'พิธา-ทักษิณ' ละม้ายคล้าย 'บกพร่องโดยสุจริต' ชี้ขาด?
ถ้ามองในทางกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ห้ามผู้สมัครส.ส.ถือหุ้นสื่อ นักกฎหมายหลายคน วิเคราะห์ตรงกันว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล รอดยาก!
เพราะมีหลักฐานว่า ยังถือหุ้นไอทีวีอยู่ 42,000 หุ้น ในวันที่ถูกร้อง และย้อนไปก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562 ด้วย ก่อนที่จะมาโอนหุ้นให้ “ทายาทร่วม” ในภายหลัง แม้ว่า “พิธา” จะอ้างว่า เป็นแค่ “ผู้จัดการมรดก”
ยิ่งกว่านั้น ล่าสุด(10 มิ.ย.66) กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้อง ที่มีผู้ร้องหลายคน กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญในการสมัครรับเลือกตั้ง กรณีถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น เหตุคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด
แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนต่อไปนั้น
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่เพิ่งประกาศลาออกจากพรรคเสรีรวมไทย โพสต์ข้อความชี้ประเด็นลงเฟซบุ๊ก ว่า
“กกต. ไม่รับคำร้องหุ้นสื่อของ 3 นักร้อง แต่รับไว้เองในฐานะความปรากฏ เพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ส.ส.
1. ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง แต่รับเป็นความปรากฏ แปลว่า กกต.รับเป็นเจ้าภาพเอง
2. ดำเนินคดีอาญา ม. 151 คือ หาก กกต. พบว่า พิธา สมัครโดยขาดคุณสมบัติ กกต. แจ้งความดำเนินคดีผ่าน ตำรวจ อัยการ ไปศาลอาญาได้เลย ไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี
3. การร้องคดีถือหุ้นสื่อยังร้องได้หลังมีการรับรอง ส.ส.แล้ว ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. 50 คน หรือ ส.ว. 25 คน หรือ กกต.ร้องเองในฐานะความปรากฏเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนการเป็น ส.ส. และตัดการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้อีกรอบ
4. สรุป หนักกว่าเดิมครับ”
เมื่อมาถึงตรงนี้ ประเด็นที่นักกฎหมายหลายคน ชี้ให้เห็นว่า “พิธา” จะต้องต่อสู้ ก็คือไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ ที่จะเป็นโอกาส รอดหรือไม่รอด มากกว่า ข้อต่อสู้เป็น “ผู้จัดการมรดก”
เรื่องนี้ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะไปร่วมรายการ “คมชัดลึก” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ “เนชั่นทีวี22”(1 มิ.ย.66)
ชี้ประเด็นว่า การจะดู ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ ศาลจะไม่ได้ดูเฉพาะหนังสือรับรองบริษัทที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่เขาจะดูเอกสารอื่นๆ ด้วย สิ่งสำคัญเลยคือเรื่องงบการเงิน มาดูกรณีไอทีวี เคยประกอบกิจการสื่อจริง ได้รับสัญญาร่วมการงานกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วก็ทำกันมาตลอด แต่ก็มีข้อพิพาทหลายเรื่อง หนึ่งในข้อพิพาทล่าสุด คือสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกยกเลิกสัญญาร่วมการงานเมื่อบอกเลิกสัญญาสิทธิในการออกอากาศของไอทีวีก็จบลง ก็มีการร้องอนุญาโตตุลาการ ตรงนี้ทำให้สิทธิ์ในการออกอากาศของไอทีวี หยุด และไอทีวีก็หยุดประกอบการตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 รวมถึงบริษัทลูก คือ บริษัท อาร์ตแวร์ฯ ก็หยุดประกอบการ
