'พิธา' เร็ว-แรง ทะลุฟ้า เสี่ยงสะดุดขาตัวเองสูง
ถ้าผลเลือกตั้ง ทุกจังหวัดเหมือนกรุงเทพมหานคร(กทม.) คือ “ก้าวไกล” ชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” นั่นคือ ฉันทานุมัติ จากประชาชนโดยแท้ ที่ใครก็ขัดขวาง “รัฐบาลก้าวไกล” ไม่ได้ ในการดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ทุกอย่าง
แต่ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งกทม.แบบ “ถล่มทลาย” ได้ที่นั่งส.ส.ทั่วประเทศมาเป็นอันดับ 1 ก็จริง ก็ยังได้ที่นั่งส.ส.ไม่เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ “มีคำอธิบาย” จากหลายปัจจัย
ที่สำคัญ การชนะมาเป็นอันดับ 1 เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองอื่นก็เคยชนะมาก่อน ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “เพื่อไทย”เคยชนะอันดับ 1 ได้ถึง 265 ที่นั่ง ยิ่งถ้าย้อนกลับไปรัฐบาลยุคพรรคไทยรักไทย ยิ่งเห็นได้ชัดว่าผลเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล ยังห่างไกลคำว่า “ฉันทานุมัติ” จากประชาชน
กระนั้น ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 กล้าบอกว่า นี่คือเสียงส่วนใหญ่หรือ “ฉันทานุมัติ” จากประชาชน
ลองมาดูผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา (14 พ.ค.66) โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า พรรคก้าวไกลมี ส.ส.เป็นอันดับ 1 คือ 151 ที่นั่ง
รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 40 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 25 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง พรรคไทยสร้างไทย 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง พรรคเป็นธรรม 1 ที่นั่ง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 ที่นั่ง
อันเห็นได้ชัดว่า พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง และที่นั่งส.ส.ยังกระจายไปอยู่กับหลายพรรค แม้แต่พรรคเล็ก นั่นสะท้อนให้เห็นว่า เสียงของประชาชนยังมีความหลากหลาย ไม่เป็น “เอกฉันท์” ต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง
ส่วนคำอธิบายต่อ “ปรากฏการณ์ก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมาย มีหลายปัจจัยด้วยกัน
ประการแรก คือ ความต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของประชาชน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอที่จะทำให้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เห็นว่าขั้วอำนาจเก่า ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั้น เป็นรัฐบาลมานาน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บริหารประเทศได้ดีที่สุดแค่ไหน ไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว
ประการที่สอง “จุดยืน” ทางการเมือง ที่มั่นคงของพรรคก้าวไกล ที่ประกาศนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล “เผด็จการ 3 ป.” และพร้อมจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าหากมีจำนวนส.ส.มากพอ ดังจะเห็นได้ว่า “ยุทธศาสตร์” การต่อสู้ของพรรคก้าวไกล เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจแบบเก่า ที่สำคัญ เช่น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แก้ไข ป.อาญา ม.112(กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ) ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ มี “จุดขาย”ต่อกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วบางกลุ่ม
รวมถึง “สโลแกน” ที่ใช้หาเสียงโค้งสุดท้าย “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” ท่ามกลางความ“อึมครึม” ในการตัดสินใจเรื่องนี้ของเพื่อไทย ว่า ตกลงจะจับมือร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ ถ้าไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
ประการที่สาม ความเชี่ยวชาญในการต่อสู้ทางการเมืองผ่านสังคมยุคใหม่ คนรุ่นใหม่และสื่อใหม่ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เข้าถึงประชาชนจำนวนมาก
ประการที่สี่ ความเป็น “ดารา” ทางการเมืองของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ยิ่งหาเสียง ก็ยิ่งโดดเด่นกว่าใครในบรรดาหัวหน้าพรรค และแคนดิดตนายกรัฐมนตรี แถมเป็นผู้นำที่ไม่ถึงกับใหม่จนเกินไป อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แถมยังมีที่มาจาก “บิดา” มีฐานการเมืองรองรับอยู่แล้ว อย่างพรรคเพื่อไทย
ประการที่ห้า นโยบาย “สวัสดิการ” ดูแลประชาชน โดยเฉพาะเงินผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้า
.........ฯลฯ......
