“ตะวัน-แบม” จุดกระแสคู่ขนาน “ไฟลามทุ่ง” เข้าทาง “ก้าวไกล”
หลายคนคง “แปลกใจ” ที่ไม่คาดคิดว่า พรรคก้าวไกลจะเสนอนโยบายท้าทายประชาชนคนไทย หนึ่งใน “หมวดการเมืองก้าวหน้า” คือ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 (ว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ)และม.116 (เกี่ยวกับความมั่นคง)
จนเกิดปรากฏการณ์ “โดดเดี่ยว” พรรคก้าวไกล ในการจับขั้วรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะแทบทุกพรรคการเมือง ต่างออกมาแสดง “จุดยืน” ในทางตรงข้าม ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไข ม.112 ในทันทีทันควัน เนื่องจากรู้ทั้งรู้ว่า นี่คือ การสวนกระแสประชาชนส่วนใหญ่
จนมีคำถามเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลว่า หวังผลที่นั่งส.ส.ในการเลือกตั้งหรือไม่ แค่ไหนหรือ เพียงต้องการ “ยึดเป้าหมาย” ทาง “ยุทธศาสตร์” ในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อก้าวไปสู่ “เสรีประชาธิปไตย” อย่างสมบูรณ์ อย่างที่ใฝ่ฝันเท่านั้น
เพราะถ้าคู่แข่งนำเอาเรื่องการแก้ไขม.112 มาโจมตีในวงกว้าง และขยายผลไปสู่ความกลัว “ปีศาจ” ตัวใหม่ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ “ผีคอมมิวนิสต์” อะไรจะเกิดขึ้น? แทนที่จะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อาจกลายเป็นเรื่องอื่น
แต่อีกด้าน หลายคนก็ยอมรับในการแสดง “จุดยืน” ทางการเมืองที่ชัดเจน เพื่อเป็น“ทางเลือก” ให้กับประชาชน
กระนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่า จะมีกระแส “รองรับ” เหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่กระแสอดีตพรรคอนาคตใหม่มาแรง พร้อมกับกระแส “ผู้นำคนรุ่นใหม่” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ
อะไรไม่สำคัญเท่ากับ เป็นการประกาศนโยบายท่ามกลาง “ขาลง” ของม็อบ “สามนิ้ว” เนื่องจากแกนนำม็อบจำนวนมากถูกดำเนินคดี และศาลมีเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวห้ามออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในความผิดเดิม หรือ ความผิดอื่น รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ จึงเหลือเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่ม ที่เคลื่อนไหว “เฉพาะกิจ” เฉพาะประเด็น และในโอกาสรำลึกถึง “วีรชน” ในอดีตเท่านั้น
แต่แล้ววันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนหันกลับไปมองพรรคก้าวไกลอีกครั้ง กรณี“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ ภู่พงศ์ ประกาศ “ถอนประกันตัวเอง”
พร้อมออกแถลงการณ์ ยื่นถอนประกันตัวเอง เพื่อประท้วงและเสริมกระดูกสันหลังให้พรรคการเมือง
ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง
พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
ต่อมา (19 ม.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan ของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรือนจำหลังจากยื่นถอนประกันตัวเอง ได้โพสต์ข้อความว่า
แถลงการณ์ยกระดับ!! ประกาศ “อดน้ำและอาหาร” ทันที #เลือดต้องแลกด้วยเลือด
ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” รายงานว่า ด่วน! ตะวัน-แบม ประกาศ #อดอาหารและน้ำ เริ่มคืนนี้ทันที หลังครบกำหนด 3 วัน แต่ 3 ข้อเรียกร้องของทั้งสองยังไม่ถูกตอบรับและเป็นผล ทั้งสองถอนประกันตัวเองและถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2566 และยืนยันว่า จะไม่ยื่นประกันตัวเองเด็ดขาด หากผู้ต้องคดีการเมืองทั้งหมดไม่ถูกปล่อยตัว
นอกจากนี้ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“จากวันนี้ ตอนนี้ เราเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนที่ตะวันกับแบมจะถึงจุดวิกฤตจากการอดอาหารและน้ำ น้องอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ด้วยซ้ำ อย่างที่แบมว่า “ไทยเฉยเราจะตายกันหมด”
โปรดสนใจเรื่องนี้
ด้าน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ เจี๊ยบ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวิตข้อความระบุว่า
“ทำกับอนาคตของชาติได้อำมหิตขนาดนี้ ?
