ศึกชี้ชะตา 'เพื่อไทย' วัดใจ 'บ้านใหญ่' ใต้เงา 'ทักษิณ'
ศึกชิงประธานสภา ชี้อนาคต ‘เพื่อไทย’ จะเดินต่อแบบไหน พรรคเชิงอุดมการณ์ หรือพรรคบ้านใหญ่ ‘ทักษิณ’ จะเลือกกลับบ้านหรืออยู่ยาวในต่างแดน
ป้ายฝ่ายประชาธิปไตย แค่เปลือกนอก ส่องลึกเนื้อในพรรคเพื่อไทย อุดมไปด้วยนักเลือกตั้ง ที่เติบโตมาในการเมืองเก่า คนละสายพันธุ์กับ ส.ส.รุ่นใหม่ พรรคก้าวไกล
หากมองพรรคเพื่อไทย อย่างเข้าใจถึงที่มา และจุดกำเนิดของพรรคไทยรักไทย สมัยทักษิณ ชินวัตร รวบรวมผู้คนมาจากร้อยซุ้มพันก๊ก ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่ห่อหุ้มด้วยนโยบายประชานิยม และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2544
การแสดงละครในที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566 เรื่องประธานสภาของข้าใครอย่าแตะ ก็เป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของซุ้มก๊ก ที่ส่งสัญญาณให้พรรคจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ให้อย่างเป็นธรรม ไม่ไปกระจุกตัวอยู่ที่ก๊กใดก๊กหนึ่ง
วันที่ 4 ก.ค.2566 จะมีการประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเชื่อว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลน่าจะมีบทสรุปแล้ว หากว่า ประธานสภาไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล หรือปล่อยให้ฟรีโหวตเลือกประธานสภา พรรคเพื่อไทยก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมทันที
อย่างว่าแหละ เนื้อในเพื่อไทยคือ พรรคของนักเลือกตั้งเจนสังเวียน ศูนย์รวมบ้านใหญ่ระดับท้องถิ่น แม้จะมีคนหน้าใหม่ แต่ก็เป็นทายาทนักเลือกตั้ง ดังนั้น สถานการณ์ในวันเลือกประธานสภา อาจเกิดสิ่งที่ช็อกวงการเมืองไทยก็ได้
อีกประการหนึ่ง สส.เขต จำนวน 112 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ภาคอีสาน รองลงมาคือ ส.ส.ภาคเหนือ ส่วน ส.ส.ภาคกลาง ได้แค่ 13 คน และมี ส.ส.เมืองหลวงแค่คนเดียว
กลุ่มวังบัวบาน(ภาค 2)
การเลือกตั้งปี 2566 เฉพาะภาคเหนือตอนบน เพื่อไทยพ่ายยับหลายจังหวัด ได้เก้าอี้ ส.ส.24 ที่นั่ง แยกเป็นเชียงราย 5 ที่นั่ง,เชียงใหม่ 2 ที่นั่ง,น่าน 3 ที่นั่ง,แพร่ 3 ที่นั่ง,ลำปาง 1 ที่นั่ง,ลำพูน 1 ที่นั่ง,อุตรดิตถ์ 3 ที่นั่ง ,สุโขทัย 4 ที่นั่ง และพิษณุโลก 2 ที่นั่ง
กลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือนั้น มี สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นแกนนำ โดยมีเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นที่ปรึกษา
ส.ส.บัญชีรายชื่อโซนเหนือ ได้แก่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ,ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร และวิสุทธิ์ ไชยณรุณ
ส.ส.เขต ที่อยู่ในกลุ่มนี้ แยกเป็นรายจังหวัดดังนี้ เชียงใหม่ 2 คน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และศรีโสภา โกฎคำลือ
เชียงราย 3 คน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ลูกสะใภ้เสี่ยสมพงษ์ ,เทอดชาติ ชัยพงษ์ และพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน
น่าน 3 คน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, ทรงยศ รามสูต และณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์
แพร่ 3 คน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ,นิยม วิวรรธนดิฐกุล และวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
ลำปาง 1 คน ธนาธร โล่ห์สุนทร และลำพูน 1 คน รังสรรค์ มณีรัตน์
อุตรดิตถ์ 3 คน กฤษณา สีหลักษณ์ ,วารุจ ศิริวัฒน์ และรวี เล็กอุทัย
พิษณุโลก 2 คน นพพล เหลืองทองนารา และพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ
กลุ่มติยะไพรัช
