Digital Wallet บน blockchain สำหรับจ่ายเงินสวัสดิการ ตัวอย่างจากค่ายผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การจัดทำระบบ cash based transfer เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้อพยพจำนวนเกือบล้านคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชนที่จะใช้ยืนยันตัวตนได้ จำนวนคนในแต่ละครัวเรือนก็เปลี่ยนแปลงตามการเกิดและการตาย
บางครอบครัวมีกลุ่ม vulnerable (เช่น เด็กขาดสารอาหาร หรือผู้หญิงตั้งครรภ์) ที่ต้องการอาหารพิเศษ มีสารอาหารสูง บางครอบครัวยังมีผู้หญิงที่ต้องการผ้าอนามัยด้วย และที่สำคัญระบบฐานข้อมูลที่ใช้ต้องมีกลไกควบคุมภายในที่ดี สามารถยืนยันตัวตนและพิสูจน์ตัวตนของคนที่ได้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวจริง ไม่มีคนอื่นมาสวมรอย หรือเวียนเทียนเข้ามารับประโยชน์หลายรอบ
ในค่ายผู้อพยพที่ตั้งอยู่ใกล้ Cox’s Bazar รัฐบาลบังคลาเทศยังออกข้อจำกัดไม่ให้ผู้อพยพใช้เงินสกุลท้องถิ่น ไม่ต้องการให้ผู้อพยพสะสมเงิน ระบบการจ่ายเงินช่วยเหลือจึงต้องทำในรูปของ Digital Wallet ที่ต้องใช้ e-voucher แทนเงิน
นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพยังต้องการติดตามพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละครัวเรือน ว่าใช้ e-voucher ไปซื้ออาหารอะไรบ้าง เพื่อที่จะจัดสต๊อกอาหารได้ตรงกับความต้องการของคนเกือบล้านคน รวมทั้งต้องการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของผู้อพยพด้วย เมื่อราคาอาหารเปลี่ยน หรือเงินช่วยเหลือที่ได้รับต่อหัวต่อเดือนลดลง
WFP จึงได้พัฒนาระบบ blockchain เป็นฐานข้อมูลผู้อพยพที่เชื่อมต่อข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกันในค่ายผู้อพยพ เพื่อให้การจ่าย e-voucher ตรงกับสิทธิ์ประโยชน์ที่พึงได้ และสามารถเก็บข้อมูลการซื้ออาหารเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของแต่ละครอบครัว
ระบบ blockchain นี้ นอกจากจะใช้ในค่ายผู้อพยพที่ Cox’s Bazar แล้ว WFP ยังใช้ที่จอร์แดน เยเมน และยูเครนอีกด้วย ในประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ mobile money หรือสกุลเงินท้องถิ่น ระบบฐานข้อมูล blockchain ก็เชื่อมต่อกับระบบของ mobile money providers ได้เลย
การใช้ blockchain สร้างฐานข้อมูลสำหรับการจ่ายเงินสวัสดิการและติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของประชาชนเป็นเรื่องที่ทำได้จริง และมีประโยชน์ถ้าต้องการให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง
แต่คำถามสำคัญ คือจำเป็นต้องใช้ระบบ blockchain หรือไม่ ในค่ายผู้อพยพอาจเป็นเรื่องจำเป็น เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และพิสูจน์ตัวตนของผู้อพยพ นอกจากนี้ ระบบ blockchain ที่ใช้เป็นระบบปิด ใช้สำหรับการซื้ออาหารตามรายการที่มีให้เลือกเป็นหลัก
ในอีกหลายประเทศที่ WFP ให้ความช่วยเหลือแบบ cash based transfer ก็สามารถทำได้ และสามารถติดตามพฤติกรรมของผู้ได้รับประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องใช้ฐานข้อมูลที่เป็นระบบ blockchain
ดังนั้น จะใช้ blockchain เป็นฐานข้อมูลของ digital wallet เพื่อจ่ายเงินสวัสดิการดีหรือไม่ ต้องคิดถึงวัตถุประสงค์ เหตุผล และข้อจำกัดต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะต้นทุนในการออกแบบและดูแลระบบไม่ถูกเลย
ที่สำคัญที่สุด ก่อนที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม ต้องชัดเจนก่อนว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำโครงการ digital wallet เพื่อจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป
FB: Veerathai Santiprabhob
19 กันยายน 2566