พิธา-ส.ว. ต้องมีฝ่ายถอย แก้ 'ม.112' ตัวแปรนายกฯ
สัญญาณที่ออกมาชัดเจนที่สุดในเวลานี้ คือ “วุฒิสภา” มีท่าทีพร้อมใจปกป้องสถาบันฯ โดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสียงส่วนใหญ่ จะไม่โหวตเลือก หรือลงมติให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็น “นายกรัฐมนตรี”
เหตุผล และความรู้สึกร่วม มีเรื่องเดียวคือ แนวคิด ปฏิรูปสถาบันฯและแก้ไข ป.อาญา ม.112 ของ “พิธา” และพรรคก้าวไกล แม้ว่า จะมีประเด็น คุณสมบัติต้องห้ามสมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ก็ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า มีความผิดจริงหรือไม่ จนกว่าศาลฯจะตัดสิน
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า การโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ “พิธา” จะไม่ผ่านในรอบแรก หรือแม้แต่รอบต่อๆไป ตราบใดที่ไม่อาจสร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่แก้ “ม.112” หรือแตะต้องสถาบันฯ
ถามว่า “ส.ว.” ทำได้หรือไม่ คำตอบ ทำได้! เนื่องจากการโหวตลงมติเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ “รัฐสภา” (ส.ส. บวก ส.ว.) คือ 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง ตามที่รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลกำหนด(5ปีแรก) ขณะที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลของ “พิธา” มีส.ส.ทั้งสิ้น 312 เสียง ยังต้องการส.ว.ลงมติให้อีก 64 เสียง แม้ดูไม่มาก แต่ถ้าได้ไม่เกิน 20 เสียง อย่างที่มีกระแสข่าว ก็ถือว่า ไม่ผ่าน
ขณะเดียวกัน ในฝ่าย “พิธา” และพรรคก้าวไกล คนทั่วไป ยกเว้น “ด้อมส้ม” ตัวจริงเสียงจริง มีคำถามเกิดขึ้นว่า ก็แค่ติดปัญหา “แก้ม.112” ทำไม ไม่ยกเลิกการแก้ไข หรือ ซื้อเวลาไปสมัยหน้า ซึ่งในทางการเมืองมีข้ออ้างสารพัดที่ทำได้อยู่แล้ว ยิ่ง “พิธา” และก้าวไกล กำลังเนื้อหอม พูด หรือ ทำอะไร ผิดบ้างพลาดบ้าง ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว?
ประเด็น อาจต้องย้อนกลับไป ตั้งแต่ “อดีตพรรคอนาคตใหม่” ซึ่งก่อตั้งโดยคนกลุ่มเดียวกับที่เคยรณรงค์ยกเลิก ม.112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ “กลุ่มนิติราษฎร์” และ แกนนำคนสำคัญ หนึ่งในนั้น ก็คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และปัจจุบัน เป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า
อย่าลืม ส.ส.พรรคก้าวไกล เมื่อสมัยที่แล้ว ก็คือ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ย้ายมาอยู่ “ก้าวไกล” เพราะ “อนาคตใหม่” ถูกยุบพรรค รวมทั้งสมัยที่แล้ว พรรคก้าวไกล ก็เคยเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 มาแล้ว เพียงแต่ถูกประธานสภาในสมัยนั้น ให้นำร่างกลับไปแก้ไข แต่ไม่ยอมแก้ไข จึงไม่ได้รับการบรรจุในวาระการพิจารณาของสภาฯเท่านั้น
อีกอย่าง ที่ต้องไม่ลืมก็คือ หลังจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ถูก “กกต.” มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคกู้เงิน กว่า 191 ล้านบาท หรือ คดีเงินกู้ 191 ล้าน ที่เข้าข่ายครอบงำพรรคกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ในเวลาต่อมา
“ธนาธร” ปลุก “แฟลชม็อบ” วันเดียวกับที่คำร้องคดียุบอนาคตใหม่ ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
“นี่คือเวลาที่เราจะต้องส่งเสียงของประชาชนให้ดัง นี่คือเวลาที่เราจะต้องส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้ยิน ถ้าท่านเห็นด้วยกับผมว่าเวลานี้ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้ จะต้องลุกขึ้นทวงคืนความชอบธรรม ทวงคืนความยุติธรรมกลับคืนมา เจอกัน” ธนาธร กล่าว
แล้วก็มีแฟชม็อบครั้งแรก ภายใต้การนำของ “ธนาธร” และแกนนำพรรคอนาคตใหม่
เท่านั้นไม่พอ หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ “แฟลชม็อบ” ก็ขยายไปสู่วงกว้าง โดยเฉพาะเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และจากแฟลชม็อบ ก็กลายเป็นการเคลื่อนไหวลงถนนของกลุ่มเคลื่อนไหว ภายใต้หลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคณะราษฎร 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มทะลุวัง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นแนวร่วมซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นเครือข่ายม็อบ “3 นิ้ว”
ที่สำคัญ หลายครั้งที่แกนนำม็อบถูกจับกุม ส.ส.พรรคก้าวไกลจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ใช้“ตำแหน่งส.ส.” ประกันตัวออกมา จึงถูกมอง มีส่วนสนับสนุนม็อบหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม็อบที่มีพฤติกรรม จาบจ้วง ล่วงละเมิดสถาบันฯ จนต้องคดีม.112
ยิ่งกว่านั้น จากการติดตามข้อมูล ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 พบมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 252 คนใน 271 คดี (ตัวเลขวันที่ 24 พ.ย. 63 - 26 มิ.ย. 66)
ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 129 คดี, คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษ 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 48 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์เป็นต้น จำนวน 68 คดี, คดีแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 147 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี
ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 20 ราย ในจำนวน 23 คดี
ศาลออกหมายจับ อย่างน้อย 99 หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษามธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ
คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว 195 คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
สำหรับแกนนำการชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี ดังนี้
พริษฐ์ ชิวารักษ์ 24 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี, ภาณุพงศ์จาดนอก 9 คดี, เบนจา อะปัญ 7 คดี, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 7 คดี, พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี, ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี, วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี, สมพล (นามสมมติ) 6 คดี
นอกจากนี้ บุคคลสำคัญระดับหัวขบวน อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตรแสงกนกกุล ก็ยังโดนฟ้องข้อหาคดี ม.112 ด้วย
โดยนายธนาธร ประธานคณะก้าวหน้า ถูกฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่เฟซบุ๊กไลฟ์หัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย” เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564
ด้าน นายปิยบุตร เลขาธิการคณะก้าวหน้า ถูก นายเทพมนตรี ลิปพยอม แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2564 ที่ สน.ดุสิตหลังจากพบว่า นายปิยบุตร โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว...
เห็นได้ชัดว่า ความสำคัญที่ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ต้องแก้ไข ม.112 ให้ได้ ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าความต้องการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีคนที่รออานิสงส์จากการแก้ม.112 อยู่ไม่น้อย รวมทั้งหัวขบวนคนสำคัญ อย่าง ธนาธร, ปิยบุตร ด้วย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีแรงกดดันจากฐานการเมืองพรรคก้าวไกล ที่ดูเหมือน การให้สัมภาษณ์ของ “อานนท์ นำภา” แกนนำ “ม็อบราษฎร” เป็นสัญญาณบ่งบอกได้อย่างดี(7 ก.ค.66)
“อานนท์” ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand กรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เนื้อหาเกี่ยวกับพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการจะบอกพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด ว่า แม้เวทีการเมืองเต็มไปด้วยการต่อรอง แต่ควรมีวาระประชาชนด้วย การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ช่วง 3-4 ปีนี้กำลังเดินเข้าสู่ความเป็นจริงโดยผ่านขั้นตอนของทางรัฐสภา แทนการต่อสู้บนถนน เราฝากความฝันไว้อย่างชัดเจนในผลการเลือกตั้ง เหมือนให้คุณไปซื้อมะนาวจะไปซื้อมะพร้าวกลับมาไม่ได้
“อานนท์” กล่าวต่อว่า ถ้าพรรคก้าวไกลถอยแล้วเดินไปข้างหน้าตนไม่มีปัญหา แต่ถ้าถอยหลังอย่างเดียวแบบให้ไปซื้อมะพร้าวแต่ได้มะนาวกลับมา คนข้างนอกก็พร้อมโบกมือลา นี่ไม่ใช่คำขู่ แต่เป็นการเตือนกันฉันมิตร ถอยเพื่อแค่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วไปแก้ปัญหาที่ไม่ใช่เป็นเรื่องโครงสร้างหลักๆ ได้ 14 ล้านเสียงให้ไป จะถือเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีคุณค่ากับฝ่ายประชาธิปไตย รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่เคยได้ร่วมต่อสู้กันมานับสิบปีด้วย
ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 “อานนท์” เห็นว่า ขั้นต่ำสุดคือการได้เข้าไปคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร การจะโหวตผ่านหรือไม่ ถือเป็นอำนาจของรัฐสภา เพราะกว่าจะผ่านไปถึงขั้นแก้กฎหมายยังมีอีกหลายขั้นตอน กระบวนการในการแก้ปัญหาแบบละมุนละม่อมที่สุดตอนนี้ คือต้องไม่ให้ประชาชนไปสุ่มเสี่ยงกับการเสียเลือดเนื้อหรือการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มอีก เราลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมทั้งส่งเพื่อนเราหลายคนที่เคยเป็นฝ่ายราษฎรเดิม เข้าไปในสภาฯ เพื่อพูดเรื่องนี้...
สรุปสุดท้าย คำตอบมีอยู่แล้วว่า “ส.ว.” ต้องการปกป้องสถาบันฯ ไม่ยอมให้แก้ไข ม.112 ยืนยันด้วยเสียง “ส่วนใหญ่” ไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ “ถอย” ไม่ได้อยู่แล้ว?
ด้าน “พิธา” ต้องแก้ ม.112 เพื่อ “อุดมการณ์พรรค” และแนวร่วมพรรค แนวร่วมทางการเมือง ฐานมวลชนพรรค ซึ่งจำนวนหนึ่ง ต้องคดี ม.112 จะ “ถอย” อย่างไร เพื่อให้การโหวตเลือกนายกฯผ่านไปได้ด้วยดี หรือ “ไม่ถอย” ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยอิง“มวลชน” อิงกระแสสนับสนุนจากประชาชน
ถ้าไม่มีฝ่ายถอย โอกาสที่ “พิธา” จะได้เป็น “นายกฯ” แทบมองไม่เห็น รวมทั้งการจะรักษารัฐบาล ฝ่ายประชาธิปไตยเอาไว้ ก็ต้องยอมให้ “ส้มหล่น” ไป “เพื่อไทย” ไม่อย่างนั้นก็อาจพลิกขั้วรัฐบาล โดย “เพื่อไทย” เป็นแกนนำ
หมากเกมนี้ อยู่ที่ “พิธา-ก้าวไกล” จะตัดสินใจเท่านั้นเอง ว่าจะเลือกอย่างไรดี ในท้ายที่สุด?