบบรัฐสภาฯ จะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ รัฐบาลจะครบเทอมอยู่แล้วถือว่าความสามารถในการบริหารบ้านเมืองมีประสิทธิภาพ

 

เมื่อถามย้ำว่า ที่หลายคนมองว่า นายอนุทิน เป็นทายาททางการเมือง ของพล.อ.ประยุทธ์ หากในรัฐบาลหน้า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี โดยอีก 2 ปีหลังอาจจะเป็นนายอนุทินนั้น นายอนุทิน กล่าวติดตลกว่า “หากดูในประวัติศาสตร์ การเมืองประเทศไทย ทายาททางการเมืองตายก่อนตลอด ผมไม่ประสงค์ ผมจะทำอะไรผมต้องทำตัวเองให้มีความพร้อม สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ไม่ใช่ให้ใครมาตั้ง”

 

เมื่อถามต่อว่า หากพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่ง แต่สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นอันดับหนึ่ง จะยอมรับให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่“อนุทิน” กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องเป็นพรรคอันดับหนึ่งถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ หากเขียนก็จะชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายไหนได้เสียงข้างมากฝ่ายนั้นก็จะได้เป็นผู้ที่จะจัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงเรื่องการโหวตผ่านกฎหมายที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น “อุ๊งอิ๊ง ตู่ หนู ท็อป ป้อม ตุ๋ย มิ่ง” ทั้งนี้ทุกอย่างก็ต้องรอดูหลังเลือกตั้ง

 

สำหรับ อนุทิน ชาญวีรกูล หรือ ชื่อเล่น “หนู” ตามประวัติ ถือว่า ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใครที่เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคการเมืองใหญ่แม้แต่น้อย

 

“อนุทิน” เป็นบุตรคนโต นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้ก่อตั้ง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น

 

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา (Hofstra University) รัฐนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2532 และจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Mini MBA) เมื่อ พ.ศ. 2533

 

บทบาททางการเมือง พ.ศ. 2539 เข้าสู่การเมืองในตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ประจวบ ไชยสาส์น) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2548) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2547) ต่อมาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทย

 

จากนั้นได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย พ.ศ. 2555 หลังจากพ้นกำหนดการตัดสิทธิทางการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมพ.ศ. 2555

 

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อต่อรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 “อนุทิน” และพรรคภูมิใจไทย ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

ดังนั้น ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ การ “ก้าวกระโดด” เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ขึ้นมาเป็นคู่ต่อสู้ “เทียบรัศมี” ของ “พรรคเพื่อไทย” อย่างเห็นได้ชัด ทำให้มองเห็น “ขั้วจัดตั้งรัฐบาล” ล่วงหน้าอยู่พอสมควร

 

เพราะถ้าพรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้งส.ส.เข้ามา อย่างน้อยเป็นอันดับสอง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง โอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” แทบเป็นไปไม่ได้? โดยเฉพาะถ้าได้ส่วนแบ่งจากส.ส.ภาคอีสาน เข้ามาอย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

นั่นเท่ากับว่า ขั้วอำนาจเก่า ก็มีโอกาสแข่งขันในการจัดตั้งรัฐบาล โดยจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และอาจดึงพรรคการเมืองใหม่ ที่อาจได้ที่นั่งส.ส.เข้ามาพอสมควรเข้าร่วม เพียงแต่เปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น

 

แน่นอน, รัฐบาลสูตรนี้ จำเป็นจะต้องมีพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ(กรณีพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเข้าร่วม) เนื่องจาก “3 ป.” แม้ว่าจะแยกกันอยู่คนละพรรค แต่ก็คงไม่แยกฝ่าย ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายค้าน? เว้นแต่จะมี “ดีลพิเศษ”

 

เนื่องเพราะ ส.ว. 250 เสียง หรือ ส่วนใหญ่ ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.ยังคงอยู่ในอำนาจต่อรองของ “3 ป.”

