'อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา' ใครนายกฯ ตั้งรัฐบาล 'เพื่อไทย' ไม่ง่าย
ถ้าดูจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือ โพล ที่ทำกันออกมาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนคะแนนนิยม “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย จะนำโด่งทุกสำนัก ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน เริ่มเข้ามาอยู่ในเส้นทาง
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กระแสของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กลายเป็น“ม้ามืด” ที่ยังคงเกาะกระแสความนิยม ตีตื้นขึ้นมาเรื่อย โดยเฉพาะการเบียดเอาชนะผู้นำ และพรรคที่เป็นฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน
ตัวอย่างผลสำรวจ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” สำรวจระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 66
เมื่อถามถึง “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี” ในการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 35.70 ระบุ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ20.25 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 13.60 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ระบุ ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 5 ร้อยละ 6.05 ระบุ นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 4.15 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)...
ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) อยู่อันดับ 8 ร้อยละ 2.55 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) อยู่อันดับ 9 ร้อยละ 2.20
สำหรับ “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต” พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.20 ระบุ พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.20 ระบุ พรรคก้าวไกลอันดับ 3 ร้อยละ 10.80 ระบุ พรรครวมไทยสร้างชาติอันดับ 4 ร้อยละ 4.75 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุ พรรคภูมิใจไทย...
และ “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ” พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.00 ระบุ พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.85 ระบุ พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.40 ระบุ พรรครวมไทยสร้างชาติอันดับ 4 ร้อยละ 4.50 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.00 ระบุ พรรคภูมิใจไทย...
จากผลสำรวจ “นิด้าโพล” เห็นชัดว่าสะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จากขั้วอำนาจปัจจุบัน เป็นขั้วอำนาจใหม่ ซึ่ง ถ้ากระแสความนิยมยังคงเป็นเช่นนี้ไปจนถึงวันหย่อนบุตรเลือกตั้ง โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูง
ต่อมา บุคคลที่ประชาชนต้องการให้เป็น นายกรัฐมนตรี พบว่า “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธารชินวัตร ยังคงมีคะแนนนิยมนำอยู่เช่นเคย ไม่แผ่ว และไม่ตก รวมถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ที่ก้าวขึ้นมาอยู่อันดับสองอย่างรวดเร็ว โดยมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาห่างๆ
อันสอดคล้องกับความต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ และเห็นชัดว่า ความต้องการ“ผู้นำรุ่นใหม่” มาแรง แซงผู้นำรุ่นเก่า ไม่เห็นฝุ่น
ยิ่งกว่านั้น เมื่อมาดูพรรคการเมืองที่ประชาชนต้องการเลือกเป็นส.ส. ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อหรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ยังพบอีกว่า 3 อันดับแรก คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติ
เช่นเดียวกัน ถ้ากระแสความนิยมนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจนถึงวันเลือกตั้ง โอกาสที่“เพื่อไทย-ก้าวไกล” จะชนะใส สร้างปรากฏการณ์พลิกโฉมหน้าการเมืองไทย ก็อาจเกิดขึ้นได้
แต่ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะ ประการแรก นี่คือ ผลสำรวจ หรือ “โพล” ที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่า “กลุ่มตัวอย่าง” สะท้อนได้ตรงตามความต้องการของประชาชนมากน้อยแค่ไหน มีการเมืองแทรกแซงหรือไม่?
