จะนำ “โคก-หนอง-นา” มาโหน? | ไสว บุญมา
ก่อนออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกา นายกฯ เผยว่า จะหาโอกาสนำเสนอแนวคิด “โคก-หนอง-นา” ต่อสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
เนื่องจากเป็นแนวคิดที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย การนำแนวคิดของคนไทยไปเสนอบนเวทีโลกครั้งนี้อาจมองได้ว่าเป็นการสานต่อประเพณีที่นายกคนก่อนเริ่มไว้โดยการเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
คอลัมน์นี้ยืนยันมานานว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถแก้ปัญหาของโลกได้มากโดยเฉพาะในด้านการแก้ข้อบกพร่องของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก แนวคิดโคก-หนอง-นาเป็นเสมือนองค์ประกอบย่อยของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งมีแก่นอยู่ที่การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ในบริบทของการขาดแคลนอาหารที่กำลังคืบคลานเข้าครอบคลุมโลก การนำทั้งสองแนวคิดไปเสนอจึงเป็นทานทางปัญญาจากคนไทยที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี ยังมีความน่ากังขาว่าผู้นำและรัฐบาลไทยมีความเข้าใจและศรัทธาในแนวคิดอันประเสริฐยิ่งทั้งสองแค่ไหน หากเข้าใจและศรัทธาทำไมไม่นำมาเป็นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง การอ้างถึงจึงมีค่าไม่ต่างกับการนำมาโหนเท่านั้น
อนึ่ง รัฐบาลใหม่มิได้อ้างถึงเศรษฐกิจพอเพียงในเอกสารการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรีอ้างถึงแบบผ่าน ๆ ในถ้อยแถลงต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลปัจจุบันจึงแทบไม่ต่างกับรัฐบาลก่อนจากมุมมองของการโหน
รัฐบาลก่อนโหนจนถึงกับนำไปอ้างว่าใช้เป็นฐานของการร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ไม่มีอะไรในยุทธศาสตร์ที่บ่งชี้อย่างแจ้งชัดว่าจะนำเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง หากมองย้อนกลับไป คงไม่เป็นที่แปลกใจเพราะในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยแสดงความเข้าใจ ศรัทธา และนำแนวคิดมาปฏิบัติอย่างจริงจัง
แม้โคก-หนอง-นาจะเป็นแนวคิดที่คนไทยน่าภูมิใจ แต่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าเกษตรกรไทยได้นำไปใช้อย่างกว้างขวาง จริงจังและเป็นระบบในพื้นที่ขนาดใหญ่พร้อมกับมีการศึกษาหาข้อมูลเพื่อใช้เป็นฐานของการพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นวิถีชีวิตอันมั่นคงที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ การศึกษา หรือวิจัยคงต้องใช้ทรัพยากรของรัฐเป็นหลัก
การทำกิจ “โคก-หนอง-นา” ต้องอาศัยการมีธาตุ 4 ครบถ้วน เมืองไทยมีธาตุลมและธาตุไฟพร้อมเพราะมีอากาศเหมาะแก่การปลูกพืชนานาชนิดและมีแสงแดดจัดตลอดปี ธาตุดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชต่าง ๆ ก็มีมากและกระจัดกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ
อย่างไรก็ดี การจะส่งต่อที่ดินทำเกษตรกรรมจากรุ่นสู่รุ่นพร้อมกับมีสวัสดิการให้แก่เกษตรกรในวัยเกษียณอย่างไรในภาวะที่ลูกหลานไม่ต้องการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ นอกจากนี้ยังมีประเด็นใหญ่ได้แก่ การขาดธาตุน้ำ
อันที่จริงเมืองไทยไม่ขาดธาตุน้ำเพราะฝนตกชุกอย่างทั่วถึงปีละหลายเดือน แต่ขาดระบบเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดปี เท่าที่ผ่านมา ภาครัฐใส่ใจอย่างจริงจังกับการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ว่ากันว่าเพราะมันให้ภาพพจน์ที่ดีและมักมีเงินทอนในการก่อสร้าง ต่างกับการเก็บน้ำฝนอันมีล้นเหลือไว้ใช้ในพื้นที่ตลอดหน้าแล้งในระบบขนาดเล็กโดยเฉพาะการเก็บผ่านการทำระบบสระพวงและธนาคารน้ำใต้ดิน
ระบบสระพวงใช้ได้ผลดีมานับพันปีรวมทั้งในพื้นที่กึ่งทะเลทราย เช่น ในอินเดีย (มีข้อมูลอยู่ในหนังสือของ Diane Raines Ward ชื่อ Water Wars ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา)
หากรัฐบาลต้องการนำแนวคิดโคก-หนอง-นาไปสู่การปฏิบัติอาจเริ่มด้วยการจัดส่งคนไปศึกษาในอินเดียแม้จะไม่มีใครสนใจที่จะไปดูงานในท้องถิ่นกันดารของอินเดียก็ตาม หลังจากนั้น ควรนำความรู้พื้นฐานที่ได้มาทดลองใช้ในบ้านเราเพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม
เนื่องจากเรื่องนี้จะต้องมีทั้งความต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อสรุปผลการวิจัยและมีลักษณะสวนกระแสของยุคปัจจุบัน อันมีการผลักดันการขยายการผลิตและการบริโภคแบบสุดโต่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อน
อาจอนุมาณได้ว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นนายทุนรวมทั้งในด้านธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่จะไม่นำมาเป็นนโยบาย หากจะนำมาใช้ห้อยโหนเท่านั้น