 

เพียงแต่คนที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” อาจต้องเลือกจากพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจึงจะ “ไม่ฝืนกระแสประชาชน” มากเกินไป เพราะตามหลักประชาธิปไตย ที่ยึดเสียงประชาชน พรรคที่มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็คือ พรรคที่ได้รับเลือกตั้งส.ส.เข้ามาเป็นอันดับ 1

 

ด้วยเหตุนี้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล จึงมีความชอบธรรมสูง หากเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

ส่วนหากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ส.ส.เข้ามาไม่น้อยกว่า 5 % ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้เสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”จากบัญชีรายชื่อได้ และได้ร่วมรัฐบาลการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ แข่งกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน แม้จะทำได้ และมีโอกาสที่จะโหวต“ชนะ”ได้กลับมาเป็นนายกฯต่ออีกสมัย แต่กระแสต่อต้าน และกระแสเบื่อพล.อ.ประยุทธ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ก็จะยิ่งทวีความรุนแรง “บานปลาย”เป็นการประท้วงใหญ่ในบ้านเมืองก็เป็นได้? (เว้นเสียแต่ “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ที่นั่งส.ส.เข้ามาจำนวนมาก จากกระแสนิยมที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เท่านั้น)

 

คุ้มหรือไม่ ที่ “3 ป.” จะยังคงต้องการสืบทอดอำนาจ? เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน

 

ถ้ามองในแง่ “ความมั่นคง” ท่ามกลางกระแสเคลื่อนไหว แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นสถาบันฯ) ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่บางฝ่าย เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเหมาะสมที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี”

 

แต่อย่าลืมว่า “เสี่ยหนู” อนุทิน ก็แสดงออกให้เห็นแล้วว่า “ปกป้องสถาบันฯ” ไม่แพ้พล.อ.ประยุทธ์   

 

ทั้งนี้ กรณีพรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีการนำประเด็นนี้ไปถาม “อนุทิน” เขาตอบทันควันว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมา โดยมีอุดมการณ์ทางการเมือง ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ เป็นข้อแรก เป็นหัวใจในการทำงานของพรรค และเป็นอุดมการณ์ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยทุกคน ยึดถือเป็นหลักในการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน ซึ่งยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่มีนโยบาย ไม่มีความคิดเรื่องแก้ไข ม.112

 

และไม่เข้าใจว่า คนที่เสนอแก้ไข ม.112 เดือดร้อนอะไรกับกฎหมายอาญาม.112 ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย ตนเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่ากฎหมายอาญา ม.112 เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะท้าทาย คิดจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็กลัวโทษตามกฎหมายจึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ให้สิ่งที่ตนจะทำ เป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ มีกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่ควรจะแก้ไข เพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ควรจะไปแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นก่อน

 

“ผมมั่นใจว่า การแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาใครจะคิดอย่างไร ลงมติอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเขา แต่พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคพูดแทนสมาชิกทุกคนได้เลยว่า เราไม่แก้ไข และ จะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไขม.112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหรืออีกกี่ครั้งก็ตาม”

 

เมื่อถามว่า แสดงว่าพรรคภูมิใจไทย จะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขม.112 นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีทางอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่พรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบาย มีแนวคิดแก้ไข ม.112 รวมอยู่ด้วย เพราะมีอุดมการณ์ขัดแย้งกันจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ (19 ต.ค.65)

 

เห็นชัดว่า “อนุทิน” เป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ได้ หากเปลี่ยน “ผู้นำ” เพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมืองของ “ขั้วอำนาจเก่า” โดยเฉพาะกระแสต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งโอกาสที่จะดึงพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วม ก็ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม อีกสูตรจัดตั้งรัฐบาล ที่ยังมีคนเชื่อว่า อาจเกิดขึ้นได้ กรณีอนุทิน-ภูมิใจไทย และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกที่จะไปร่วมกับ พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล 3 พรรค “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” อันเป็นรัฐบาลผสมข้ามสายพันธุ์ก็ว่าได้ ซึ่งถือว่า เป็นไปได้ยาก

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าจับตามองหลังเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จำนวนที่นั่งส.ส.จะสูสีกันแค่ไหน หรือไม่

 

ถ้าพรรคภูมิใจไทย ได้ที่นั่งสูสีกับพรรคเพื่อไทย โอกาสที่ “ขั้วอำนาจเก่า” จะเปลี่ยน“ผู้นำ” ใหม่ เพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมืองจากกระแส “ไม่เอาประยุทธ์” ก็มีความเป็นไปได้สูง แล้วใครคิดว่า “เสี่ยหนู” อนุทิน แทน “ประยุทธ์” ไม่ได้?