'เพื่อไทย' เล่นเกมสองหน้า ร่วม 2 ลุง ไม่ทิ้ง 'ก้าวไกล'

'เพื่อไทย' เล่นเกมสองหน้า ร่วม 2 ลุง ไม่ทิ้ง 'ก้าวไกล'

ดูเหมือนเกมจัดตั้งรัฐบาล จะจบลงที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ถ้ามองบนความราบรื่น ที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคพร้อมโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผล ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ “จุดโฟกัส” ของ “เกม” จัดตั้งรัฐบาล จึงอยู่ที่พรรคเพื่อไทย เป็นหลัก และที่สำคัญมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วด้วย 

เริ่มจากดึงพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถือว่า “ปลอดภัย” ที่สุดในบรรดา พรรคการเมืองซีกรัฐบาลปัจจุบัน เพราะมีกระแสโจมตีน้อยที่สุด จากนั้นก็ค่อยทยอยเปิดตัวร่วมกับพรรคเล็ก

 โดยตั้งเป้าที่จะไม่มี “ก้าวไกล-2 ลุง” เป็นอันดับแรก ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า เสียงยังห่างไกล ที่จะผ่านการโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา เพราะต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง(ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน ส.ว.250 คน) ของรัฐสภา

จึงมีการดึงหลายพรรคเข้าร่วมอีกครั้ง รวมทั้งพรรค 2 ลุง ก็มีท่าทีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนมีเสียงสนับสนุนถึง 314 เสียง    

ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง ส่วนพรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง รวมเป็น 238 เสียง 

โดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้จะยังไม่มีการแถลงร่วมอย่างเป็นทางการ แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ นายไผ่ ลิกค์ ก็ชัดเจน พร้อมร่วมรัฐบาล และพร้อมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยทั้งหมด 40 เสียง ทำให้มีเสียงเพิ่มเป็น 278 เสียง

รวมทั้งท่าทีจากแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็มีแนวโน้มสูงที่จะโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอยู่ 36 เสียง นั่นเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงได้แล้ว 314 เสียง 

นั่นเท่ากับ ต้องการเสียงจาก ส.ว. เพียง 60 เสียง เพื่อที่จะผ่านรัฐสภา เกินกึ่งหนึ่ง 374 เสียง(กรณียึดตามส.ส.-ส.ว.เท่าที่มีอยู่ปัจจุบัน) 

เป็นที่สังเกตว่า ตัวเลข 314 เสียง ไม่ได้รวมส.ส.จากพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ด้วย 

ขณะเดียวกัน ที่ถูกจับตามองไม่แพ้กัน ก็คือ กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทย ไป “ขอขมา” พรรคก้าวไกล ในทำนองไม่คิดทอดทิ้งแต่อย่างใด แต่ด้วยความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาลจึงไม่มีทางเลือก เพื่อไม่ให้ถือโทษโกรธเอาเป็นเอาตายประมาณนั้น ทั้งขอเสียงโหวตเลือกนายกฯ จากพรรคก้าวไกลด้วย 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยอ้างว่า อนาคตอาจทำงานการเมืองในรัฐสภาร่วมกัน โดยเฉพาะการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ จึงต้องการมิตรภาพทางการเมือง 

แน่นอน, ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ คะแนนเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งถ้าได้จากพรรคก้าวไกล ก็ไม่ต้องง้อเสียงจากส.ว.แม้แต่เสียงเดียว หรือ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ได้เลย แต่อาจอยู่ที่ “เพื่อไทย” ยังแคร์ความรู้สึกทั้งพรรคก้าวไกล และมวลชนที่สนับสนุนให้ทั้งสองพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่เมื่อตั้งไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น “ศัตรู” กัน เพราะถือเป็นวุฒิภาวะที่ควรแสดงออกต่อกันถ้ายึดประชาชนเป็นที่ตั้ง 

ส่วนพรรคก้าวไกล จะตอบสนองอย่างไร หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย หรือ การทำงานร่วมกันในรัฐสภา แม้ว่าจะอยู่คนละฝ่าย 

ความจริง แกนนำพรรคก้าวไกลหลายคน ยังรู้สึกเสียดายโอกาสที่จะได้ตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ทั้งสองพรรครวมกัน 292 เสียง(ยังไม่นับส.ส.ที่ลาออก)เข้าไปแล้ว แต่ติดปัญหาว่า พรรคก้าวไกล ไม่อาจลดเพดาน หรือ ถอย กรณีแก้ป.อาญา ม.112ได้ ทำให้ไม่มีทางเลือกที่จะผ่านการโหวตเลือกนายกฯของรัฐสภา ไปได้ 

จึงเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย รออีก 10 เดือน เพื่อที่จะให้ส.ว.หมดอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ(ภายใน 5 ปีแรก) แล้วจึงตั้งรัฐบาลเพื่อไทย-ก้าวไกล” รวมถึง 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยมาไกล จนยากที่จะหันหลังกลับแล้ว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด จึงแค่ “ขอขมา” ตามธรรมเนียมเท่านั้น