ยงยุทธ ติยะไพรัช เคลื่อนไหวเป็นเอกเทศ ส่งลูกสาวคนเล็ก ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช ไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติพร้อมกันนั้น ก็ส่งลูกสาว ปิยะรัฐชย์ ปิยะไพรัช ลงสมัคร ส.ส.เชียงราย เขต 2 ในเขตที่มั่นเดิม อ.แม่จัน
และดันน้องสาว ละออง ติยะไพรัช ขึ้นไปอยู่บัญชีรายชื่อ ลำดับ 32
สรุปว่า ค่ายยงยุทธ ได้ ส.ส. 1 คน คือ แม่เลี้ยงโฮม-ปิยะรัฐชย์ ปิยะไพรัช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ
มีข้อสังเกตว่า ปั๋น-ชินวัฒน์ ชินอนุวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ทีมลูกหนังของตระกูลติยะไพรัช ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เชียงราย เขต 1 พรรคก้าวไกล
กลุ่มวังน้ำยม
เที่ยวนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ย้ายกลับพรรคเพื่อไทย ทำให้ลดการแข่งขันกับตระกูลทองปากน้ำ ผลการเลือกตั้ง ส.ส.สุโขทัย จึงแลนด์สไลด์ทั้งจังหวัดตามเป้าหมาย 4 คนคือ พรรณสิริ กุลนาถศิริ ,ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ,ประภาพร ทองปากน้ำ และจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คนคือ สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส่วนผู้สมัคร ส.ส.หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ที่สมศักดิ์ไปช่วยหาเสียง ปรากฏว่า สอบตกหมด รวมถึงสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี ฉะนั้น ตอนนี้ กลุ่มวังน้ำยม จึงมีขุมกำลังอยู่ 6 คน
อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์-สุริยะ มักมีกลยุทธ์ในการเสริมทัพอยู่เสมอๆ เหมือนหลังเลือกตั้งปี 2562 สมัยอยู่พรรคพลังประชารัฐ ได้กวาดต้อน ส.ส.นกแลมาอยู่ในกลุ่มสามมิตร 20 คน ก่อนจะสลายตัวไป เหลือแค่ 8 คน ก่อนยุบสภา
กลุ่มโคราชมหานคร
ในชั่วโมงนี้ ในเพื่อไทย ต้องยกให้กลุ่มโคราช เป็นซุ้มขาใหญ่ เพราะกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ 12 ที่นั่ง จากทั้งหมด 16 ที่นั่ง เป็นผลงานร่วมกันของ กำนันป้อ-วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม และประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย
สำหรับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อกลุ่มนี้มี 2 คน คือ ประเสริฐ จันทรรวงทอง และ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ลูกสาวกำนันป้อ
บรรดา ส.ส.นครราชสีมา 12 คน มีทั้งคนหน้าเก่า และคนหน้าใหม่ แยกออกเป็น 2 ซุ้มย่อยคือ ซุ้มแป้งมันเอี่ยมเฮง 7 คน ประกอบด้วย อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล ลูกชายกำนันป้อ, นรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล หลานชาย ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ,พรเทพ ศิริโรจนกุล พี่น้องกับนรเสฏฐ์ , ปิยะนุช ยินดีสุข อดีต ส.อบจ.เขต อ.ลำทะเมนชัย (ภรรยา พรเทพ),เขต 8 นิกร โสมกลาง ลูกเขยกำนันป้อ (สามี สุดาวรรณ) ,อภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.2สมัย และสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล อดีตรองนายก อบจ.นครราชสีมา
ซุ้มประเสริฐ 5 คน ได้แก่ พชร จันทรรวงทอง ลูกชายประเสริฐ ,ณัฐจิรา อิ่มวิเศษ, โกศล ปัทมะ ส.ส. 3 สมัย , ศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ ส.ส. 3 สมัย และ รชตะ ด่านกุล ส.ส. 2 สมัย
กลุ่มอุบล-ศรีสะเกษ
ได้หวนคืนสภาอีกสมัย เกรียง กัลป์ตินันท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่คงรู้สึกผิดหวังที่ผู้สมัคร ส.ส.ในสังกัดนับสิบคน สอบตกที่อำนาจเจริญ ,ยโสธร และอุบลฯ จึงเหลือไพร่พลในมือ 11 คน
อุบลราชธานี 4 คน วรสิทธิ์ กับป์ตินันท์,กิตติ์ธัญญา วาจาดี,ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ และสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ
ศรีสะเกษ 7 คน ธเนศ เครือรัตน์ ,สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ,ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ,อมรเทพ สมหมาย ,วีระพล จิตสัมฤทธิ์ ,วิลดา อินฉัตร และนุชนารถ จารุวงษ์เสถียร
