นิรโทษ VS ขัดแย้งการเมือง เป้าหมายอยู่ที่ท้าทายคดี 112

นิรโทษ VS ขัดแย้งการเมือง เป้าหมายอยู่ที่ท้าทายคดี 112

การตั้งวัตถุประสงค์ในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ว่า “เพื่อยุติความขัดแย้ง” ที่มีอย่างน้อยสองร่าง คือ ร่างฉบับ “ก้าวไกล” และร่างฉบับ “เพื่อไทย” ที่เตรียมเสนอประกบ คนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน จะพูดเป็นเสียงเดียวกันทันทีว่า “ยาก”

เพราะต้องไม่ลืมว่า ความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งของคนในสังคม คือ เรื่องเดียวกัน ที่ผ่านมาถูกผูกปมเงื่อนเอาไว้แน่นจนแยกไม่ออก หรือ อาจพูดได้ว่า เป็นเงื่อนตายไปแล้วด้วย

ดังนั้น ทางเดียว ที่จะทำให้ยุติความขัดแย้งของคนในสังคมไทยได้ อาจไม่ใช่แค่การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ถือว่า จบ. เลิกรากันไป แล้วก็แล้วต่อกัน แต่อยู่ที่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์การเมืองหลังจากนั้น ว่าจะสร้างเงื่อนไขขัดแย้งขึ้นมาใหม่หรือไม่ และสร้างสรรค์แค่ไหนด้วย

นอกจากนี้ แม้แต่ “สาระสำคัญ” ในการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ยังยากหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า จะสามารถครอบคลุม คดีที่เป็นการทำผิดตาม ป.อาญา ม.112(ว่าด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันฯ) ด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งจากความคิดเห็นต่างทางการเมืองธรรมดา อย่างที่บางฝ่ายกล่าวอ้าง หากแต่อีกฝ่ายมองลึกลงไปถึงวาระที่ซ่อนอยู่ด้วย ว่า มีมิติของการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของบางพรรคหรือไม่  และจะยอมไม่ได้เป็นอันขาด 

และด้วยเหตุนี้ นั่นเอง ทำให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “ก้าวไกล” ซึ่งโดยรวมถือว่า มีความตั้งใจดีที่จะ “นิรโทษกรรม” ให้กับทุกฝ่าย แต่ติดปัญหาที่การ “ตีความ” อาจรวมถึงคดี ป.อาญา ม.112 ด้วย ยิ่งกว่านั้น ม.112 ยังไม่มีระบุอยู่ใน ความผิดที่ไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.นิรโทษอีกต่างหาก นั่นแสดงว่า อาจมีการ “หมกเม็ด” ให้รวมอยู่ในความผิดที่ต้องการนิรโทษ โดยให้ไปอยู่ในรายละเอียดของการพิจารณาใน “คณะกรรมการฯ” ซึ่งมีตัวแทนพรรคก้าวไกลอยู่ในนั้นด้วย รวมทั้งเชื่อว่าจะมีเหตุผลโน้มน้าวให้เห็นถึงความเกี่ยวโยง เป็น “คดีการเมือง” ได้  

โดยสารสำคัญของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “ก้าวไกล” ระบุว่า หาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯใช้จริง ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นหรือเข้าร่วมชุมนุมที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และถูกดำเนินคดี มีความผิดตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 หรือวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนถึงวันที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลบังคับใช้ จะได้รับการพ้นผิด และไม่รับผิด เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนความผิดที่เข้าข่ายจะได้รับการนิรโทษกรรม นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมเป็นรายมาตรา เนื่องจากอาจจะมีปัญหาถ้าไประบุฐานความผิดเฉพาะรายมาตรา เช่น คดี พ.ร.บ.ความสะอาด หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากฐานความผิดนี้นิรโทษกรรมทั้งหมดอาจจะมีปัญหา เพราะว่าบางคดีเกี่ยวข้องกับการเมือง บางคดีไม่เกี่ยวข้อง จึงจะใช้การตัดสินชี้ขาดโดย “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม”