ประการที่สอง ต้องรอดู ผลเลือกตั้ง ที่เป็นของจริง เพราะอย่าลืม พรรคขั้วอำนาจปัจจุบันหลายพรรค มีอดีตส.ส.ย้ายพรรคไปสังกัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มก๊วนบ้านใหญ่ ที่มีต้นทุนฐานเสียงทางการเมืองเหนียวแน่น ก็ยังอยู่ ซึ่ง ช่วงที่พรรคเพื่อไทยเลือดไหลออก “ทักษิณ ชินวัตร” เคยฟาดงวงฟาดงา ออกอาการหวั่นไหวอยู่พอสมควร นั่นแสดงว่า จะมองข้ามทีเด็ดทีขาดในการตัดสินผลเลือกตั้งไม่ได้
ประการที่สาม ดูเหมือนนักวิเคราะห์แทบจะเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเชิง“ยุทธศาสตร์” เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งสองขั้ว
อย่างเช่น ขั้วอำนาจปัจจุบัน หรือ ฝ่ายสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือกลุ่มคนที่ไม่เอา “ระบอบทักษิณ” ต่อต้านการเข้าสู่อำนาจของ “ทายาททักษิณ” เพราะห่วงเรื่องการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และพวกพ้อง เหมือนทุกครั้งที่ได้เข้ามามีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลยิงลักษณ์ชินวัตร ล้วนมีรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรีถูกข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ทุจริตเชิงนโยบาย และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน
นี่คือ กลุ่มก้อนใหญ่ ที่จะมีผลต่อการลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ในฐานะ “ลูกสาว ทักษิณ” และแม้แต่คนของ “ทักษิณ” อย่าง นายเศรษฐา ทวีสินด้วย
การลงคะแนนเชิง “ยุทธศาสตร์” ของคนกลุ่มนี้ก็คือ เลือก “บิ๊กตู่” เพื่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ”
ขณะเดียวกัน การลงคะแนนในเชิง “ยุทธศาสตร์” ของฝ่ายตรงข้าม “ประยุทธ์” คือ ลงคะแนนเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล “ไม่เอาประยุทธ์” รวมถึงเลือกฝ่ายประชาธิปไตย
แน่นอน, พรรคที่จะรองรับฐานเสียงส่วนนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ก็คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล
แต่ “ยุทธศาสตร์” ที่ซ้อนขึ้นมาในฝ่ายประชาธิปไตย ก็คือ การจุดกระแสเลือก “เพื่อไทย” พรรคเดียว เพื่อ ปิดสวิตช์ “3ป.” และเอาชนะ ส.ว. 250 เสียง หรือ พูดให้ชัดก็คือเลือก “เพื่อไทย” เป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย ให้ได้ที่นั่งมากที่สุด จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เพื่อเอาชนะฝ่ายเผด็จการ และเสียงส.ว.250 เสียง ก็ไม่มีผลในการปิดกั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยเอง ก็มีการตัดคะแนนกันด้วย ถึงขั้นวิเคราะห์กันว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน จะยิ่งไม่ได้ที่นั่ง เพราะ “ฐานเสียงเดียวกัน”
ยกเว้น “ก้าวไกล” ที่มีฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะเครือข่าย “3 นิ้ว” อย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว ที่ยากยอมรับยุทธศาสตร์นี้
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า “ผลโพล” ก็ส่วนหนึ่ง ที่จะต้องนำมาชั่งน้ำหนักให้ดี เมื่อเทียบกับอีกหลายส่วน ที่เป็น “ปัจจัย” ผันแปร
กระนั้น หลายคนยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย จะชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพียงแต่จะชนะขาด หรือไม่เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาล ที่ไม่ง่ายตามไปด้วย
เริ่มจาก พรรคเพื่อไทย จะรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ สภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียงหรือไม่ เพราะถ้าอีกฝ่าย รวมเสียงได้เกิน 251 เสียง โอกาสก็จะปิดลงทันที ต่อให้ชนะเลือกตั้ง ก็ตาม
นั่นหมายถึง พรรคเพื่อไทย จะต้องหวังพึ่ง พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยสร้างไทย อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ถ้าพลาด หรือ พรรคในฝ่ายเดียวกัน ได้ที่นั่งส.ส.เข้ามาไม่มากนัก ก็อาจจำเป็นที่จะต้องมองไปที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ว่า ยกเว้นพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว มีพรรคไหนพร้อมร่วมรัฐบาลบ้าง
