'ประธานสภา' ตกลงกันยาก ด่าน 'สว.' ยิ่งตกลงไม่ได้
มองอย่างโลกสวย ยก “เกมแห่งอำนาจ” ออกไปให้หมด เหลือแค่การจัดตั้งรัฐบาลปกติ ป่านนี้ประชาชนคงไม่ต้องรอการแก้ไขปัญหาปากท้องให้เหนื่อยใจ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่
แต่เมื่อมี “เกมแห่งอำนาจ” แทรกซ้อนซ่อนเงื่อนผสมโรง “เกมการเมือง” ศึกใน-ศึกนอก ก็พลอยฮึกเหิมตามไปด้วย ต่างชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ ทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก ทำให้เรื่องปกติ ไม่ปกติ ทำให้โอกาสเจอ “ทางตัน” เกิดขึ้น ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีโอกาสพลิกขั้ว จับมือข้ามฟาก “ผสมพันธุ์” กับฝ่ายที่ตัวเอง ด่ามาตลอดว่า เป็น “เผด็จการ” ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมด ถ้าต้องการให้เกมแห่งอำนาจจบลง
นี่คือ สิ่งที่ “8 พรรคร่วมรัฐบาล” ซึ่งมี ก้าวไกล 151 เสียง เป็นแกนนำ โดยมี เพื่อไทยอันดับสอง 141 เสียง(ห่างกันแค่ 10 เสียง) และอีก 7 พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล กำลังเผชิญปัญหา
ความจริง ถ้าไล่เรียงอุปสรรคของการจัดตั้งรัฐบาล อาจเริ่มนับแต่ รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีบทเฉพาะกาลกำหนด 5 ปีแรก ในการโหวตลงมติเลือก “นายกรัฐมนตรี” ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ เกินครึ่งของรัฐสภา(ส.ส.-ส.ว.) คือ 376 เสียง จากทั้งหมด 700 เสียง(ส.ส. 500 เสียง ส.ว. 250 เสียง)
แน่นอน, เจตนารมณ์ เพื่อ “กลั่นกรอง” คนที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศ เพื่อให้ได้ “คนดี” มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มีประวัติความเป็นมาสะอาดโปร่งใส รวมทั้งเป็นหน้าตาให้กับประเทศ อย่างเหมาะสม
แต่ปัญหาอยู่ที่ “ส.ว.” ตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ “ส่วนใหญ่”เป็นกลุ่มก้อนที่มาจากสายสัมพันธ์ของ “คสช.” (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) หรือ “คณะรัฐประหาร” ปี2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหรือปัจจุบันรู้จักกันในนาม “3 ป.” ที่มีอำนาจทางการเมือง
ประกอบด้วย ป.- ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ป. “ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เมื่อเป็นเช่นนี้ “กับดัก” ที่เกิดขึ้นถึงสองชั้นก็คือ ประการแรก ในการเลือกตั้ง “ส.ส.” ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง จะต้องสร้างปรากฏการณ์ให้ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือถล่มทลาย เกินกว่า 251 เสียงขึ้นไป หรือ ได้ 376 เสียง ยิ่งดี จึงจะไม่ต้องอาศัยเสียงจากส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ยากถึงยากมาก เห็นได้ชัด ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 “เพื่อไทย” ก็พยายามใช้ “ยุทธศาสตร์” แลนด์สไลด์ เพื่อฝ่า “กับดก” นี้ให้ได้ แต่ก็ได้แค่ 141 เสียง
ประการที่สอง “ส.ว.” มีที่มาจาก “คสช.” ถูกจับตามองว่า ย่อมเป็นกลุ่มก้อนที่เลือกข้างฝ่าย “คสช.” และด้วยจำนวนที่มากเท่ากับ “ครึ่งหนึ่ง” ของ “ส.ส.” ทั้งหมด จึงมีส่วนในการตัดสิน “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ในกรณีที่ไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้เสียงชนะส.ว.ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยิ่งพรรคการเมืองได้ที่นั่งส.ส.แบบกระจัดกระจาย อย่างการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเข้าทาง “ส.ว.” มากที่สุด ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า จะให้ใครเป็น “นายกรัฐมนตรี”
ดังนั้น การผ่านด่านอรหันต์ “ส.ว.” ชุดนี้ หนึ่ง จะต้องเป็นฝ่ายเดียวกับ ส.ว.ส่วนใหญ่ สองต้องทำให้ ส.ว. มั่นใจได้ว่า ไม่เป็น “ศัตรู” กับสิ่งที่ “ส.ว.” มีความคิดความเชื่อทางการเมือง
ทั้งหมดที่กล่าวมา ถือว่า เป็น “ศึกนอก” ตามรัฐธรรมนูญที่วาง “กับดัก” เอาไว้
ส่วน “ศึกใน” ปกติแล้ว อยู่ที่ “เกมต่อรอง” ของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่ง “รัฐมนตรี” กระทรวงหลัก กระทรวงใหญ่ หรือ กระทรวง “เกรดเอ” ที่มีผลต่อการสร้างคะแนนนิยม และได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวน “ส.ส.” ของ แต่ละพรรค ถ้าตามปกติ ก็แทบไม่มีปัญหาอะไร เพราะแต่ละพรรคยอมรับว่า ตัวเองต่อรองได้แค่ไหนอยู่แล้ว แต่ปัญหามักเกิดขึ้นจากการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละพรรคมากกว่า ซึ่งแต่ละพรรคก็แก้ปัญหาของตัวเองไป และไม่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล
หันมาดู ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “พรรคก้าวไกล” พรรคที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งแต่มีส.ส.ห่างจากอันดับสอง อย่าง “เพื่อไทย” เพียง 10 ที่นั่ง นั่นหมายถึงอำนาจต่อรองใกล้เคียงกันมาก และมีโอกาสแข่งกันจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วย
ปัญหาทุกอย่าง คือ การสร้าง “เงื่อนไข” ผูกมัดตัวเอง!
