ปรากฏการณ์ 'หมออ๋อง' ใกล้หมดเวลา 'ฮันนีมูน' สีส้ม
ปรากฏการณ์ “หมออ๋อง” ยังไม่จบ “ก้าวไกล” อ้างกติกาผิดเพี้ยน เลือกเล่นพลิกแพลง กระแสตีกลับ ตั้งรับสถานเดียว
สโลแกนแยกกันเดิน เปลี่ยนประเทศ ก้าวไกลได้ผู้นำฝ่ายค้าน หมออ๋อง รักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ อาจถูกใจด้อมส้ม แต่ทั้งสังคมเริ่มกังขาความไม่ตรงไปตรงมา
ปฏิกิริยากรณีพรรคก้าวไกล ขับ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก เขต 1 พ้นจากสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) และข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 64(5) เพราะหมออ๋องไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ
ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก มีเวลา 30 วัน ในการหาต้นสังกัดใหม่เพื่อรักษาสมาชิกภาพ สส.ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า จะเลือกพรรคไทยสร้างไทย หรือพรรคเป็นธรรม
หมออ๋อง พยายามชี้แจงว่า ไม่ใช่แผนสมคบคิดกับพรรคก้าวไกล แต่ตัวเขาต้องการขับเคลื่อนงานในฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต่อไป
ล่าสุด แก้วสรร อติโพธิ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ก้าวถอยหลัง...ของก้าวไกล” โดยอธิบายว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
“การมีมติพรรคให้ สส.ออกจากพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่อง สส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรค จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ข้อบังคับพรรคก้าวไกลก็เขียนข้อนี้ไว้ชัดมาก จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้ พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นไม่ได้”
แก้วสรร จึงเสนอให้ สส.ในสภาจำนวน 50 คน ยื่นเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยว่า สส.อ๋อง ขาดสมาชิกภาพหรือไม่ เพราะพฤติ การณ์จริงที่ทำไปคือการออกจากพรรคด้วยการลาออก ไม่ใช่ด้วยมติขับออกจากพรรคตามข้อบังคับ
อีกทางหนึ่ง เลขาฯ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้มติเห็นชอบของ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองเช่นกันว่า สส.อ๋องได้ลาออกจนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือไม่
เส้นทางหมออ๋อง
ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นคนพิษณุโลกโดยกำเนิด เรียนจบสัตวแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนจึงเรียก หมออ๋อง ทั้งเมืองสองแคว
ปี 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ชักชวนให้หมออ๋อง เข้าเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และได้เริ่มทำกิจกรรมในนามพรรค พร้อมอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ จนได้รับเลือกเป็นผู้สมัคร สส.พิษณุโลก เขต 1
ผลการเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก ปี 2562 เฉพาะเขต 1 เกิดรายการล้มช้าง เมื่อหมออ๋อง ปดิพัทธ์ ได้ 35,579 คะแนน เอาชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก ได้ 18,613 คะแนน
จะว่าไปแล้ว เขต 1 อ.เมืองพิษณุโลก เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ มายาวนาน ตั้งแต่ปี 2544 สมัยปลัดพิทักษ์ หรือ พิทักษ์ สันติวงศ์เดชา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น นพ.วรงค์ อีก 3 สมัยคือ ปี 2548,2550 และ 2554
เมื่อหมออ๋อง ได้เป็น สส.พิษณุโลก เขต 1 สมัยที่ 2 ยิ่งตอกย้ำว่า คนตัวเมืองสองแคว ได้เปลี่ยนจากสีฟ้าหรือ ปชป. มาเป็นสีส้ม-ก้าวไกลเรียบร้อยแล้ว
ผลเลือกตั้งครั้งหลังสุด หมออ๋อง กวาดไปได้ 40,842 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งจากเพื่อไทย ณัฐทรัชต์ ชามพูนท ได้ 18,180 คะแนน
สมมติว่า หมออ๋อง ย้ายไปอยู่พรรคเป็นธรรม เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า จะกล้าสวมเสื้อเป็นธรรม ลงสนามหรือไม่ และพรรคก้าวไกลก็ต้องส่งผู้สมัคร สส.หน้าใหม่ลงสนาม
หมออ๋องไม่ตอบคำถามนี้แก่นักข่าว ขอให้เป็นเรื่องในอนาคต จะตัดสิน ใจกลับมาอยู่พรรคก้าวไกลอีกหรือไม่
ขับงูเห่าสีส้ม
ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล ได้มีกรณีขับ สส.พ้นการเป็นสมาชิกพรรคมาแล้ว อย่างน้อย 2 กรณี