นอกจากนี้ ระหว่างวินิจฉัยข้อสงสัยโดยคณะกรรมการฯ ว่าคดีหรือการกระทำความผิดเข้าข่ายการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น จะไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหา ถ้าคดีอยู่ในระหว่างขั้นตอนของศาลจะต้องระงับกระบวนการพิจารณา และปล่อยตัวจำเลย กรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และอยู่ในระหว่างพิจารณานิรโทษกรรม ให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งปล่อยผู้ถูกคุมขัง จนกว่าจะมีคำชี้ขาดจากคณะกรรมการฯ

สำหรับ สัดส่วนคณะกรรมการฯ พรรคก้าวไกล เสนอให้มี 9 คน โดยประธานรัฐสภา เป็นผู้แต่งตั้งภายใน 60 วันหลัง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ บังคับใช้ ดังนี้

ประธานกรรมการ : ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน รองประธานคณะกรรมการ : ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน บุคคลผู้ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี 1 คน บุคคลที่สมาชิกสภาฯ เลือก 2 คน แบ่งเป็นพรรคการเมืองที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน 1 คน และพรรคการเมืองที่มีสมาชิก ส.ส.มากที่สุดที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เลขาธิการสภาฯ 1 คน ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 1 คน อดีตตุลาการ/ตุลาการในศาลปกครอง 1 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พนักงานอัยการ/อดีตพนักงานอัยการ ซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการอัยการ 1 คน

ความผิดไม่เข้าข่ายพิจารณา คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ

ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นจะกระทำโดยประมาท

การทำผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 113 ทั้งนี้ มาตรา 113 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ

แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ชัดเจนว่า ไม่รวม ความผิด ตามป.อาญา ม.112 และเป็นมติของคณะกรรมการฯที่จะต้องพิจารณาตามเหตุการณ์ว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่?

อย่าลืมว่า “เยาวชนคนรุ่นใหม่” เครือข่าย “3 นิ้ว” ที่ถูกจับกุมจำนวนมาก และหลายคนเข้าข่ายทำผิดตาม ม.112 ช่วงปี 2563-2564 ถือเป็น “หัวหอก” สำคัญในการสร้างกระแสความนิยม และเป็นฐานการเมืองของพรรคก้าวไกลนั่นเอง

ไม่เว้นแม้แต่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อพรรคก้าวไกลอย่างมาก  

ส่วนร่าง ฉบับ “เพื่อไทย” แม้ว่า ตัวร่างจะยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน และยังอยู่ระหว่างการพูดคุยภายในพรรคนั้น 

“อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องหาจุดที่หยุดความขัดแย้งของทุกคนอย่างแท้จริง และเรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกันต่อในรายละเอียด โดยพรรคเพื่อไทยสนับสนุนมาตลอด เราไม่ทิ้งไปไหน แต่ขอจุดยืนที่ทำให้เราทุกคนเข้าใจกันจริงๆ

รวมทั้งยืนยันว่า จะไม่ทำเพื่อ “ทักษิณ” อย่างแน่นนอน

ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยเคยมีปัญหาการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย นั้น “อุ๊งอิ๊ง” เห็นว่า เราทำเนื้อหาไว้ดีมากๆ ฉะนั้นเราจะนำมาแก้ไขแน่นอน โดยในเรื่องของเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็ต้องมาคุยในรายละเอียดอีก

ด้าน นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเดียวกันว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประกบกับพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทยได้พูดคุยกันว่า ควรพูดคุยที่ประชุมวงเล็กก่อนมีการเสนอกฎหมาย โดยเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาเพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าวให้ตกผลึกก่อน

เมื่อถามถึงจุดยืนว่าจะรวมถึงผู้กระทำผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีผลกระทบกับบุคคลหลายกลุ่ม และเราผ่านผู้ชุมนุมมาแล้วหลายคณะ ซึ่งมีทั้งผู้สูญเสีย ผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ส่วนในเรื่อง ม.112 นั้น อาจจะมีหลายคนที่ไม่ได้กระทำความผิดโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ จึงอยากให้มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน

ที่น่าสนใจ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทย ว่า เรื่องนิรโทษกรรมเกือบจะตกผลึกกับทุกฝ่าย ทุกส่วนอยู่แล้ว ในแง่ที่อยากเห็นการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด และสามารถร่วมไม้ร่วมมือกันได้ ให้ปัญหาของสังคมจบ แต่ในกรณีที่มีข้อขัดแย้ง เรื่องนี้คงต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะถ้ายังอยู่ในเงื่อนไข และหากกฎหมายออกมาโดยที่ยังไม่เคลียร์สังคมให้จบ ก็อาจจะเป็นความขัดแย้งใหม่