ความจริง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ “ก้าวไกล” น่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นมากกว่านี้เพราะการร่วมกับ “เพื่อไทย” จัดตั้งรัฐบาล แค่สองพรรครวมกัน ก็มีที่นั่งส.ส.ถึง 292 ที่นั่งแล้ว เกินครึ่งของสภาฯไม่น้อย ยิ่งเมื่อรวมกัน 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล มีเสียงเพิ่มถึง312 เสียง ยิ่งเล็งเห็นเสถียรภาพของรัฐบาล
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านที่เคยให้คำมั่นสัญญากันเอาไว้ก่อนแล้วว่า จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย
ลงตัวขนาดนี้แล้ว ไม่น่ามีปัญหา หรือมีก็อยู่ที่ “ส.ว.” ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลช่วยกัน“ล็อบบี้” จริงจัง จากเสียงที่มีอยู่ 312 เสียง (8 พรรคร่วมรัฐบาล) เหลือแค่ 64 เสียงทำไมจะผ่านด่านอรหันต์ไม่ได้ แม้ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นส.ว.สาย “คสช.”
ประเด็น อยู่ที่ นอกจาก “ก้าวไกล” จะสร้างเงื่อนไขผูกมัดตัวเองแล้ว ยังเปิดช่องให้ “เกมแห่งอำนาจ” แทรกแซงได้ง่ายด้วย
เงื่อนไขที่เห็นได้ชัด อันดับแรก พรรคก้าวไกล ประกาศชัดเจน ต้องการผลักดันนโยบาย“ก้าวหน้า” หลายเรื่อง เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ หนึ่งในนั้น คือ แก้ไข ป.อาญาม.112 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคง และเกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันฯ
ถือเป็นความพยายามอีกครั้ง หลังจากสมัยที่แล้วเคยเสนอไป แต่ถูก “ประธานสภา” ไม่บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ
สำหรับนโยบายแก้ไข ม.112 ถ้าติดตามการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ก็จะเห็นประเด็นอยู่เหมือนกันว่า พรรคร่วมอื่นก็ติดปัญหาเรื่องนี้ จนพรรคก้าวไกลยอมถอย ไม่ผลักดันเข้าไปอยู่ใน MOU ร่วมรัฐบาล แต่ก็ยังยืนยันที่จะผลักดันผ่านสภาฯ
แล้วที่ต้องยอมรับอีกอย่างก็คือ การมีนโยบายแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล ก็เพราะฐานการเมืองใหญ่ของพรรคก้าวไกล อยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง “3 นิ้ว” ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขม.112
มาถึงตรงนี้ เห็นได้ชัดว่า คนที่สร้างเงื่อนไข รัดคอตัวเอง ก็คือ พรรคก้าวไกล จนกลายเป็นว่า พรรคแกนนำ จัดตั้งรัฐบาล สร้างปัญหาเสียเอง
นี่ยังไม่นับ ปัญหา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ถูกร้องปมถือหุ้นสื่อ(ไอทีวี) ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ “กกต.” และกกต.ยังถูกไล่บี้ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว หรือ ก่อนโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามสมัครส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังอาจถูกตีความมีผลถึง “แคนดิเดตนายกฯ” ด้วยหรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่การจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกล จะมีอุปสรรคอย่างเดียว คือส.ว.จะโหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกฯหรือไม่ กลับกลายเป็นว่า มีประเด็นที่ “ใหญ่กว่า” และมีเหตุมีผลมากพอ ที่จะทำให้ “ส.ว.” ใช้เป็นข้ออ้าง ไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯคือการแก้ไข ป.อาญา ม.112 อันเป็นการกระทบต่อสถาบันฯ