สมัยพรรคอนาคตใหม่ ที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค และสส.ได้ขับ สส. 4 คน พรรค โดยมีเหตุผลเรื่องความขัดแย้งทางอุดม การณ์การเมือง และผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง
สำหรับกรณีหมออ๋อง มีเพียงเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนใหม่ ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภา หมออ๋องจึงต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ
เมื่อหมออ๋องเลือกกอดเก้าอี้รองประมุข สส. พรรคก้าวไกล จึงต้องขับพ้นพรรค เป็นเรื่องเทคนิกทางกฎหมาย
เปิดดูข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 64 (5) ระบุว่า สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคสิ้นสุดลงเมื่อ “พรรคการเมืองมีมติให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่น”
ข้อบังคับนี้ ก็ไม่ต่างจากสมัยพรรคอนาคตใหม่ ที่มีมติขับ 4 สส.ให้พ้นพรรคคือ ศรีนวล บุญลือ สส.เชียงใหม่, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศาสส.จันทบุรี ,กวินนาถ ตาคีย์ สส.ชลบุรี และ จารึก ศรีอ่อน สส.จันทบุรี
สส.อนาคตใหม่ ทั้ง 4 คน ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค หรือโหวตสวนมติพรรค กรณี พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
งูเห่าฝากเลี้ยง
ผ่านจากยุคพรรคอนาคตใหม่ มาถึงพรรคก้าวไกล ได้ สส. 5 คน ประกอบด้วย คารม พลพรกลาง สส.บัญชีรายชื่อ,พีรเดช คำสมุทร สส.เชียงราย, เอกภพ เพียรพิเศษ สส.เชียงราย ,ขวัญเลิศ พานิชมาท สส.ชลบุรี และ เกษมสันต์ มีทิพย์ สส.บัญชีรายชื่อ แสดงพฤติกรรมสวนทางกับจุดยืนของก้าวไกล และสนับสนุนรัฐบาล ในการลงมตินัดสำคัญๆ
เวลานั้น พรรคก้าวไกล กลับไม่มีปฏิกิริยาที่จะขับพ้นสมาชิกภาพ เหมือนกรณี สส.งูเห่า ชุดแรกในสีเสื้ออนาคตใหม่
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ประกาศว่า จะใช้วิธีการแบน 4 สส. โดยไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง, ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมพรรค และตัดสิทธิในสภาที่พึงมีในนามพรรค
แต่พรรคก้าวไกล จะไม่ใช้มติพรรคขับคนเหล่านี้ออกจากพรรค เพราะไม่ต้องการเติมเสียงให้รัฐบาลประยุทธ์ จึงเป็นที่มาของคำว่า งูเห่าฝากเลี้ยง
ในทางพฤตินัย เป็นที่รับรู้กันทั้งสภาฯ 5 สส.ค่ายส้ม ได้ทำกิจกรรมร่วม กับพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่อย่างเปิดเผย ซึ่งขัดกับข้อบังคับพรรคสีส้มชัดเจน แต่ก็ไม่ถูกขับออกจากพรรค
หมดเวลาฮันนีมูน
ตัดกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน เกมขับหมออ๋องพ้นพรรค ด้วยข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญผิดเพี้ยน เปิดช่องให้หมออ๋องออกไปหาพรรคใหม่ เพื่อรักษาเก้าอี้รองประมุข สส.
การเล่นเกมขับหมออ๋อง ก้าวไกลมีต้นทุนที่ต้องจ่าย จึงไม่แปลกที่จะมีปฏิกิริยาผ่านโซเชียลทำนองก้าวไกลการละคร , นิติกรรมอำพราง,เสพติดอำนาจ ฯลฯ
ประกอบกับมีข่าวของหมออ๋อง ในมุมลบออกมาค่อนข้างถี่ ไม่ว่าจะเป็นการโชว์ดื่มเบียร์เพื่อสนับสนุนนโยบายสุราชุมชน ,เลี้ยงหมูกระ ทะแม่บ้านรัฐสภา, เบิกงบดูงานสิงคโปร์ ฯลฯ
ดังนั้น กรณีหมออ๋อง กำลังเป็นโจทย์ยากของพรรคก้าวไกล เหมือนที่ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะคนนอกพรรค ได้วิจารณ์พรรคก้าวไกลว่า ช่วงฮันนีมูน ระหว่างพรรคส้มกับกองหนุน ไม่ว่าจะเป็นด้อมส้ม และแนวร่วม กำลังจะหายไป
ปิยบุตรบอกว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับการยอมรับและเอาเอาใจช่วยจากหลากหลายวงการ เมื่อก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล ผู้คนก็ยิ่งแค้นเคืองกลุ่มอำนาจเก่า และสงสารก้าวไกลมากขึ้น
นี่คือช่วงฮันนีมูน แต่หลังจากรัฐบาลเศรษฐา ได้เริ่มทำงาน และก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว บรรยากาศน้ำผึ้งพระจันทร์จะค่อยๆจืดจางลงไปทีละนิด
“จากเดิม เรื่องหนึ่ง มีคนให้อภัย มีคนพร้อมเข้าใจ มีคนช่วยแก้ต่าง ต่อไป เรื่องเดียวกัน คนจะเริ่มถาม อีหยังวะ คนจะสงสัย อะไรกันนักกันหนา อีกแระ ไม่ระวังกันเลย” ปิยบุตรเตือนสติคนพรรคส้ม
ดังเช่นกรณีหมออ๋อง จึงมีคนตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมก้าวไกลเลือกเดินเกมพลิ้วแบบนักการเมืองเก่า มีพฤติการณ์ไม่ต่างจากพรรคอื่น เล่นเกมเพื่อรักษาอำนาจ ไม่เหมือนภาพที่สร้างไว้คือ เล่นการเมืองตรงไปตรงมา