กลุ่มนครอุดร
วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี และศราวุธ เพชรพนมพร ลูกเขย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หมายมั่นปั้นมือ จะชนะยกจังหวัดอีกสมัย แต่แล้วเมืองหลวงคนเสื้อแดงก็ถูกตีแตก ศราวุธ พลาดท่าพ่ายผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ พรรคก้าวไกล แถมอีก 2 เขต ก็ถูกพรรคไทยสร้างไทย เจาะไปได้
ดังนั้น ส.ส.อุดรฯ สมัยนี้ จึงเหลือเข้าสภา 7 คน คือ หทัยรัตน์ เพชรพนมพร พี่สาวศราวุธ ,ภาณุ พรวัฒนา ,กรวีร์ สาราคำ ลูกชายขวัญชัย, ธีระชัย แสนแก้ว ,เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ,วัชระพล ขาวขำ ลูกชายวิเชียร และเทียบจุฑา ขาวขำ ภรรยาวิเชียร
พ่วงด้วย ส.ส.หนองคาย 2 คน ชนก จันทาทอง และเอกธนัช อินทร์รอด บึงกาฬ 1 คน นิพนธ์ คนขยัน
กลุ่มอีสานกลาง
กลุ่ม ส.ส.ที่ส่งเสียงดังเรื่องตำแหน่งประธานสภา ในพรรคเพื่อไทยวันนี้ มาจากกลุ่ม ส.ส.อีสานกลาง อย่าง ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ,อดิศร เพียงเกษ และสุทิน คลังแสง ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โซนอีสาน
ส่วน ส.ส.เขตโซนอีสานกลาง ใน 3 จังหวัด รวม 16 คน ได้แก่ มหาสารคาม 5 คน กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ,ไชยวัฒนา ติณรัตน์ ,สรรพภัญญู ศิริไปล์ , จิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ และรัฐ คลังแสง
ขอนแก่น 6 คน ภาควัตร ศรีสุรพล ,สิงหภณ ดีนาง ,สุรพจน์ เตาะเจริญสุข ,วิภาณี ภูคำวงศ์ ,สรัสนันท์ อรรณนพพร และวันนิวัติ สมบูรณ์
ร้อยเอ็ด 5 คน ฉลาด ขามช่วง, นรากร นาเมืองรักษ์, จิราพร สินธุไพร ชญาภา สินธุไพรและกิตติ สมทรัพย์
นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.กลุ่มจังหวัดโซนอีสานเหนือ อย่างหนองบัวลำภู 3 คน, เลย 3 คน, กาฬสินธุ์ 4 คน, นครพนม 2 คน และสกลนคร 5 คน รวมถึงโซนอีสานใต้ อย่างชัยภูมิ 3 คน และสุรินทร์ 3 คน
ว่ากันว่า 73 ส.ส.อีสาน จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ มาจากบ้านใหญ่ในท้องถิ่น ดูแลตัวเองได้ ส่วน ส.ส.อีสานประเภทเสาไฟฟ้า ได้สอบตกไปหมดแล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
กลุ่มบ้านใหญ่ภาคกลาง
พรรคเพื่อไทย เคยครองแชมป์ ส.ส.ภาคกลาง และภาคตะวันออก มาหลายสมัย แต่หนนี้ เจอพายุสีส้มกวาดเก้าอี้ ส.ส.ไปเป็นกอบเป็นกำ ทำพรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.โซนนี้ 13 คน
ช่วงเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา โซนภาคกลางและตะวันออก อยู่ในการดูแลของ สนธยา คุณปลื้ม และสุชาติ ตันเจริญ โดยพ่อมดดำ ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส.ส.เขตที่ได้เป็นเกือบยกจังหวัดคือ กาญจนบุรี 4 คน อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์, ชูศักดิ์ แม้นทิม, ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ และพนม โพธิ์แล้ว
ลพบุรี 2 คน สิทธิชัย หล่อประสงค์สุข และวรวงศ์ วรปัญญา หลานชายนิยม วรปัญญา อดีต ส.ส. 12 สมัย
สระบุรี 1 คน อรรถพล วงษ์ประยูร แต่พี่ชาย องอาจ วงษ์ประยูร เป็น ส.ส.เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ
ฝั่งตะวันออก เพื่อไทยพ่ายยับ เก็บมาได้เพียง 5 ที่นั่งคือ นครนายก 2 คน พล.ต.ต.สุรพล บุญมา และเกรียงไกร กิตติธเนศวร
ฉะเชิงเทรา 2 คน ฐิติมา ฉายแสง และศักดิ์ชาย ตันเจริญ รวมถึงชลบุรี อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์
ภาพรวม ส.ส.เพื่อไทยดังที่ไล่เรียงมาทั้งหมด สะท้อนภาพพรรคนักเลือกตั้ง ที่มี ส.ส.พรรษาเยอะ เจนสังเวียน แต่ด้วยโครงสร้างพรรคที่ใครๆก็รู้ว่า พรรคนี้มีเจ้าของ จึงต้องจบทุกความขัดแย้งภายในพรรคที่คนแดนไกล