เพราะอย่าลืม คนไทยจำนวนไม่น้อย ยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ หรือแม้แต่คนเลือก “พิธา” และพรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้แก้ไข ม.112 ทั้งหมด
เรื่องนี้ แม้พรรคก้าวไกล จะอ้างว่า พูดคุยกับส.ว.เข้าใจแล้ว และหลายคนหันมาสนับสนุน พร้อมโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ แต่ข่าว “วงใน” ยังคงยืนยันชัดเจนว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ให้ผ่าน ด้วยประเด็นแก้ไข “ม.112” และไม่ต้องการให้แตะต้องสถาบันฯ
สอดรับกับส.ว.บางคนออกมาเปิดเผยว่า คนที่สนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯไม่เกิน 5 คนส่วนจริงหรือไม่ นับว่าน่าจับตามอง
นอกจากประเด็น“ส.ว.” แล้ว เรื่อง “อำนาจต่อรอง” ของพรรคเพื่อไทย ก็ถือว่าสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน
อย่าลืม พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง จึงสามารถเป็น “แกนนำ” จัดตั้งรัฐบาลได้ทั้งสองพรรค
และแกนนำ “เพื่อไทย” ก็เริ่มอ้าง ถูก “ประชาชน” คลุมถุงชน ให้แต่งงานกับ “ก้าวไกล” แล้ว เหมือนส่งสัญญาณว่า เขามีทางเลือกอื่น และแต่งงานกับคนอื่นก็ได้
อาจด้วยเหตุนี้ ก็เป็นได้ ทำให้กรณีขัดแย้ง ตำแหน่ง “ประธานสภา” พรรคเพื่อไทย มีอำนาจต่อรองสูง ซึ่ง “เพื่อไทย” อาจรู้ดีว่า ถึงอย่างไร “ก้าวไกล” ก็ต้องเอาให้ได้ เพราะหมายมั่นปั้นมือที่จะใช้ตำแหน่งนี้ “เอื้อ” ต่อการทำงานสภาฯ เสนอกฎหมายหลายฉบับและหนึ่งในนั้น ก็คือ แก้ไขม.112 โดยได้บทเรียนมาจากสภาฯสมัยที่แล้ว ที่ประธานสภาไม่ยอมให้ การเสนอแก้ม.112 บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ รวมถึงการคุมเกมในสภา เพื่อให้ราบรื่น เพราะกฎหมายหลายฉบับที่เตรียมเสนอล้วนแต่ไม่ธรรมดาซึ่งอาจต้องใช้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นตัวช่วยอย่างมาก
เมื่อ “ประธานสภา” คือหัวใจอีกซีกหนึ่งของ “ก้าวไกล” ที่จะขาดไม่ได้ “เพื่อไทย” จึงใช้อำนาจต่อรองที่มีอยู่ในการยื้อแย่ง ส่วนจะได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้อง “ชนะ” ในเกมนี้ หรือ ถ้า “ก้าวไกล” เบื่อหน่ายถึงขั้นเลิกรากันไป ก็ยิ่งเข้าทาง “เกม” พลิกขั้วข้ามฟากจัดตั้งรัฐบาล แถมมีข้ออ้างไม่ได้เป็นฝ่ายทอดทิ้งด้วย
ที่ต้องไม่ลืม ก็คือ “ดีลกลับบ้าน” ของ “ทักษิณ” ว่ากันว่า นายกรัฐมนตรีชื่อ “ประวิตรวงษ์สุวรรณ” น่าจะนำพากลับบ้าน และดูแลเป็นอย่างดี มากกว่านายกฯที่ชื่อ “พิธา”? หมายถึงอะไร กระแสข่าวก็บอกอยู่แล้ว
เกมจัดตั้งรัฐบาล ใครคิดว่าจะจบลงด้วยดี ถ้าดูจาก “กลเกม” ของแต่ละฝ่าย “กับดัก” ที่ถูกจัดวางเอาไว้อย่างแยบยล คงต้องบอกว่า “โลกสวยเกินไปหรือเปล่า?”
อย่าลืม ปมขัดแย้ง “ประธานสภาฯ” แค่ “ต่อรอง” ภายในก็ยากแล้ว ด่าน “ส.ว.” โหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี อาจยิ่งตกลงกันไม่ได้เลย เพราะอะไร “พิธา-ก้าวไกล” รู้ดีที่สุดอยู่แล้ว