รวมถึง “ดีล” กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “พรรคพลังประชารัฐ” ก็อาจเกิดขึ้นจริงไม่เว้นแม้แต่ “ดีล” รัฐบาล 3 พรรค “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” ที่เคยมีกระแสข่าว ซึ่ง “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่ภูมิใจไทย ก็เคยออกมาส่งสัญญาณเปิดกว้างเอาไว้แล้ว
แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเจอกับการถูกโจมตีอย่างหนักก็คือ การผสมพันธุ์กับฝ่ายเผด็จการ การ “ละทิ้ง”อุดมการณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง การเอา “เสียงประชาชน” ที่มอบให้มาละเลง ผิดเจตนารมณ์ของประชาชน เหมือนทุกครั้งที่เป็นรัฐบาล อย่างที่“ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” วิพากษ์วิจารณ์เอาไว้อย่างหนัก
และแน่นอน, รัฐบาลจะต้องเจอฝ่ายค้าน ที่น่ากลัว อย่าง “ก้าวไกล” เพราะประกาศเอาไว้แล้วว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “ขั้วเผด็จการ”
มาถึงการโหวต “นายกรัฐมนตรี” ถ้าสมมุติว่า ขั้นตอนการ “รวมเสียง” จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว
ประเด็นที่จะถูกต่อรองสูง ก็คือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังด้อยประสบการณ์ทางการเมืองที่จะนั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” หรือไม่
การเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเส้นสายของ “ทักษิณ” รัฐสภา จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะอย่าลืม ส.ว.บางคนเคยออกมาเตือนเอาไว้ก่อนแล้วว่า นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ของเล่นของใครที่พรรคการเมืองส่งใครก็ได้ ตำแหน่งนี้ไม่ใช่สมบัติของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
เมื่อมีปัญหาเรื่องความเหมาะสม ส.ว.ส่วนใหญ่ อาจใช้เงื่อนไขนี้ในการไม่ออกเสียงหรือ “งดออกเสียง” จนทำให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ผ่าน ก็เป็นได้
ดังนั้นไม่แปลก ที่เพื่อไทย จะมี “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เอาไว้เต็มจำนวน คือ 3 คน ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด
ทำให้โอกาสลุ้นเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” มาอยู่ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งประกาศเอาไว้แล้วว่า จะไม่รับตำแหน่งอื่นใดในรัฐบาล นอกจาก “นายกรัฐมนตรี”
เรื่องนี้ แม้ “ทักษิณ” จะผิดหวัง แต่ก็ยังถือว่า ได้คนของตัวเอง เป็นนายกรัฐมนตรี และยังได้เป็นรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่า เป็นการ “ต่อรอง” ที่ดีที่สุด
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ของพรรคเพื่อไทย คือ การตัดสิน “ยุบพรรค” หลังเลือกตั้ง ซึ่ง มีหลายคำร้องอยู่ในมือของ กกต. และก่อนหน้านี้ “จตุพร” เคยเปิดเผยว่า มีความ “คืบหน้า”อย่างมาก ยิ่งกว่านั้น ยังมีการร้องต่อ กกต. กรณี “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ไม่ใช่สมาชิกพรรค แต่การปราศรัยหาเสียง เกินขอบเขตผู้ช่วยหาเสียง จนอาจเข้าข่ายครอบงำพรรคหรือไม่
รวมถึง การร้อง กกต. เรื่อง นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ชี้แจงที่มาของเงินไม่ชัดเจน และเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่นักกฎหมายมหาชนบางคนออกมาชี้ว่า การแจกเงินให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป เท่ากับรวมเอาคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง18 ปีขึ้นไปเอาไว้ด้วย จึงถือเป็นการสับขาหลอกในการซื้อเสียงล่วงหน้าได้ ที่ กกต.จะต้องพิจารณาให้ละเอียด
“การชี้แจงนโยบายไม่ชัดเจน อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง กกต./นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงดังกล่าว มีความเป็นไปได้ หรือมีการปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งหรือไม่
หากมีการปกปิด ก็อาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (5) เป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้
แต่ถ้า กกต. ไม่ยอมวินิจฉัย สมาคมฯและผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ต่อไป” นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ชี้ประเด็นความผิด
นี่คือ สิ่งที่น่าจับตามอง ในการเลือกตั้ง 2566 ที่แม้ พรรคเพื่อไทยจะนอนมา ชนะเลือกตั้งแน่นอน แต่ก็ไม่แน่ว่า จะไปถึงฝั่งฝันอย่างง่ายดาย