เริ่มจากเยาวชนเค้าแค่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบ ปชต.อย่างสันติ
1. ทำโพลสอบถามความคิดเห็นว่า เดือดร้อนจากขบวนเสด็จหรือไม่ และ
2. ออกไปร่วมชุมนุมตามความคิดความฝัน และความเชื่อ...”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ทนายความได้ติดต่อให้ตนไปเป็นนายประกันของทานตะวัน ต่อมาศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง และแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้กำกับดูแลทานตะวัน มาวันนี้ อาจมีหลายคนไม่เห็นด้วยกับการขอถอนประกันตัวเองดังกล่าว
แต่ในฐานะผู้กำกับดูแล ตนเคารพการตัดสินใจของทานตะวันตามเหตุผลที่ว่า พวกเราพร้อมแลกอิสรภาพจอมปลอมที่ศาลมอบให้ เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของเพื่อนเรา การดำเนินคดีการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ กำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีทางออก
นายพิธา กล่าวอีกว่า นี่คือปัญหาแรกๆ ที่รัฐบาลสมัยหน้าต้องแก้ คือ หนึ่ง ยุติการดำเนินคดีการเมือง และสอง นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง เพื่อคืนความยุติธรรมสภาสมัยหน้าควรต้องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ รวมทั้งมาตรา112 ที่อย่างน้อยต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และมีความสมดุลกันระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน...
และคนที่ออกมาตอกย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง(20 ม.ค.66) ก็คือ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล โดยกล่าวถึงกรณี ตะวันและแบม ประกาศอดอาหารและน้ำในเรือนจำเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม ว่า ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาจากประชาชนอย่างถึงที่สุด จำเป็นต้องรีบแก้ไขสถานการณ์ โดยสิ่งที่สามารถทำได้ทันที คือผู้มีอำนาจต้องหยุดดำเนินคดีกับประชาชนจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ซึ่งละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ศาลต้องพิจารณาให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองในมาตรฐานเดียวกับบุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งรัฐบาลหน้าควรพิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อเปิดไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยกระบวนการประชาธิปไตย
นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า กรณีอดอาหารของตะวันและแบม ทำให้สังคมไทยต้องตระหนักถึงช้างที่อยู่ในห้องหรือปัญหาใหญ่ที่แสร้งมองไม่เห็นกัน นั่นคือปัญหาการใช้มาตรา 112 และกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ เพื่อปิดปากประชาชน ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 มากขึ้นเรื่อยๆ แต่การยอมเปิดให้มีการพิจารณาแก้ไข ม.112 เพื่อให้ได้สมดุลระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถหาข้อยุติที่พอจะเห็นพ้องต้องกันได้
ทว่าหากผู้มีอำนาจและสังคมไทย ยังเพิกเฉยกับปัญหานี้ต่อไป มีแต่จะทำให้เกิดรอยร้าวในสังคมจนยากจะสมานได้
จากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศนโยบาย แก้ไขม.112 และ 116 ของพรรคก้าวไกล จนมาถึงการประกาศถอนประกันตัวเอง ของ ตะวัน และแบม ต้องยอมรับว่า มีบางประเด็นที่สอดรับกัน
ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ข้อเรียกร้องข้อ 3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
รวมทั้งการออกมาขานรับของแกนนำพรรคก้าวไกล ทั้ง “พิธา” หัวหน้าพรรค และ “ชัยธวัช” เลขาธิการพรรค ในการรับลูกปลุกกระแสยกเลิก หรือ อย่างน้อยแก้ไข ม.112 เพื่อเป็นทางออกตามข้อเรียกร้องของ“ตะวัน” และ“แบม”
อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ (4 ม.ค.66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิเคราะห์พรรคก้าวไกลต้องทำอย่างไรกับคะแนนนิยมที่หยุดนิ่ง (ตอนที่ 1)