ทั้งหลายทั้งปวง เห็นได้ชัดว่า ประชาชนหลากหลายกลุ่ม ตัดสินใจเลือกพรรคก้าวไกลด้วยหลายเหตุผล ไม่ใช่เหตุผลหนึ่งเหตุผลใด จึงไม่อาจทึกทักเอาได้ว่า นี่คือ“ฉันทานุมัติ” ให้ทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ เป็นการเฉพาะ อย่างที่ฐานเสียง “บางกลุ่ม” ที่มีความใกล้ชิดพรรคก้าวไกล เรียกร้องต้องการ และพยายามกดดัน ให้เร่งแก้ไข ม.112 และนิรโทษกรรม นักโทษคดีการเมือง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าโยงให้เห็นต่อไปก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล และการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเห็นชอบเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี
เริ่มจาก “การจัดตั้งรัฐบาล” ที่อาจยังไม่นิ่งเสียทีเดียว แต่เบื้องต้น 8 พรรค ร่วมกันแถลงข่าวออกมาเรียบร้อย ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเป็นธรรม, พรรคพลังสังคมใหม่ และ พรรคเพื่อไทรวมพลัง รวมส.ส. 313 คน
พร้อม ประกาศ จัดตั้ง “รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน” 3 ข้อ
1. ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้ง
2. ทุกพรรคจะจัดทำข้อตกลงร่วม หรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค โดยจะแถลงต่อสาธารณชน วันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
3. ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อด้วยความเคารพในเสียงข้างมากของประชาชน
แน่นอน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือไม่ได้ เพราะถ้าดูจากจำนวนที่นั่งส.ส.ในสภาฯ 313 เสียง ถือว่า มีเสถียรภาพอย่างมาก หากแต่ปัญหาอยู่ที่การโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งต้องใช้เสียงเกินครึ่ง(376 เสียง)ในการเห็นชอบจากรัฐสภา
ถ้าเป็น “รัฐสภา” ปกติ หรือ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับส.ส. ก็คงไม่มีประเด็นอะไรให้พูดถึงมากนัก หากแต่ปัจจุบัน ส.ว.ที่มีอยู่ 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ“คสช.” ซึ่ง เชื่อกันว่า มีสายสัมพันธ์อยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่เป็นประเด็นขึ้นมาก็คือ ส.ว.ส่วนใหญ่จะโหวตให้ “พิธา” หรือไม่ ซึ่งถ้าโหวตไม่ถึง 376 เสียง ก็ต้องโหวตกันใหม่ จนกว่าจะผ่าน(หลายรอบก็ได้) หรือ เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ความจริง ประเด็นที่ส.ว.หลายคนตั้งป้อมต่อต้าน “พิธา” ไม่เพียงส.ว.ส่วนใหญ่มีความใกล้ชิด “กลุ่มอำนาจเก่า” เท่านั้น หากแต่ “พิธา” และ พรรคก้าวไกล ก็กำลังกลายเป็นปัญหาโหวตเลือกนายกฯด้วย เนื่องจากนโยบายแก้ไข ม.112 ที่ “ส.ว.” ไม่ต้องการให้แตะต้องสถาบันฯ
ยิ่งกว่านั้น ถ้าฟังจาก นายธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกล ยังเห็นได้ชัดว่า พรรคก้าวไกลเตรียมเดินหน้าแก้ไขม.112 ทันทีที่เปิดสภาฯด้วย
ส่วนกรณีส.ว. หลายคนอ้างเหตุผลในการจะไม่โหวตสนับสนุน “พิธา” เพราะมีนโยบายแก้ 112 นั้น
นายธีรัจชัย ชี้แจงว่า แนวทางเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รศ.118 รัชกาลที่ 5 ตอนนั้น 112 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่หลังรัฐประหารปี 2519 ฝ่ายรัฐประหารต้องการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม เลยอาศัยเงื่อนไขนี้ เพิ่มโทษมาตรา 112 เป็น 3 – 15 ปี และใช้เป็นเครื่องมือโดยให้ใครก็ได้มาแจ้งความ แล้วใช้เป็นเครื่องมือขจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยการดำเนินคดีให้หยุด โดยอาศัย112
กรณีแบบนี้เราเห็นว่า เราต้องการให้สถาบันฯ อยู่นอกเหนือการเมือง อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามหลักสากล ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น โดยหลักก็คือ ไม่ให้ใครก็ได้ ดึงสถาบันฯ มาปะทะกับประชาชนที่มีความเห็นต่าง เพราะหากปล่อยให้ใครก็ได้ไปแจ้งความ ผู้มีอำนาจก็อาจใช้คนอื่นไปแจ้งความ แล้วสถาบันฯ ก็ต้องมาปะทะกับคนที่เห็นต่าง ถามว่าจะทำให้สถาบันฯ อยู่มั่นคงถาวรหรือว่าจะปล่อยให้มาปะทะแบบนี้ เราต้องการให้สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และไม่ต้องการให้ใครก็ได้มาแจ้งความ โดยการแก้ไขดังกล่าวก็จะเสนอว่าให้การแจ้งความ ต้องให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กลั่นกรอง ไม่ใช่ให้ใครก็ได้จะไปดึงสถาบันฯมาปะทะ กับคนที่เห็นต่าง ซึ่งมองว่าไม่เป็นผลดีกับสถาบันฯ โดยรวม
นอกจากนี้ได้แก้ไขในส่วนของบทลงโทษ โดยมีหลักคือ ต้องมีการคุ้มครองประมุขของรัฐ คือพระมหากษัตริย์ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สองหลักนี้ต้องเหมือนกันการคุ้มครองก็คือว่า ประมุขของรัฐ หากมีใครมาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ต้องมีโทษที่สูงกว่าคนธรรมดา และบทลงโทษต้องไม่มีโทษขั้นต่ำ โดยเปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจได้ และแก้ไขโดยย้ายมาตรา 112 ออกจากหมวดเดิม ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคง ก็แก้ไขให้ย้ายมาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ โดยหมวดความมั่นคงนั้น เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ทำให้พอมีการแจ้งความแล้ว จะยอมความไม่ได้ มันทำให้เกิดความตึงเครียด ระหว่างสถาบันฯ กับประชาชน โดยที่คนอื่นมาแจ้งความ ไม่ใช่สถาบันฯไปทำเอง และไม่ได้มีการกลั่นกรองอะไร เราเลยเสนอให้ย้ายหมวดมาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ และหากคดีใดไม่ใช่คดีที่ร้ายแรงอะไร สถาบันฯ ก็อาจให้มีการยอมความกันที่จะทำให้สถาบันฯ ไม่ต้องปะทะกับคนที่เห็นต่าง...
“สิ่งที่พรรคก้าวไกลประกาศไว้ เราต้องเอามาทำ แต่ว่ามันจะถูกขวางอย่างไร ก็ต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งที่พรรคประกาศไว้อย่างไร ต้องเป็นแบบนั้น และอยู่ที่ว่าการตั้งรัฐบาลจะมีการต่อรองกันอย่างไรบ้าง อันนั้นคือด่านแรก แต่เจตจำนงของเรา คือต้องทำตามนโยบายทุกอย่างที่เราได้ทำสัญญาประชาคมไว้”
ขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาล อย่างเพื่อไทย ก็ชิงออกมาตีกันเอาไว้ก่อนแล้วว่า ใน“เอ็มโอยู” ร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องแก้ ม.112 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เผยว่า ประเด็นแก้ ม. 112 พรรคก้าวไกล ไม่ได้เสนอมาในร่าง เอ็มโอยู แสดงว่าพรรคก้าวไกลยินยอมว่าจะไม่นำเสนอเรื่องนี้เข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล
ที่น่าสนใจ สื่อบางสำนักรายงานว่า แกนนำพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า เรื่องแก้ไข ม. 112 จะไม่บรรจุไว้ใน เอ็มโอยู และไม่บรรจุในแผนทำงาน 100 วันแรกของรัฐบาลพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า
1.การแก้ไขมาตรา 112 จะไม่ถูกบรรจุไว้ในเอ็มโอยู เนื่องจากมีแนวโน้มที่พรรคการเมืองมีความเห็นที่แตกต่างกัน อีกทั้ง พรรคก้าวไกลอยากแก้ให้ประณีต ผ่านกลไกรัฐสภา
2.พรรคก้าวไกลไม่บรรจุไว้ในนโยบาย 100 วันแรก หลังการเข้าเป็นรัฐบาล เพราะต้องการทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้ตกผลึก และแก้เรื่องเฟกนิวส์ที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดในเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล
“เช่น ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกลจะยกเลิกองคมนตรี ซึ่งไม่เป็นความจริง เราอยากให้สังคมคลายล็อก เข้าใจเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกลจริงๆ จะเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ก็ต้องเข้าใจด้วยข้อเท็จจริงไม่ใช่เข้าใจผิดเรื่องเฟกนิวส์ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ต้องทำอย่างประณีต ถ้าเราไปหักดิบก็จะไม่ต่างกับการใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” แหล่งข่าว กล่าว
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์ว่า หากพรรคก้าวไกลบรรจุเรื่องแก้ไข ม. 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งกันสูงลงไปในในเอ็มโอยูร่วมรัฐบาล คิดว่าจะวงแตกทันที เพราะไม่มีพรรคไหนเอาด้วย
“และการเจรจาดึงเสียง ส.ว.จะยากยิ่งขึ้น เพราะ ส.ว.เป็นคนอายุรุ่นพ่อ แต่พรรคก้าวไกลอายุรุ่นลูก หากมีท่าทีที่แข็งกระด้างกดดัน ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือ” แหล่งข่าวกล่าว
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เนื่องจากปรากฏการณ์ “พิธา-ก้าวไกล” ถือว่า เร็ว-แรง ทะลุฟ้า
เร็ว คือ ตั้งพรรคมาได้ไม่กี่ปี(รวมอดีตพรรคอนาคตใหม่) ก็ได้ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 อย่างพลิกความคาดหมาย
แรง คือ กระแสที่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะสร้างปรากฏการณ์กวาดที่นั่งส.ส.กทม.ถึง 32 เขต อีกเขตเป็นของพรรคเพื่อไทย และเมื่อรวมทั้งหมด ได้ถึง 151 ที่นั่ง
ทะลุฟ้า คือ นโยบายหลายอย่างสร้างผลกระทบสูง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และท้าทายอย่างที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าคิดมาก่อน ถ้าทำได้ ก็จะยิ่งสร้างปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงประเทศ อย่างที่ประกาศเอาไว้ และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย
แต่ถึงกระนั้น ปรากฏการณ์ “เร็ว แรง ทะลุฟ้า” ของ “พิธา-ก้าวไกล” ก็ยังไม่ใช่“ฉันทานุมัติ” ให้แก้ไข ม.112 อยู่ดี และยังไม่อาจนำมาเป็นแรงกดดันให้ “ส.ว.” โหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ โดยปราศจากเงื่อนไข
อีกทั้งกลุ่มคนที่ต้องการแก้ไข ม.112 ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เลือกพรรคก้าวไกล อย่างที่ให้เหตุผลเอาไว้ข้างต้น
ยิ่งกว่านั้น นโยบายแก้ไข “ม.112” ถึงแม้ว่า ใน “เอ็มโอยู” จะไม่มีบรรจุเอาไว้ แต่ถ้ายังคงเป็นนโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพร้อมผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาฯกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย อะไรจะเกิดขึ้น
อย่าลืมว่า ที่มีกระแสอยู่ในเวลานี้ แค่ด่าน “ส.ว.” เลือก “พิธา” เป็นนายกฯ ที่ต้องหาคะแนนเสียงเพิ่มอีกประมาณ 60 กว่าเสียงมาสนับสนุน ถ้ายังตัดปัญหา แก้ม.112 ไม่แตะต้องสถาบันฯไม่ได้ ก็นับว่ายาก อีกทั้งข้ออ้างส.ว.เรื่องนี้ ยังมีน้ำหนักพอที่จะสู้กับปรากฏการณ์ “พิธา-ก้าวไกล” ได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้า “พิธา” และรัฐบาลก้าวไกล ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่แก้ม.112 ไม่สร้างผลกระทบใดๆต่อสถาบันฯ ก็จะเสียแนวทางต่อสู้ทางการเมืองที่เคลื่อนไหวมาตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และขณะหาเสียงเลือกตั้ง เสียอุดมการณ์พรรคที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ เสียมวลชนหนุนหลัง ที่ทำให้พรรคก้าวไกลมีวันนี้ นี่คือ ความยากยิ่งกว่ายาก ไม่แพ้กัน
จึงนับว่าน่าจับตามอง การจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล การโหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี จะสามารถคลี่คลายปมเงื่อนที่ผูกมัดตัวเองเอาไว้แน่น ได้อย่างไร หรือไม่?