“จุดยืนเรา เราเห็นด้วย และสนับสนุนกับส่วนที่เป็นการตกผลึกแล้วทั้งสังคม แต่ในประเด็นที่มีปัญหา เราอยากให้เอากันให้จบก่อน ไม่เช่นนั้น หากเสนอเข้าไป ก็ทำได้แค่เสนอ แต่ไม่ผ่าน กลายเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมขัดแย้งขึ้นไปอีก อย่างนี้เราคงไม่สนับสนุน” ภูมิธรรม ย้ำ

ในฝั่งของพรรคก้าวไกล ความเคลื่อนไหว นอกจาก “ชัยธวัช” ตระเวนหาแนวร่วมสนับสนุนร่างฉบับพรรคก้าวไกลจากฝ่ายตรงข้ามหลายกลุ่มแล้ว

กรณี “ช่อ” น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พูดถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับก้าวไกล ก็น่าสนใจ

เริ่มจากประเด็น หากยังยืนยันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯครอบคลุมความผิดตาม ป.อาญาม.112 อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล ว่า

ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ถือว่าเป็นไปในเชิงบวก ตั้งแต่วันที่พรรคก้าวไกลเสนอเป็นนโยบายหาเสียง ซึ่งตนในฐานะที่เป็นผู้ช่วยหาเสียง ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่า มีความเห็นที่แตกต่าง

แต่ถามว่า ทำไมตั้งแต่ตอนที่หาเสียงต้องชัดเจนว่า จำเป็นต้องบอกว่ารวมมาตรา 112 ด้วย เนื่องจากจุดประสงค์ในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ เป็นเพราะความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยซึ่งกำลังดำเนินอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากความแตกต่างทางด้านความคิด หนึ่งในนั้นถูกแสดงออกผ่านการฟ้องร้องกรณีที่มีการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง และเดินหน้าต่อไปร่วมกัน บนความคิดเห็นที่แตกต่าง การละมาตรา 112 ออกไปก็จะทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอร่างนิรโทษกรรมมาประกบกับพรรคก้าวไกล เงื่อนไขมาตรา 112 จะถูกกดไว้หรือไม่ น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ดูจากหลายๆ พรรคตอนนี้ ก็มีความคิดเห็นในทางบวก ในแง่ที่ไม่ได้คัดค้าน แต่ไม่ได้ต้องการให้รวมมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เห็นแตกต่างกันในสภาฯ ถกเถียงกันได้ ตนคิดว่าคงเป็นไปตามกระบวนการที่พรรคต่างๆ จะเสนอร่างประกบ ซึ่งเมื่อมีร่างประกบก็หมายความว่า ไม่ได้มีแค่จุดที่เห็นต่าง แต่มีจุดที่เห็นตรงกันด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่ส่งร่างเข้ามาประกบ เป็นกลไกที่ต้องต่อสู้กันในสภาฯ

“ถ้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถได้เสียงพอ ไม่สามารถใช้เหตุผลมาแสดงออกจนได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในกระบวนการนี้ แต่อย่างน้อยข้อเสนอของพรรคก้าวไกลก็เป็นสิ่งที่ดิฉันเห็นด้วย และประชาชนส่วนมากในสังคมเห็นด้วย อย่างน้อยที่สุดให้มีโอกาสได้ถกเถียง และเข้าสู่กระบวนการตามปกติของสภาฯ”

ถามว่า ถ้ามาตรา 112 ยังเป็นเงื่อนไขที่พรรคการเมืองอื่นไม่สามารถรับได้ จะไปถึงกระบวนการถกเถียงในสภาฯได้หรือไม่ “พรรณิการ์” เห็นว่า เรื่องนี้ยังไม่ถูกพิจารณาในสภาฯเลย ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเสนอร่างประกบ ถ้าสุดท้ายแล้ว จะแพ้ หรือจะชนะ ก็ให้เป็นการทำงานจากนี้ไปจนถึงวันที่มีการโหวตร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “ก้าวไกล” ตนเชื่อว่าจะสามารถเชิญชวน หรือใช้เหตุผล ทำให้พรรคอื่นๆ เข้าใจเรื่องนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 แต่การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 คือคนละเรื่องกัน การทำให้พรรคต่างๆ เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ว่ายากแล้ว แต่การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เพื่อให้สังคมกลับมาพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ และสามารถไปต่อร่วมกันได้ จะเป็นเรื่องที่เราสามารถทำด้วยกันได้หรือไม่

แน่นอน, ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคม และการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง จะช่วยยุติ หรือ หยุด ความขัดแย้งแตกแยกได้จริงหรือ?

สิ่งที่น่าพิจารณา ประการแรก ความขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคม เกิดจากพรรคการเมือง และนักการเมือง ใช้เป็นเงื่อนไขต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตัวเองใช่หรือไม่?

แม้ไม่อาจเหมารวมได้ทั้งหมด แต่ปรากฏการณ์ “คนเสื้อแดง” นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง เปิดเผยเอาไว้หลายช่วงหลายตอนว่า คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นใคร เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคการเมืองใหญ่บางพรรค นี่คือ ใบเสร็จ ที่หลายคนถามหา

ปรากฏการณ์ ม็อบเยาวชนคนรุนใหม่ ภายใต้เครือข่าย “3 นิ้ว” ที่เกิดขึ้นและสานต่อจาก แฟลชม็อบ ซึ่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปลุกขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่นายธนาธร ให้พรรคกู้ จนกลายเป็น “แฟลชม็อบ” ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีการเข้าไปจัดตั้ง และขยายวงเป็น ม็อบลงสู่ท้องถนน หลากหลายชื่อ ในช่วงปี 2563-2564

ที่สำคัญ การร่วมชุมนุมกับม็อบในช่วงดังกล่าว ยังมีการทำผิด ป.อาญา ม.112 หลายคดี จนตกเป็นผู้ต้องหา และนักโทษอยู่ในปัจจุบัน

นี่คือ ตัวอย่าง ที่เห็นชัดที่สุดว่า นักการเมือง และพรรคการเมือง มีส่วนในความขัดแย้งของคนในสังคม จะมากหรือน้อยอย่างไร อาจยากพิสูจน์ แต่ถือว่า มี “จิ๊กซอว์” เชื่อมโยงอยู่พอสมควร

เมื่อนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทย นักการเมือง และพรรคการเมือง ต่างหาก ที่จะหยุดความขัดแย้งได้ด้วยตัวเอง หาใช่พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ 

ประการต่อมา การต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจ โดยเฉพาะ การเคลื่อนไหว “ปฏิรูปสถาบันฯ” และการแก้ไข ป.อาญา ม.112 จะหยุดหรือไม่ ถ้าออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมารวมคดีม.112 สำเร็จ

นี่คือ ประเด็นที่แหลมคมที่สุด ถ้ายังมีการเคลื่อนไหวต่อไป คำถามคือ ใครจะกล้าการันตีได้ว่า จะไม่มีความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยได้ “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” กล้าเอาหัวเป็นประกันหรือไม่?

สุดท้าย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจเป็นเพียงการตอบสนอง “เกมการเมือง” ทำได้แค่ไหน ก็ถือว่าทำตามสัญญาที่หาเสียงเอาไว้แล้ว หรือไม่

โดยอาศัยข้ออ้าง “ยุติความขัดแย้ง” และเอาสังคมไทย มาเป็น “ตัวประกัน” ว่าถ้าไม่ทำจะยิ่งทวีความรุนแรง จนยากต่อการแก้ปัญหา ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล

เหนืออื่นใด การนิรโทษกรรม ความผิดคดีม.112 นอกจากท้าทายต่อความสำเร็จแล้ว ยังเป็นก้าวแรกที่มีการนำไปสู่การ “ถกเถียง” ในสภาฯ ซึ่ง “แพ้-ชนะ” เป็นอีกเรื่อง อย่างที่ “ช่อ” พรรณิการ์ กล่าว

แค่นี้ ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงในการ “ต่อสู้” ของบางพรรคแล้ว นั่นเอง