ด้วยอาการที่ยังไม่ฟื้นจากความห่วงหาอาทร และเสียดายโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลของแกนนำพรรคก้าวไกล และพลพรรค ทำเอา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ต้องออกมากระตุ้นเตือน ให้หยุดฝัน เลิกหวังในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

โดยโพสต์ เฟซบุ๊ก หัวข้อ “สถานการณ์ชัดเจนขนาดนี้ ทำไมพรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศจุดยืนเป็น “ฝ่ายค้าน” อย่างทระนงองอาจ” 

เนื้อหาระบุว่า “พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้ง 14.4 ล้านเสียง มี ส.ส. 151 คน มาเป็นลำดับที่หนึ่ง พรรคก้าวไกลจึงต้องทำหน้าที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามอาณัติที่ประชาชนมอบหมายผ่านการเลือกตั้ง 

คณะแกนนำของพรรคก้าวไกลได้ทำหน้าที่นี้อย่างสุดความสามารถ รวบรวมเสียงได้312 เสียง แต่ด้วยความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้วุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรี กระบวนการนิติสงคราม และการสมคบร่วมมือกันของชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจในระบบทั้งหมด ทำให้ พรรคก้าวไกลกลายเป็น “แกะดำ” ไม่สามารถเป็นแกนนำหรือร่วมรัฐบาลได้ 

พูดง่ายๆก็คือ หากรัฐบาลหน้ามีพรรคก้าวไกล ย่อมไม่มีวันได้ “ใบอนุญาต” จัดตั้งรัฐบาล 

เสียงซุบซิบ ข้อความในการเจรจาในที่ลับ (ที่ไม่เคยเอามาบอกสาธารณชนในที่แจ้ง) สัญญาณและการแสดงออกของทุกพรรคการเมือง และ ส.ว.หลายคน ทั้งหมดนี้ เป็นประจักษ์พยานอย่างชัดแจ้ง 

การแสดงออกของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคอื่นๆ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า“ไม่มีก้าวไกล” 

ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ทั้งฝ่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกล และฝ่ายไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ต่างก็มองออกว่า พรรคก้าวไกลโดน “รุม” จากทุกสารทิศ จนหมดหนทางได้เป็นรัฐบาลแล้ว

ประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลมา หรือไม่ได้เลือกแต่อยากเห็นพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ต่างก็ “เข้าใจ” อย่าง “ไม่เต็มใจ” ถึงสถานการณ์นี้ และยอมรับว่าพรรคก้าวไกลได้ทำหน้าที่ของตนเองถึงที่สุด พร้อมทั้งฉีกหน้ากากของชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจออกมาให้ได้รู้เห็นกันหมดแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมพรรคก้าวไกลจึงไม่แถลงแสดงจุดยืนเสียทีว่า บัดนี้ พรรคก้าวไกลต้องเป็นฝ่ายค้าน และจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างดีที่สุด ใช้เสียง 151 เสียง ใช้เสียง 14.4 ล้าน ผลักดันการทำงานในสภาตามแนวนโยบายที่หาเสียง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน 

ไม่ต้องรับคำร้องขอ

ไม่ต้องรับคำเจรจา

ไม่ต้องหวังว่าจะมีแสงริบหรี่รำไรให้ได้กลับมาร่วมรัฐบาลอีก 

ไม่ต้องเล่นเกม “ชักเย่อ” ชิงไหวชิงพริบกับพรรคอื่นๆ

ตั้งใจเดินหน้าทำงานในสภาอย่างเต็มที่

ไม่ต้องยุ่งกับ “เกมการเมือง” ชิงไหวชิงพริบเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลของใครทั้งนั้น 

ปล่อยให้พวกเขาแย่ง “เศษเนื้อ/ชามข้าว” กันต่อไป 

ขีดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่าง “เก่า-ใหม่” และ “อดีต-อนาคต”

ต่อสู้ตามแนวทางของตนเองต่อไป

นำภารกิจที่ประชาชนมอบหมายเดินหน้าผลักดันตามอำนาจ โอกาส ช่องทางที่พอจะมี 

พร้อมเผชิญหน้ากับภัยจากทุกสารทิศที่จะกระหน่ำเข้ามา 

หนทางนี้ พรรคก้าวไกล อาจไม่เหลือใคร แต่อย่างน้อยที่สุด ยังมีประชาชนผู้ดุจดังผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

พอได้แล้ว กับความคลุมเครือ

พอได้แล้ว กับการปล่อยให้ ส.ส.แสดงออกกันเอง โดยไม่มีมติพรรคหรือการแถลงการณ์ทางการของพรรค

การเล่นบท “เหยื่อ” ผู้ถูกรุมกระทำ กระตุ้นให้ประชาชนเห็นใจและเข้าใจในบางช่วงตอน แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนจะเริ่มเบื่อ รำคาญ และรู้สึกว่าอ่อนแอ ไม่ชัด ไม่สู้ ไม่กล้าหาญ 