ที่น่าสนใจ ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือ “โพล” ของหลายสำนัก พบว่า คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 13-15 อาจมีบวกลบอีกร้อยละ 1 โดยที่คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลสูงกว่าพิธา อยู่ประมาณร้อยละ 2-3 คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลและพิธาหยุดนิ่งเท่านี้มานานหลายเดือน จนเกือบครบปีแล้ว เกจิอาจารย์กูรูทางการเมืองวิเคราะห์กันว่า คงไม่ได้ไปมากกว่านี้ คงหยุดอยู่เท่านี้ หรืออาจถดถอยลงกว่านี้อีกเล็กน้อย เว้นเสียแต่มีเหตุการณ์แบบ “ธนาธรฟีเวอร์” เหมือนช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
การเลือกตั้งในปี 2562 มีเหตุการณ์สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 3 เหตุการณ์ ที่ทำให้คะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่ทะยานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุการณ์แรก ปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” จาก online สู่ onground ระเบิดพลังออกมาคนรุ่นใหม่จำนวนมากแสดงออกถึงความนิยมที่มีต่อตัวธนาธร จุดระเบิดครั้งแรก คืองานฟุตบอลประเพณี มธ. - จุฬาฯ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นก็ลุกกระพือเป็น “ไฟลามทุ่ง”
เหตุการณ์ที่สอง การดีเบตของธนาธรในช่องไทยรัฐ ทีวี ธนาธรทำได้ดีมาก สดชื่น สดใหม่ ชัดเจน เด่นกว่าตัวแทนจากพรรคอื่นๆ จนผู้ชมสนใจ ตามไปค้นคว้า ทำความรู้จักและตัดสินใจเลือก
เหตุการณ์ที่สาม วันที่ 8 ก.พ. กรณีพรรคไทยรักษาชาติ เสนอทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้น ผมถูกตามตัวกลับจากการรณรงค์หาเสียงที่แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ โดยทันที โดยยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจที่นั่น เพื่อรับหน้าที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แสดงจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ต่อกรณีนี้
สามเหตุการณ์นี้ บวกกับ ความสดใหม่ ความชัดเจน บุคลิก และพลังงานอันล้นเหลือของธนาธร ทำให้เกิดกระแส “ธนาธรฟีเวอร์” ไปทั่วประเทศ
“ผมเชื่อว่า ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลจะไม่มีและไม่สามารถจะมีกระแสแบบ“ธนาธรฟีเวอร์” อีกแล้ว ประกอบกับ ระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถนำคะแนนร้อยละ มาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส.ได้อย่างแน่นอนเป๊ะๆแบบปี 62 ดังนั้น คะแนนนิยมจากสำรวจที่หยุดนิ่งที่ร้อยละ 13-15 จะกลายเป็น ส.ส.เท่าไร พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก ไปแตะร้อยละ 20 25”...(บางส่วนในโพสต์ของ “ปิยบุตร” จากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์)
นี่คือ การส่งสัญญาณ และกระตุ้นอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ “พิธา” และ พรรคก้าวไกล เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างกระแสอะไรบางอย่างหรือไม่
ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ เบื้องหลังการ “จุดประเด็น” ประท้วงเรียกร้องกระบวนการยุติธรรม ของ “ตะวัน-แบม” ครั้งนี้ มีการเมืองหนุนหลังหรือไม่
ถ้ามองจากประเด็นความเดือดร้อน และการยื่นคำขาดให้เวลา “เพียง 3 วัน” น่าจะเป็นเรื่อง การให้ประกันผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมดเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็นับว่ายากอยู่ดีแต่ถ้าเป็นการแลกด้วยชีวิต จากการอดอาหารและน้ำ ก็อาจนำไปสู่การพิจารณาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้?
แต่การเรียกร้อง 3 ข้อ 1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง 3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา112 และมาตรา 116 โดยสร้างแรงกดดันด้วยการยกระดับการประท้วง คือ อดอาหารและน้ำนั้น ถ้าต้องการผลสำเร็จ ถือว่า เรียกร้องเกินไป หรือ เกินจริง และยากที่ผู้เกี่ยวข้องจะทำให้ได้
แต่ถ้าเป็นการสร้างกระแส ปลุกความสนใจของผู้คนในสังคม โดยใช้ประเด็นที่ “แรง” และ “ช็อก” ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย อุดมการณ์เดียวกัน หรืออาจถึงขั้นเปลี่ยนความคิดของคนหลายกลุ่ม และสามารถหล่อเลี้ยงกระแสจากการขยายผลทางการเมืองได้ โดยมีปลายทางที่การเลือกตั้งครั้งหน้า ถือว่า นี่คือ จุดเริ่ม
ทั้งยังน่าจับตามองว่า จะเป็น “ไฟลามทุ่ง” บานปลาย ไปจนถึงช่วงเลือกตั้ง เข้าทางบางพรรค ที่ต้องการ “กระแส”เรื่องนี้อยู่พอดี หรือไม่