ส่วนประเด็น “พิธา” ยังถือหุ้นอยู่ เป็นหุ้นตัวเองหรือหุ้นกองมรดก รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าวว่า ประเด็นนี้ นายพิธาสู้ยาก ถ้าเราไปดูข้อ 1 กฎหมายมีบทสันนิษฐาน เอกสารสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นเอกสารทางการของบริษัท เขาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้องตามจริงเช่นนั้น ดังนั้นเป็นหน้าที่นายพิธา ถ้าจะสืบว่า ไม่ใช่หุ้นของตัวเอง เพราะเอกสารมีชื่อปรากฏผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ไม่ได้วงเล็บด้วยว่าเป็นผู้จัดการมรดก เพราะฉะนั้นก็ถูกข้อสันนิษฐานนี้ 42,000 หุ้น มีปัญหาทับซ้อนกันอยู่
“ประเด็นนี้ ผมว่าสู้ยาก เพราะว่าถ้าคุณพิธาครอบครองแทนในฐานะผู้จัดการมรดกสมมติจริง แต่อย่าลืมว่าคุณพิธาเป็นทายาทโดยชอบธรรม ผู้มีสิทธิ์รับมรดกคนหนึ่งของคุณพ่อ ดังนั้นมีสองหมวดที่คาบเกี่ยวกัน แต่ถ้ามองในส่วนที่เป็นทายาท ตัวหุ้นอาจจะไม่ถึง 42,000 หุ้นอาจจะน้อยกว่านั้น” รศ.ดร.ณรงค์เดช อธิบาย
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สมมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติ จะกระทบต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ รศ.ดร.ณรงค์เดช ชี้ว่า กระทบ เนื่องจากในข้อบังคับของพรรคก้าวไกล มีข้อหนึ่งเขียนไว้ว่า คนที่จะเป็นสมาชิกจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญ ถ้าคุณไม่เป็นสมาชิกคุณก็เป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้
นี่คือ อีกประเด็น ที่นักกฎหมายกำลังถกเถียงกันว่า หาก “พิธา” ขาดคุณสมบัติสมัครส.ส. อาจกระทบกับการเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และการเซ็นรับรองผู้สมัครส.ส.ของพรรค รวมถึงการสมัคร “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ก็ต้องกระทบด้วย หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรื่องยังอยู่ในขั้นตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของ กกต. ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วง ก็คือ “ทางตัน” ทางการเมือง
อย่าลืมว่า แม้ “พิธา” ไม่มีกรณีถือหุ้นสื่อ ซึ่งต้องห้ามเป็นผู้สมัครส.ส.ตามรัฐธรรมนูญส.ว.(250 เสียง) ส่วนใหญ่ ก็ยังตั้งป้อมต่อต้าน นโยบายแก้ไข ม.112(กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ) ที่พรรคก้าวไกล เตรียมผลักดันเข้าสู่สภาฯ แม้ไม่ได้เขียนไว้ใน MOU ร่วมรัฐบาลก็ตาม
นั่นคือ ปัญหาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ “พิธา” ต้องการเสียงส.ว.สนับสนุนถึง64 เสียง จากที่มีอยู่แล้ว 312 เสียง(จาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล) เพื่อให้ได้ 376 เสียง หรือเกินกว่าครึ่งของรัฐสภา(376 เสียง) ก็ยังนับว่ายาก และกูรูการเมือง ต่างวิเคราะห์ตรงกันว่า จะไม่ผ่านโหวตเลือกนายกฯ
ยิ่งมีกรณีถือหุ้นสื่อ(ไอทีวี) เข้าไปอีก ผลกระทบตามมา อาจไม่ถึงขั้นเสนอโหวตนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ ถ้าเรื่องนำไปสู่การตัดสินเร็ว หลายคนเชื่อว่า หลัง กกต.รับรองส.ส. ไม่นาน อาจมีการฟัน “พิธา” ต้องห้ามเป็นผู้สมัครส.ส. และอาจกระทบทั้งการเป็นหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี?