กล้าที่จะยอมรับว่าสู้จนสุดทางแล้ว แต่พ่ายแพ้ในเกมนี้

กล้าที่จะยืนกับประชาชน และต่อสู้ต่อไปตามแนวทางของตน

การเมืองแบบมวลชน เริ่มต้นแล้ว และจะเด่นชัดมากขึ้น 

ปล่อย “พวกอดีต” สู้ในเกมแบบเขาไป แล้ววันหนึ่ง พวกเขาจะถูกกวาดหมดจนตกกระดาน

เราคือ “พวกอนาคต” ต้องเคียงข้างหรือนำมวลชนไปในเกมใหม่ 

เป็นผู้นำของพลังแบบใหม่ในสังคมไทย 

วันนี้ ยังแพ้ แต่วันหน้า จะชนะ”

ที่น่าวิเคราะห์อย่างสูง ก็คือ ภายในองคาพยพ “ก้าวไกล” ยังมีความเห็นที่แบ่งเป็นสองฝ่าย หรือไม่ ฝ่ายหนึ่งที่ส่วนใหญ่คือ ส.ส. ยังอยากที่จะเป็นรัฐบาล มากกว่าฝ่ายค้านในการผลักดันนโยบายให้เป็นผลสำเร็จ อีกฝ่ายส่วนใหญ่เป็นผู้กุม “ยุทธศาสตร์” ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ฝ่ายนี้ เห็นว่า โอกาสที่ “ก้าวไกล” จะประสบความสำเร็จในอีก4 ปีข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้น(กรณียุบสภาก่อนครบวาระ) มีความเป็นไปได้สูง และสูงถึงขั้นชนะแบบ “ถล่มทลาย” จนอาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ด้วย เพราะเชื่อว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง “เพื่อไทย” จะเจอกับ “กระแสโจมตี” มากมาย จากการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จึงต้องการให้พรรคก้าวไกล ตื่นจากฝันร้ายโดยเร็ว แล้วลุกขึ้นมาต่อสู้ในแนวทางของตน เพื่อ 4 ปีข้างหน้า 

จากท่าทีที่ยัง “กั๊ก” ของพรรคก้าวไกล ในการประกาศ เป็นฝ่ายค้าน รวมทั้ง ท่าทีที่ยังพร้อมให้อภัยพรรคเพื่อไทย ถ้าจะหวนกลับมาจับมือกับพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมอีกครั้ง นี่เอง  

ทำให้พรรคเพื่อไทย เดินเกม “สองหน้า” ยึดโยง แนวร่วมเอาไว้ทั้งสองฝ่าย คือทั้ง “ก้าวไกล” ที่อาจมี “เงื่อนไข” ในการเจรจาทางลับ หรือ “ดีลลับ” อย่าลืมกรณีมีข่าวว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกงเพื่อเจรจาบางอย่าง จนวันนี้ ก็ยังไม่เปิดเผยว่า เจรจาเรื่องอะไร เกี่ยวหรือไม่กับทาทีของพรรคก้าวไกล ที่ยังไม่ประกาศตัวเป็น ฝ่ายค้านเสียที แถม นายพิธา ลิ้นเจริญรัตน์ ยังออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า อาจได้เป็นรัฐบาล 

อีกฝ่าย คือ “2 ลุง” ที่ชัดเจนแล้วว่า เบื้องต้น พร้อมโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย หลังจากนั้นมีโอกาสสูงที่จะร่วมรัฐบาล เพราะอย่าลืม ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องการ “เสถียรภาพ” จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “2 ลุง” เพื่อให้ได้ 314 เสียงดังกล่าวแล้ว  

เว้นเสียแต่ ยอมถอยให้กับกระแสมวลชนต่อต้าน โดยตั้งรัฐบาลไม่มี “2 ลุง” ซึ่งแม้ไม่มีพรรคก้าวไกลเช่นกัน แต่มีเงื่อนไข “ต่อรอง” ที่ “ก้าวไกล” จะเป็นเสียงสนับสนุนในสภาฯ เพื่อเป็นรัฐบาลระยะสั้น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภา เลือกตั้งใหม่ประเด็นอยู่ที่ว่า พรรคเพื่อไทย จะยอมอย่างนั้นหรือ? 

เพราะอย่าลืม ถ้าเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะต้องสร้างผลงานให้มีกระแสนิยมสูงเท่านั้น จึงจะชนะก้าวไกลได้ หรือ ทำให้ประชาชน ลืมเลือนสิ่งที่พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ถามว่า ระยะสั้นมีประโยชน์อะไร? ขนาด 4 ปี ยังผลักดันนโยบายสร้างผลงานได้ไม่เต็มที่ด้วยซ้ำ นี่คือ สิ่งที่น่าคิด 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การที่พรรคเพื่อไทยสามารถ “สลายขั้ว” รวบรวมเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคได้สำเร็จ และจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมี “เสถียรภาพ” คือ 314 เสียง ขณะเดียวกัน ก็ยังคงยึด “พันธกิจร่วม” กับพรรคก้าวไกลเอาไว้ได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอร่างกฎหมายสำคัญ (ยกเว้นแก้ม.112 ที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอมรับ) ถือเป็นชั้นเชิงทางการเมืองอันสุดยอด น้อยนักที่ใครจะทำได้ ถ้าไม่เก๋าจริงพลันให้นึกถึง “คนแดนไกล” อยู่เหมือนกัน