ผลเลวร้ายไปกว่านั้น อาจถึงขั้น การรับรองผู้สมัครส.ส.ของพรรคก้าวไกล เป็น “โมฆะ” จนนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ เฉพาะผู้สมัครก้าวไกล เป็น “โมฆะ” หรืออาจทั้งประเทศ? ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย หรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องยอมรับว่า โอกาสที่ “พิธา” จะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” จึงยากนับแต่ด่านส.ว. มาถึงด่าน กกต. และด่านศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยอย่างไร
ขณะเดียวกัน ประเด็น “ชนวนพิธา” อย่างที่ “จตุพร พรหมพันธุ์” ออกมาส่งสัญญาณ ก็จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด ว่า อาจนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่
เพราะต้องไม่ลืมเช่นกันว่า พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 อย่างพลิกความคาดหมาย และมีนัยสำคัญ ว่า ประชาชน ต้องการให้พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และ ต้องการให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น หากความหวังของประชาชน พังทลายลง อารมณ์เดือดดาลก็จะตามมา และการลุกฮือต่อต้าน “เผด็จการ” ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงกว่าทุกครั้ง
แน่นอน, สุดท้ายแรงกดดันจะไปตกศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะรับ “เผือกร้อน” จาก กกต. โดยอาจต้องชั่งน้ำหนักกระแสสังคมเป็นอย่างดีก่อนตัดสินหรือไม่
ไม่แน่ อาจปลุกวลีดังในตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต” ให้กลับมามีชีวิตชีวา อีกครั้งก็เป็นได้?
เพราะถ้าพินิจพิเคราะห์ให้ดี ดูเหมือน กรณี “พิธา” ซุกหุ้นสื่อ จนมีผลต่อคุณสมบัติต้องห้ามสมัครส.ส. และอาจมีผลต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามความคาดหวังประชาชนถือว่า ละม้ายคล้าย กรณี ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น โดยอ้าง“บกพร่องโดยสุจริต” ในการต่อสู้คดี
โดยย้อนไปเมื่อปี 2544 “ทักษิณ” ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ จากกรณีซุกหุ้นไว้กับคนใช้และคนขับรถ คดีนี้ถูกส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งถ้าผิดจริง “ทักษิณ” ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ
ขณะเดียวกัน เป็นที่ทราบกันว่า “ทักษิณ” ต่อสู้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งทางกฎหมาย มีมือกฎหมายชั้นนำและพยานเบิกความจำนวนมาก ท่ามกลางใช้มวลชนต่อสู้นอกศาล ทำให้บรรยากาศวุ่นวายเป็นอย่างมาก
สื่อบางสำนัก เผยว่า ขณะนั้น “ทักษิณ” ใช้ทุกสรรพกำลังกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ส. สมาชิกพรรคไทยรักไทย, ทหาร, ตำรวจ, เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10, สื่อมวลชน, ชาวบ้าน รวมทั้งนักวิชาการและผู้นำทางความคิดออกมาเรียกร้องชี้นำให้ใช้หลักรัฐศาสตร์แทนหลักนิติศาสตร์
ไม่เว้นแม้แต่ บุคคลที่สังคมเชื่อถือ อย่าง นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว, นายแพทย์ประเวศ วะสี ฯลฯ ก็ออกมามีส่วนร่วม
ที่สำคัญ ระหว่างการพิจารณาคดี “ทักษิณ” ให้การว่า มิได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ แต่ผู้ช่วยหรือเลขานุการของตนเองเป็นผู้ดำเนินการแทน หากมีความผิดพลาดในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงความบกพร่องของตนเอง โดยมิได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด สาเหตุเกิดขึ้นจากการ ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ของตน ไม่ควรต้องถูกลงโทษตามรัฐธรรมนูญ
ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ “ทักษิณ” พ้นผิดด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544
ส่วนคดีถือหุ้นสื่อของ “พิธา” ถึงตอนนี้ยังไม่แน่ว่า จะหยุดอยู่แค่ กกต. หรือ ไปต่อที่ศาลอาญา หรือศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีละม้ายคล้ายกับคดีซุกหุ้นของ “ทักษิณ” อาจแค่มีคดี และมีมวลชนหนุนหลังจนเกิดภาวะกดดัน เท่านั้น ก็เป็นได้ เรื่องนี้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป